หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เหยื่อ วีรชน กับอุดมการณ์

เหยื่อ วีรชน กับอุดมการณ์ 


 
"การเข้าใจเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของวีรชนนักสู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ถูกปกปิดบิดเบือนไป ให้เป็นเพียงเหยื่อสังหาร และอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” ที่ เป็นกระแสในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น แม้แต่การลอบสังหารเลขาธิการพรรคสังคมนิยมเมื่อต้นปี 2519 ก็ถูกลืมเลือนจากสังคมไทยไปแล้ว"

โดย ยังดี โดมพระจันทร์  

เรื่องราวสีเทาๆ กับความทรงจำในประวัติศาสตร์

การจัดงานรำลึกถึงวีรชนกรณีกวางจูที่เกาหลีใต้ ในเดือนพฤษภาคมทุกปีมีการจัดงานรำลึกถึงวีรชน เพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์เหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมืองกวางจู กับเผด็จการทหาร(Gwangju People Uprising)

ปูมหลังคือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 หลังจากประธานาธิบดี ชอนดูฮวน ขึ้นสู่อำนาจได้จับกุมนักการเมืองหลายคน นักศึกษามหาวิทยาลัยชนนัมจึงจัดชุมนุมคัดค้านและถูกปราบปรามโดยกำลังติด อาวุธของรัฐ ทำให้ประชาชนกวางจูนับแสนโกรธแค้น เข้ายึดอาวุธจากสถานีตำรวจท้องถิ่น จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับกำลังทหารทั้งทางบกและทางอากาศของรัฐบาล  ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตราว 207 คน และสูญหายกว่า 900 คน  เหตุการณ์ผ่านมา 32 ปี ที่อนุสรณ์วีรชนกวางจู จะมีการประกอบพิธีรลึก โดยนายกรัฐมนตรีมาร่วมงาน รวมทั้งนักการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และญาติวีรชนเข้าร่วม ขณะที่กลางเมืองกวางจู มีการปิดถนนสายร่วมงานรำลึกกันนับหมื่นคน


สิ่งที่น่าคิดซึ่งสหายจากกลุ่ม All Together ซึ่งเป็นกลุ่มก้าวหน้าตั้งข้อสังเกตคือ ยุคใดที่รัฐบาลเป็นประชาธิปไตย เนื้อหาการจัดกิจกรรมรำลึกจะเน้นถึงวีรชน และอุดมการณ์ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แต่หากยุคใดรัฐบาลเป็นแนวปฏิรูป หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็จะเรียกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ว่าเป็น
“เหยื่อ” ของความรุนแรง

รูปธรรมก็คือ การอธิบายถึงเหตุการณ์โดยไม่ประณามรัฐบาลและกลุ่มนายทหารที่ร่วมมือกันก่อ อาชญากรรม โดยเน้นภาพเหยื่อผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงแทน เช่น เหยื่อเสียชีวิตในบ้านขณะนั่งกินข้าว หรือไปซื้อของ เสียชิวิตจากเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เข้าร่วมจับอาวุธต่อสู้ หรือกลุ่มนักศึกษาที่มีองค์กรจัดตั้ง เป็นต้น  การเลือกที่จะเสนอ “ความเป็นเหยื่อ” สร้างภาพ และเรื่องราวสีเทาๆ เหล่านี้เป็นการจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์หรือไม่???


จาก 6 ตุลา 2519 เราเคยมีรัฐบาลของประชาชนหรือไม่??? 


ขณะที่เราเห็นใจเหยื่อ เราก็ต้องไม่ลืมวีรชน และอุดมการณ์ของเขา เพราะมิเช่นนั้นพวกนักบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็สามารถจะสร้างเรื่องราว และชุดความคิดอื่นเข้ามาแทนที่


หันมามองสังคมไทย อาชญากรรมรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในความเห็นของนักวิชาการหลายคน เรื่องของเหตุการณ์นองเลือดไม่มีอะไรลึกลับ และทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเราจะขาดข้อมูลบางประการ โดยเฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐว่าใครสั่ง หน่วยอะไรวางแผน และปฏิบัติงานอย่างไร แต่ข้อมูลจากสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ตลอดจนบทความในยุคต่อมา รวมกับความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องก็สามารถประกอบเป็นภาพรวม ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ในที่สุดคำถามที่ว่าใครสั่งฆ่าประชาชนก็ยังไม่มีคำตอบ


ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
เสนอเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีประวัติศาสตร์สาธารณะของเหตุการณ์นี้ ว่าฝ่ายที่ได้รับ “ชัยชนะ” ในวันนั้นเป็นฝ่ายที่มีส่วนโดยตรงหรือทางอ้อมในการปราบปราม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจและอิทธิพลในสังคมไทย ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
สรุปว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ซึ่งลักษณะนี้ต่างกับประวัติศาสตร์ที่มีความเจ็บปวดและบาดแผลในประเทศอื่น บางประเทศที่ได้รับการชำระไปแล้ว เนื่องจากการชำระดังกล่าวส่งเสริมอุดมการณ์และอำนาจของรัฐปัจจุบันในประเทศ นั้นๆ  ที่ต้องขีดเส้นใต้เพราะ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ผ่านมากว่า 35 ปี เราเคยมีรัฐบาลของประชาชนจริงหรือ???

การปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” จาก 6 ตุลาทำให้อุดมการณ์พร่าเลือน

   
การเข้าใจเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของวีรชนนักสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ถูกปกปิดบิดเบือนไป ให้เป็นเพียงเหยื่อสังหาร และอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” ที่เป็นกระแสในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น แม้แต่การลอบสังหารเลขาธิการพรรคสังคมนิยมเมื่อต้นปี 2519 ก็ถูกลืมเลือนจากสังคมไทยไปแล้ว

ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ให้ข้อสรุปว่า  6 ตุลา เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ยากที่จะมีผู้ร้ายฝ่ายเดียวที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นผู้ร้าย ไม่เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 ที่สังคมโดยรวมยอมสรุปว่าเป็นเพราะความผิดของเผด็จการทหาร ดังนั้น 6 ตุลา จึงถูกทำให้ “ลืม” มากกว่าการจดจำ

เวลาผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยนจากการมองว่านักศึกษาเป็นผู้กระทำผิด มาเป็นการมองนักศึกษาว่าเป็น
“เหยื่อ” ที่น่าเห็นใจ

แต่กระแสหลักในสังคมกำหนดเงื่อนไขในการ
“ให้อภัย” นักศึกษาว่าจะต้องมีการเลิกตั้งข้อสงสัยต่างๆ พร้อมกันไป เพื่อสิ่งที่ ดร.ธงชัย เรียกว่า “การหุบปากเหยื่อเพื่อสมานฉันท์สังคม” เมื่อ นำมาเทียบกับเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 แล้ว การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพยายามเสนอการปรองดอง น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการหุบปากเหยื่อเช่นกัน

ขบวนการคนเสื้อแดง และผู้รักประชาธิปไตยคงต้องสำรวจตรวจสอบ และร่วมกันพิจารณาอย่างจริงจังว่า เราจักสืบทอด ความเป็นเหยื่อ เชิดชูวีรชน หรือ ยึดถืออุดมการณ์??? จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้อย่างไร จะสามารถจดจำความจริงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ความจริงไม่ใช่เพียงจำนวนกระสุนสังหาร จำนวนศพ และการลำดับเหตุการณ์ แต่ความจริงของไพร่กับอำมาตย์ อุดมการณ์ที่เราหวงแหน ความขัดแย้งทางชนชั้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ อาชญากรรมรัฐที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ อย่าลืม!!


(ข้อมูลจากหนังสือ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง 6 ตุลาคม 2519” เว็บไซต์ www.2519.net)
 


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/10/blog-post_5.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น