การเชียร์โอลิมปิกกับความเท่าทันชาตินิยม
โดยประวิตร โรจนพฤกษ์
การเชียร์เทควันโดหญิงไทยแข่งโอลิมปิกอย่างมีอารมณ์ร่วมทำให้ผู้เขียน
ตระหนักอีกครั้งถึงอำนาจอันหยั่งลึกไพศาลของลัทธิชาตินิยมที่แม้แต่ตนเองก็
มักหนีไม่พ้นอย่างสมบูรณ์
การเชียร์ ‘น้องเล็ก’ ชนาธิป ซ้อนขำ แข่งกับสเปนทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า
ผู้เขียนเชียร์เพียงเพราะเกิดเป็นคนไทย และหากผู้เขียนดันเกิดเป็นคนสเปน
ก็คงหันไปเชียร์นักกีฬาสเปนแข่งกับไทยเป็นแน่แท้
(หรือกรณีเชียร์นักมวยโอลิมปิกไทย แก้ว พงษ์ประยูร
ชิงเหรียญทองกับจีนก็เช่นกัน)
การเชียร์ทีมชาติของตนเองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกช่วยย้ำเตือนให้ผู้
เขียนตระหนักว่าหลายอย่างที่เราอาจคิดว่าเป็นสิ่งที่เราตัดสินเลือกเองอย่าง
เป็นอิสระ (free will) แท้จริงแล้วหาได้เป็นอิสระจริงๆ อย่างที่คิดไม่
และไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือนับถือในศาสนาใดหรือไม่เชื่อในอะไรเลย
คุณก็มิสามารถปฏิเสธได้ว่าทุกคนเลือกสังคม ครอบครัว เพศ
และยุคสมัยที่เราเกิดไม่ได้
ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความเป็นตัวตนของเราเองอย่างมหาศาล
หากคนจำนวนมิน้อยอาจมิได้ฉุกคิด
หากเราไม่ตระหนักคิดเท่าทันต่อปัจจัยเหล่านี้
เราก็อาจไม่ต่างจากปลาทองที่หลงคิดว่าตนได้เป็นคนเลือกตู้ปลาหรือขวดโหลแก้ว
ที่อาศัยอยู่ด้วยตนเอง แต่ถ้าเราตระหนัก
มันจะช่วยเราตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่า free will
หรือการตัดสินใจเลือกด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ
เพราะฉะนั้น
แท้จริงแล้วคนส่วนมากมิได้เลือกที่จะเชียร์ทีมชาติตนเองแข่งกับชาติอื่น
หากถูกอุดมการณ์ชาตินิยมหล่อหลอมให้เชื่อว่าการเชียร์ทีมชาติตน
การเข้าข้างชาติตนและการยึดถือผลประโยชน์ชาติตนเป็นหลักนั้นเป็นเรื่องปกติ
ถูกต้องและธรรมชาติเป็นที่สุด
(ตัวอย่างอื่นที่สะท้อนอิทธิพลของสังคมและยุคสมัยที่เราเกิดได้แก่:
ความรู้สึกที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าอาหารชาติตนนั้นอร่อยที่สุดในโลกหรือ
อย่างน้อยก็ถูกปากที่สุด/
หลายคนที่สนใจเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือประหยัดพลังงานคงไม่ได้สนใจ
เรื่องเหล่านี้หากเกิดมามีชีวิตเมื่อสามศตวรรษที่แล้ว/
หากคุณดันเกิดในสมัยอยุธยา คุณจะสนใจเรื่องประชาธิปไตยไหมและทำไม?/
ถ้าคุณดันเกิดเป็นคนที่ถูกกดขี่ในยุคสงครามปลดแอกเพื่อเอกราชของอเมริกาจาก
พระเจ้าจอร์ชที่ 3 ของอังกฤษ
โอกาสที่คุณจะเป็นพวกเจ้านิยมนั้นสูงหรือต่ำแค่ไหนและทำไม?/
ในสงครามแต่ละคนก็มักเลือกที่จะสู้เพื่อบ้านเกิดตนทั้งๆ
ที่บ้านเกิดตนเป็นสิ่งที่ตนมิสามารถเลือกเองได้และหากตนดันไปเกิดเป็นทหาร
ของประเทศคู่อริก็คงไปต่อสู้อยู่ฝั่งตรงข้ามของสงคราม)
ในมุมมองผู้เขียน หากคุณสามารถเชียร์ทีมชาติอื่นแข่งกับชาติคุณเองได้
ก็แสดงว่าคุณมิได้ติดอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิชาตินิยมอย่างสมบูรณ์แบบ
(และแม้แต่ผู้เขียนก็ยังอดเชียร์ทั้งชนาธิปกับจ่าแก้วมิได้)
และแม้เราจะตระหนักและรู้เท่าทัน
มันก็ยังเป็นสิ่งยากลำบากที่จะหลีกเลี่ยงการมีความรู้สึกผูกพันกับประเทศ
บ้านเกิดเพราะมันเป็นเรื่องของอารมณ์ที่หยั่งลึกซึ่งต่างจากเหตุผล –
แต่การตระหนักก็ดีกว่าการไม่รู้ตัวหรือไม่ตระหนักอะไรเลยถึงอิทธิพลของสถาน
ที่และยุคสมัย (กาละและเทศะ) ที่เราเกิดและอาศัยอยู่
ที่มีต่อการปลูกฝังบ่มเพาะตัวตนของเรา
ผู้เขียนไม่มีทางออกอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าเลือกได้
ผู้เขียนขอเลือกเป็นปลาทองที่ตระหนักว่าตนมิได้เป็นผู้เลือกตู้ปลาหรือขวด
โหลที่อาศัยอยู่
แม้ว่าอาจไม่มีวันว่ายหนีออกจากตู้ปลาไปอยู่ที่อื่นหรือนอกตู้ได้ก็ตาม
และผู้เขียนก็จะขอเป็นปลาทองที่ตั้งถามต่อไปว่าใครหรืออะไรเอาเรามาใส่อยู่
ในตู้ที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42006
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น