รัฐไทยต้องรับผิดชอบต่อการตายของอากง เหยื่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดยพัชณีย์ คำหนัก
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
ก่อนอื่น ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของนายอำพล (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) หรือ “อากง” ที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อากงผู้ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยว กับคอมพิวเตอร์ ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ข้อหาส่งข้อความทางโทรศัพท์ไปยังเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สี่ข้อความที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์
การตัดสินจำคุกกรณีนี้สร้างความสะเทือนใจต่อผู้รักความเป็นธรรม เนื่องจากอากงอายุ 61 ปีแล้ว ต้องจำคุกจนถึงอายุ 81 ปี ทั้งอากงไม่ใช่คนเสื้อแดง เป็นคนสามัญธรรมดา ดูแลภรรยา ลูก 3 คน หลาน 4 คน มีฐานะยากจน สุขภาพทรุดโทรมลง เคยป่วยเป็นมะเร็งช่องปาก อีกทั้งการตัดสินพิพากษาของระบบศาลไทยก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาอย่างมาก เพราะด้วยความไร้มาตรฐานไร้มนุษยธรรม คือ
1. ด้วยความอ่อนแอของจำเลย (อากง) ที่อายุมาก ขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีและโอกาสในการเตรียมสู้คดี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว ศาลเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่ง SMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์นั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง1] อีกทั้งการอ้างของจำเลยไม่น่าเชื่อถือเพราะจำผิดบ้าง จำไม่ได้บ้าง
2. ใช้พยานแวดล้อมของโจทก์ เพราะจำเลยไม่รู้จักนายสมเกียรติ ไม่รู้หมายเลขโทรศัพท์ แต่ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่ง ข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนาย สมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของ ตน มิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน
3. ใช้ข้อมูลจากเสาสัญญาณ หลักฐานเพียงโทรศัพท์มือถือ ที่อีมี่หรือรหัสประจำเครื่องสามารถปลอมแปลงกันได้ มัดตัวจำเลย แต่จำเลยไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญมายืนยันข้อเท็จจริงนี้ ซึ่งหมายความว่าการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตกเป็นภาระของจำเลย ในขณะที่ไม่มีโอกาสต่อสู้
4. ปฏิเสธสิทธิการประกันตัว ทนายความของอากงได้ยื่นขอประกันตัว 8 ครั้ง วางหลักทรัพย์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการยื่นขอประกันตัว 2 ครั้งหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยยื่นขอประกันต่อศาลอุทธรณ์ วางหลักทรัพย์ 1.4 ล้านบาท มีอาจารย์ 7 คน ใช้ตำแหน่งค้ำประกัน และยื่นครั้งสุดท้ายต่อศาลฎีกา มีอาจารย์กลุ่มเดิม พร้อมเงิน 1 ล้านบาทเป็นหลักประกัน แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว [2] เพราะเห็นเป็นคดีโทษร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะสร้างความเสียหายให้แก่สถาบันอีก จึงต้องกักขังและลงโทษให้หลาบจำ [3]
5. วางโทษสาหัสกว่าโทษฆาตรกรรม ในขณะที่ระบบการพิจารณาคดีของไทยใช้ระบบกล่าวหา ไม่ให้สิทธิประกันตัว ใช้พยานแวดล้อม ไม่ให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดี จำเลยถูกสังคมตีตราว่าผิดก่อนที่คดีจะถูกตัดสินจนถึงที่สุด และหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพใดๆ เพราะไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
แม้ล่าสุด โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย สหภาพแรงาน นักพัฒนาเอกชน องค์กรสังคมนิยมจำนวนหนึ่งทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2555 ร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขและนักโทษการเมืองทุกคน ไม่ว่าจะด้วยการออกจดหมายเปิดผนึก แถลงการณ์ ยื่นหนังสือหน้าสถานทูตไทย รณรงค์ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ท แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และปัจจุบันนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับเพิกเฉยต่อปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าว กระทั่งเกิดกรณีอากงเสียชีวิตในเรือนจำ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ยังคงยืนยันคำเดิมว่าจะไม่แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งไม่เอ่ยถึงการประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย
การเสียชีวิตของอากงในขณะติดคุกจึงเป็นผลพวงของการที่เจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติต่อเขาอย่างไร้มนุษยธรรม ไร้หลักมนุษยชนมาโดยตลอด อันเป็นการบั่นทอนร่างกายและจิตใจของอากง ส่งผลสะเทือนต่อนักโทษคนอื่นๆ และต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งเป็นผลพวงของการที่รัฐเมินเฉยข้อเรียกร้อง “ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน” ของกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องมาตั้งแต่หลังปราบปรามผู้ ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินและราชประสงค์ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่ต้องการย้ำ ณ ที่นี้ คือ ปัญหาความไม่ยุติธรรมมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่บีบคั้นให้คนไม่ผิดกลายเป็น คนผิด และรัฐไทยจึงควรต้องรับผิดชอบต่อเหยื่อทั้งหลาย
คุกมีไว้ขังคนจน พูดกันมานานเป็นสิบๆ ปี แต่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะอะไร?
คุกไทยเลวร้ายยิ่งกว่าโรงงานนรก เพราะ ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดของสังคมอยู่ในสภาพที่เลวยิ่งกว่าความผิดของตัว เอง ผู้เขียนต้องการเป็นปากเสียงให้แก่เหยื่อของเผด็จการที่นำกฎหมายหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพมาใช้เป็นเครื่องมือปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนที่คัดค้านการทำรัฐประหาร ดังเห็นได้จากจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นมากมายเป็นร้อยๆ คดี พร้อมกับโทษที่หนัก ตัวอย่างกรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจำคุกมาแล้วร่วม 3 ปีก่อนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี แต่คดียังไม่สิ้นสุด กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักรณรงค์สิทธิแรงงาน ไม่ได้รับการประกันตัวใดๆ และคดียังไม่ถูกตัดสิน หรือกรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนอื่นๆ คนเหล่านี้คือคนที่คิดต่างแต่มีชีวิตอยู่เยี่ยงอาชญากรฆ่าคน สภาพเช่นนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย คือ
1. วาทกรรมของผู้มีอำนาจรัฐมักพูดว่า "ถ้าไม่อยากติดคุก ก็อย่าทำผิดสิ" เป็นทัศนะที่ผิดเพราะคนที่พูดแบบนี้จะไม่มีวัน "ปฏิรูป" "แก้ไข" กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและระบบสังคม คนแบบนี้จะเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมาย แต่จะไม่ยอมให้ประชาชนเข้าไปแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับเป็นการสร้างรัฐแบบอำนาจนิยม ฟาสซิสต์ นาซี คอมมิวนิสต์เช่นจีน (ที่ปัจจุบันผู้นำไทยนิยมเดินทางไปกันมาก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนประณามหยามเหยียด)
2. คนไม่ผิดแต่ถูกทำให้ผิด กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเพียงผู้ต้องหา แต่ถูกล่ามโซ่ก่อนตัดสินคดี ต้องแต่งชุดนักโทษ อันเป็นการละเมิดมาตรฐานยุติธรรมพื้นฐาน เพราะเขาควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนการตัดสินคดี การที่ผู้ต้องหาต้องเข้าไปในห้องศาลในสภาพเช่นนั้น แทนที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของตนเองและปราศจากโซ่ เป็นการสร้างภาพในห้องศาลว่าคนนี้เป็น “ผู้ร้าย” ซึ่งมักมีผลต่อการตัดสินคดีในอนาคต และสมยศอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนักโทษคดีหมิ่นฯ คนอื่นๆ
จากนั้นเมื่อถูกพิพากษาว่าทำผิดก็เข้าไปอยู่ในคุก พบกับสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าความผิดของตัวเอง ดังกรณีดา ตอปิโด และนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่ถูกขังฟรีด้วยข้อหาก่อการร้าย ละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ ไม่มีทนาย ไม่ติดต่อญาติ ถูกซ้อมทรมาน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีเมื่อเจ็บป่วย อยู่กันอัดแน่นในห้องขัง พลิกตัวไม่ได้ อาหารด้อยคุณภาพ ต่อแถวยาว การขังแบบเหมารวม ผู้ต้องขังด้วยข้อหาลักเล็กขโมยน้อย มีโทษจำคุกไม่กี่ปี แต่ถูกนำไปขังรวมกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ถูกนักโทษด้วยกันกลั่นแกล้ง อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง คุกไทยจึงเป็นสภาพที่ก่อให้เกิดแรงกดดัน ความเครียด นำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือฆาตกรรมภายในคุก
เบื้องต้นนี้ต้องการบอกว่า การทำผิดของคนไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่ระบบสังคมก็เป็นปัจจัยที่บีบคั้นให้คนไม่ผิดกลายเป็นคนผิด เราจึงต้องเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างสังคมไทยที่มีลักษณะชนชั้น ใช้เส้นสาย เลือกปฏิบัติ กีดกันคนจนให้ด้อยโอกาส ปิดกั้น ทำลายผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จนถึงขั้นใช้ความรุนแรงกับประชาชน (ที่เรียกว่าอาชญากรรมโดยรัฐ)
กระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ลอยแพคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงของประชาชน แต่ไปสร้างเสริมความมั่นคงของผู้มีอำนาจรัฐแทน ให้สามารถกดขี่ข่มเหงประชาชนคนยากจน คนด้อยโอกาสให้ไร้อำนาจต่อไป
สำหรับโครงสร้างสังคมแบบชนชั้นประกอบด้วยใครกันบ้างที่เกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมด เริ่มต้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ ผู้นำรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกเลือกมาจากอำนาจของประชาชน เนื่องจากมีอำนาจบริหารที่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาปล่อยตัวนักโทษการเมือง ชั่วคราวได้ รวมไปจนถึงหาวิธีการนำอดีตผู้นำรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทหารที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหาร อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษได้ แต่กลับเพิกเฉย และเลือกที่จะหาหนทางช่วยเหลือเฉพาะกรณี เช่น กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลคือองค์ประกอบหนึ่งของรัฐไทยที่กำลังตอกย้ำความขัดแย้งที่ ยังดำรงอยู่ และค้ำยันโครงสร้างสังคมชนชั้นแห่งนี้ หากไม่รีบดำเนินการปล่อยตัวนักโทษการ เมืองทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปัญหาความขัดแย้งจะบานปลายดังกรณีของอากง ซึ่งเกือบจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ จะมีความชอบธรรมเหลืออยู่อีกหรือไม่ ที่จะบริหารประเทศนี้ต่อไป
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/05/40488
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น