หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ก.ข.ค. ของการสร้างพลังสหภาพแรงงาน

ก.ข.ค. ของการสร้างพลังสหภาพแรงงาน


ในการต่อสู้หรือในข้อพิพาทต่างๆ ตัวแทนสหภาพระดับรากหญ้าเหล่านี้เป็นแกนนำสำคัญในการไปสู่ชัยชนะ เพราะจะทำให้คนงานธรรมดามีส่วนร่วมตลอด ตัวอย่างที่ดีคือสภาพความเป็นอยู่ในสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ในอดีต ก่อนที่จะถูกนายจ้างทำลายในยุครัฐประหาร ๑๙ กันยา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ 

นักสหภาพแรงงานเข้าใจดีว่าเราต้องมีสหภาพแรงงาน เพราะถ้าเราจะต่อรองหรือเผชิญหน้ากับนายจ้างหรือรัฐ เราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องรวมตัวกันและสู้แบบรวมหมู่ และสิ่งนี้ทำได้ง่ายขึ้นเพราะคนงานหรือลูกจ้างจำนวนมาก ทำงานในที่เดียวกันและมีสภาพการจ้างคล้ายๆ กัน คือเงินไม่พอ สวัสดิการไม่พอ บ่อยครั้งงานน่าเบื่อ ชั่วโมงการทำงานมากไป และแถมเราโดนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง หรือโดนนายจ้างสั่งและด่าด้วยวาจาก้าวร้าว ดังนั้นนักสหภาพแรงงานจะพยายามดึงเพื่อนร่วมงานเข้ามาเป็นสมาชิกให้มากที่ สุด พูดง่ายๆ พลังของเรามาจากความสามัคคีสมานฉันท์ในหมู่ลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่นักสหภาพแรงงานจำนวนมากเข้าใจเรื่องนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่มองกว้างและไกลออกไป มีแต่คนที่เข้าใจการเมือง การที่หลายคนไม่มองไกลออกไปไม่ใช่เพราะโง่ แต่เป็นเพราะเราขาดความมั่นใจที่จะคิดต่อ หรือเราถูกกล่อมเกลาให้คิดในกรอบของระบบ “แรงงานสัมพันธ์” ของนายทุน

จัดตั้งข้ามรั้วสถานที่ทำงาน

การคิดกว้างและไกลออกไปในกรณีนี้หมายความว่าเราต้องหาทางสมานฉันท์สามัคคี ข้ามรั้วโรงงานหรือข้ามรั้วสถานที่ทำงาน ในรูปธรรมมันแปลว่านักสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานในย่านใกล้เคียงกัน หรือในภาคการผลิตหรือธุรกิจคล้ายๆ กัน ต้องสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งกว่าที่เป็น จริงอยู่เรามีกลุ่มย่าน เรามีสหพันธ์แรงงานในธุรกิจที่คล้ายกัน แต่เรายังไม่ยกระดับการต่อสู้ร่วมกัน คือเราต้องหาทางยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกันในรูปแบบเดียวกัน เพื่อนัดหยุดงานพร้อมกัน และถ้ามีประเด็นระดับชาติต้องหาทางนัดหยุดงานทั่วไป ประเด็นระดับชาติก็เช่นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำหรือการประกันสังคม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สหภาพแรงงานส่วนใหญ่สู้แต่ในประเด็นของตนเองตาม ลำพัง
   
นอกจากการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกัน หรือนัดหยุดงานพร้อมกันแล้ว นักสหภาพแรงงานต้องหาทางสร้างความสมานฉันท์ที่เป็นจริง ไม่ใช่พูดลอยๆ ถ้ามีสถานที่ทำงานแห่งหนึ่งที่มีการเลิกจ้างแกนนำสหภาพ หรือปิดโรงงานจนลูกจ้างตกยากลำบาก สถานที่ทำงานอื่นๆ ควรให้การสนับสนุน ในขั้นตอนแรกด้วยการเรี่ยรายเงินช่วยเหลือ แต่ในที่สุดด้วยการหยุดงานและร่วมประท้วง แน่นอนเรื่องแบบนี้ “ผิดกฏหมายแรงงาน” ที่นายจ้างและรัฐร่างมาเพื่อประโยชน์ของชนชั้นเขาเอง แต่เราสามารถฝืนกฏหมายได้ถ้าเรามีมวลชนเพียงพอ การยึดสถานที่ทำงานก็เป็นอาวุธสำคัญของคนงาน เพราะทำให้นายจ้างขนของออกไม่ได้ หรือนำคนงาน “ฆ่าเพื่อน” มาทำงานแทนยากขึ้น และในไทยก็เคยมีการยึดสถานที่ทำงานโดยสหภาพแรงงานเช่นที่โรงงานไทยเกรียง ทั้งๆ ที่มัน “ผิดกฏหมาย” ของนายทุน ที่อื่นในยุโรป เกาหลี หรือญี่ปุ่นก็เช่นกัน
   
การที่คนทำงานจากที่หนึ่งจะไปสนับสนุนคนจากอีกที่หนึ่ง คือ “การหนุนช่วยซึ่งกันและกัน” และมันอาศัยกิจกรรมจากทุกฝ่าย คือคนที่มีปัญหาต้องกล้าไปติดต่อเพื่อนรอบข้าง และเพื่อนรอบข้างต้องรับฟังและยอมช่วยเหลือ คราวต่อไปก็จะเป็นตาของคนที่เคยมีปัญหาที่จะช่วยคนอื่น

เน้นการนำจากล่างสู่บน

การ “ร่วมกันสู้เป็นหมู่” มันมีประเด็นและมิติอื่นๆ ด้วย เรื่องสำคัญคือ สมาชิกพื้นฐานมีส่วนร่วมในกิจการสหภาพมากแค่ไหน จากประสบการในการต่อสู้ทั่วโลกและในไทย สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งจะมีตัวแทนของสหภาพแรงงานในทุกแผนก ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประจำ และมีหน้าที่คุยกับเพื่อนร่วมงานและรายงานความเห็นต่อกรรมการสหภาพ เพื่อการนำจากล่างสู่บน

ในการต่อสู้หรือในข้อพิพาทต่างๆ ตัวแทนสหภาพระดับรากหญ้าเหล่านี้เป็นแกนนำสำคัญในการไปสู่ชัยชนะ เพราะจะทำให้คนงานธรรมดามีส่วนร่วมตลอด ตัวอย่างที่ดีคือสภาพความเป็นอยู่ในสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ในอดีต ก่อนที่จะถูกนายจ้างทำลายในยุครัฐประหาร ๑๙ กันยา ซึ่งบทเรียนตรงนี้คือ รูปแบบการมีผู้แทนสหภาพในทุกแผนกนำไปสู่พลัง แต่พลังนั้นไม่คงที่ตลอดไป ถ้านายจ้างสร้างความแตกแยกในหมู่คนงานได้ เขาก็จะทำลายสหภาพได้
   
ตัวอย่างอื่นของสหภาพแรงงานที่มีผู้แทนระดับรากหญ้าบ้าง คือในย่านอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แต่ตรงนั้นก็มีความพยายามของนายจ้างและรัฐที่จะสร้างความแตกแยกทางการเมือง ระหว่างเหลืองกับแดงด้วย
   
ในมุมกลับสหภาพแรงงานที่ “มีแต่หัว” ที่เป็นแกนนำมานาน และไม่เคยคุยกับสมาชิกธรรมดาอย่างจริงจัง จะเป็นสหภาพที่อ่อนแอและสู้ไม่ได้ บางทีจะไปพึ่งพิงความสัมพันธ์กับนายจ้างหรือนักการเมืองแทน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ เช่นรถไฟหรือ กฟผ. ซึ่งเกือบจะไม่มีผู้แทนสหภาพในแผนกต่างๆ เลย และอาศัยการนำแบบ “ขุนนางสั่งไพร่” จนแกนนำไปนอนกอดพวกเสื้อเหลืองล้าหลัง และสมาชิกธรรมดา ซึ่งคงไม่ใช่เสื้อเหลืองเองทุกคน ทำอะไรไม่ได้
   
ถ้าเราให้ความสำคัญกับสมาชิกสหภาพระดับรากหญ้า มันแปลว่าเวลาสหภาพอื่นมีปัญหาอะไร เราต้องคุยกับทุกคน ต้องเรี่ยรายเงินจากทุกคน ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำสหภาพยกมือบริจาคเงินจากกองทุนสหภาพ โดยที่สมาชิกจำนวนมากไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนร่วม ถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่มีทางสร้างพลังหนุนช่วยอย่างจริงจัง
 

(อ่านต่อ)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/10/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น