หน้าเว็บ

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดครอบครัวและระบบกรรมสิทธิ์

กำเนิดครอบครัวและระบบกรรมสิทธิ์

 

การเปลี่ยนมาเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียวนี่เอง จึงเป็นการเอื้ออำนวยให้เกินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลขึ้น จากที่แต่ก่อนทรัพย์สมบัติต้องเป็นของโคตรตระกูล ก็มาเปลี่ยนเป็นของลูกที่สืบเชื้อสายทางบิดา และนี่คือจุดเริ่มต้นแรกของการมีระบบกรรมสิทธิ์

โดย ฮิปโปน้อย บรมสุขเกษม


หนังสือเรื่อง "กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและรัฐ” ที่เขียนไว้โดยเองเกลส์นั้น เป็นการสานต่องานเขียนที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ก่อนหน้าที่มาร์กซ์จะเสียชีวิตลง เนื่องจากมาร์กซ์เคยได้เขียนเรื่องโครงหลวมๆ เกี่ยวกับงานชิ้นนี้ไว้ก่อนแล้ว เพราะมาร์กซ์ได้เคยศึกษางานของ ลูอิส มอร์แกน ที่ได้เล่าถึงความเป็นไปในการพัฒนาครอบครัวของมนุษย์ในแต่ละยุคของสังคม ตั้งแต่ยุคคนป่าจนถึงยุคอารยธรรม

ซึ่งจากงานศึกษาของมอร์แกนนี้มาร์กซ์ได้เล็งเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกันบนพื้นฐานของทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และก่อนที่เราจะทำความเข้าใจ ว่ารัฐนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น เราต้องศึกษาต้นกำเนิดของการเกิดครอบครัวให้ได้ก่อน เพราะวิวัฒนาการของครอบครัว เป็นพื้นฐานในการเกิดรัฐ


แรกเริ่มเดิมทีในสังคมยุคบุพกาล รูปแบบของครอบครัวมนุษย์นั้น ไม่ได้อยู่กันเป็นหน่วยเล็กๆ หรือครอบครัวเดี่ยวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นการอยู่ร่วมกันเป็นหน่วยใหญ่แบบอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกว่า
“สังคญาติ” โดยมอร์แกน(นักมนุษยวิทยา) ได้ศึกษาจนค้นพบถึงรูปแบบการแต่งงาน และรูปแบบของการดำรงรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคบุพกาล ว่ามีลักษณะเป็นการสมสู่แบบส่ำส่อน หรือที่เรียกว่าการสมรสหมู่ โดยทั้งชายและหญิงที่อยู่ด้วยกัน ต่างก็เป็นผัวเป็นเมียเป็นของกันและกันอย่างเท่าๆ กัน โดยมีกฎเกณฑ์ไว้ว่า ชายหญิงที่ต่างรุ่นกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งสามารถแบ่งการสมรสได้เป็น 4 รุ่นด้วยกันดังนี้

รุ่นแรกคือ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นผัวเมียกัน แล้วรุ่นที่สองคือ ลูกๆ ที่เกิดจากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะแต่งงานกันมีลูกกัน จึงเกิดเป็นรุ่นที่สามคือ ลูกของ พ่อ แม่ ในรุ่นสอง ก็จะแต่งงานกันจนเกิดเป็นรุ่นที่สาม ตามลำดับ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมกันทั้งหมดเท่ากับว่ามี การแต่งงานเป็นสี่รุ่น ลูกๆ ที่เกิดมานั้นจะนับว่าเป็นลูกเป็นหลานของคนทุกคน


ดังนั้นจึงมีการตั้งข้อสังเกตจากลักษณะครอบครัวสมรสหมู่ว่า ใครเป็นพ่อของเด็กนั้นไม่อาจรู้ได้ แต่ในส่วนของการหาว่าใครเป็นแม่ของเด็กนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันได้ ถึงแม้ผู้หญิงจะเรียกเด็กทุกคนว่าเป็นลูกๆ ก็ตาม แต่ก็สามารถรู้ได้ว่าเด็กคนไหนเป็นลูกที่เกิดจากตนเอง ดังนั้นจึงได้เกิดเป็นสิทธิทางมารดาขึ้น


การดำรงอยู่ของมนุษย์ในยุคบุพกาล ที่ยังไม่รู้จักการสะสมทรัพย์นั้น จะมีความเป็นอยู่แบบหาอาหารกินไปวันต่อวัน มนุษย์ยังไม่รู้จักการสะสมอาหารและเพาะปลูก จนกระทั่งมนุษย์สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ได้ ก็เริ่มมีการสะสมอาหาร การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกเป็นฤดูกาล และมีเครื่องมือทำมาหากินมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้มีการสะสมทรัพย์สมบัติของมนุษย์



และด้วยรูปแบบการดำรงชีพที่เป็นเพียงการหาอาหาร แบบวันต่อวัน ยังไม่รู้จักการสะสมอาหารและเลี้ยงสัตว์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีส่วนช่วยในการผลิตที่เท่าๆ กันตามหน้าที่ ผู้ชายเป็นฝ่ายล่าสัตว์ส่วนผู้หญิงดูแลเรื่องในครัวเรือน ผลผลิตที่ได้ก็จะเป็นของกลาง แม้ว่าเครื่องมือจะเป็นของส่วนตัว 

จนกระทั่งเมื่อผู้ชายเป็นฝ่ายสร้างผลิตและสะสมได้มากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายเป็นฝ่ายจับอาวุธซึ่งเป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์ ดังนั้นจึงทำให้ฐานะของผู้ชายล้ำหน้าเกินฐานะผู้หญิง ผู้ชายจึงได้ครองทรัพยากรที่มีผลต่อศักยภาพการผลิต(ฝูงสัตว์) เมื่อฝ่ายที่ถืออำนาจในการผลิตอยู่ในมือ สามารถสร้างและสะสมสมบัติได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องล้มล้างประเพณีการสืบทอดทรัพย์สมบัติแบบเดิม คือจากการแต่ก่อนผู้มีสมบัติเสียชีวิตลงสมบัติของผู้ชายจะต้องตกทอดเป็นของ โคตรตระกูล ที่ต้องตกเป็นของเด็กและผู้หญิง ซึ่งเด็กที่ได้รับมรดกก็อาจจะไม่ใช่ลูกของตนก็ได้ เพราะในช่วงแห่งการสมรสแบบหมู่ จะเป็นการสืบเชื้อสายกันทางมารดา คือไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบครอบครัวให้เป็นแบบ “ระบบผัวเดียวเมียเดียว” เพื่อเป็นการตอบสนองการยกมรดกและกรรมสิทธิ์ ให้สามารถสืบได้ว่าใครเป็นบุตรแท้ๆ ของตนเอง

การเปลี่ยนมาเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียวนี่เอง จึงเป็นการเอื้ออำนวยให้เกินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลขึ้น จากที่แต่ก่อนทรัพย์สมบัติต้องเป็นของโคตรตระกูล ก็มาเปลี่ยนเป็นของลูกที่สืบเชื้อสายทางบิดา และนี่คือจุดเริ่มต้นแรกของการมีระบบกรรมสิทธิ์


และเมื่อมีระบบกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าเกิดความไม่เสมอภาคกันเกิดขึ้น ผู้หญิงตกอยู่ในสภาพที่มีฐานะต่ำกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายเป็นผู้ถืออำนาจในการผลิต รูปแบบการถือครองจึงเปลี่ยนไป จากที่เคยครอบครองโดยชุมชน ก็กลับกลายเป็นการครอบครองโดยปัจเจก รวมถึงรูปแบบของครอบครัวก็ต้องสลายไปโดยปริยาย การอยู่กับแบบสังคญาติไม่มีอีกต่อไป ระบบชาติวงษ์ก็ถูกทำลายลง ผู้นำของระบบเริ่มยึดเอาทรัพย์สินที่เคยเป็นส่วนรวมมาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วน ตัว เมื่อพลังการผลิตของสังคมพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง สังคมก็สามารถผลิตผลผลิตส่วนเกินขึ้นมาได้  และการมีผลผลิตส่วนเกินนี้เอง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างชนชั้นขึ้นมา พร้อมด้วยปรากฏการณ์การมีทาสในสังคม


เมื่อระบบชาติวงษ์ได้สลายไป จนเกิดเป็นชนชั้นขึ้นในสังคมแล้ว สิ่งที่มาแทนการปกครองจากระบบชาติวงษ์นั้นคือ
“รัฐ” รัฐเป็นผลผลิตทางสังคมอย่างหนึ่ง การบังเกิดขึ้นของรัฐนั้นเท่ากับว่า เป็นการสถาปนากลุ่มอำนาจขึ้นมาอันหนึ่ง เพื่อมีอำนาจในการปกครองคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้อำนาจการปกครอง รัฐเป็นสถาบันที่ทำตัวเหินห่างจากคนในรัฐ

หน้าที่ของรัฐคือเป็นตัวชะลอการปะทะกันของชนชั้นในสังคม หรือหากมีการปะทะกันเกิดขึ้น รัฐจะมีเครื่องมือในการควบคุมคนใต้ปกครอง โดยใช้ คุก ศาล ทหาร ตำรวจ ในการปราบปราม และสถาบันของรัฐนั้นจะดำรงได้ต้องเก็บภาษีจากคนในรัฐ ซึ่งก็เก็บโดยข้าราชการที่เป็นตัวแทนของรัฐ รัฐนั้นได้สร้างกฎเกณฑ์และกฎหมาย ที่อ้างว่าเพื่อเป็นการทำให้สังคมและชนชั้นเกิดความเป็นกลาง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ รัฐไม่มีความเป็นกลาง รัฐเป็นเพียงแต่เครื่องของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ที่มีอำนาจในสังคมเท่านั้นเอง เมื่อชนชั้นใดมีอำนาจที่สุดในสังคม ชนชั้นนั้นก็จะได้รัฐเป็นเครื่องในการกดขี่อีกชนชั้นหนึ่งในสังคม


สิ่งที่เองเกลส์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ
"กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและรัฐ”  นั้นมีใจความสรุปได้ดังนี้

ในยุคบุพกาลก่อนที่จะมีระบบชนชั้นเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีรัฐอยู่อย่างที่เห็นในยุคปัจจุบัน แต่เมื่อสังคมมีชนชั้นเกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้อง จัดตั้งองค์การพิเศษเพื่อสนับสนุนการขูดรีดส่วนเกินจากชนชั้นแรงงาน รัฐเป็นองค์กรพิเศษที่ใช้ความรุนแรง และบังคับในคนใต้ปกครองให้ขึ้นตรงต่อความรุนแรงอย่างเป็นระบบ โดยใช้เครื่องมืออย่าง คุก ศาล ทหาร ตำรวจ ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับฟ้าดิน และก็ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่คู่กับฟ้าดินไปจนชั่วกัลปาวสาน” 

ดังนั้นพื้นฐานของการจะเข้าใจการเกิดรัฐ เราควรต้องศึกษาเรื่องการกำเนิดครอบครัวด้วย เพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ทั้งนี้การศึกษาเรื่องกำเนิดครอบครัว ยังเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาการกดขี่เพศสตรีมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมในงานแปลของ
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มี ชื่อเรื่องว่ากำเนิดครอบครัว ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องนี้จบแล้ว จะส่งผลให้เราเข้าใจรัฐและมองภาพรัฐได้กระจ่างขึ้น ยามที่เราอ่านหนังสืออีกเรื่องหนึ่งที่เลนินเขียนไว้คือ “รัฐกับการปฏิวัติ”


...........................................
เอกสารอ้างอิง

กุหลาบ สายประดิษฐ์. (2524). กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์. ม.ป.ท.: ก่อไผ่.
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. (2545). อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน. 


(ที่มา) 
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/10/blog-post_2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น