หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กรอบคิดอับจนแบบ "จน โง่ กินเหล้า"

กรอบคิดอับจนแบบ "จน โง่ กินเหล้า"





ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&cat...) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
 

1) มองคนจนในด้านเดียว หาว่าเขาโง่ มองคนจนว่า จนแล้วยังเสื_กกินเหล้า ทำร้ายตัวเอง น่าอนาจใจที่คนที่ทำงานเพื่อสังคมในปัจจุบันนี้ กลับไม่ได้มีความเข้าใจชีวิตคนที่แตกต่างจากตนเองอีกต่อไปแล้ว

นี่เป็นทัศนะแบบ "คุณพ่อรู้ดี" ตัดสินชีวิตคนอื่นจากมุมมองตนเอง ไม่ใช่ด้วยเพราะตนเองรู้ดีกว่าจริงๆ หรอก แต่เพราะคิดว่าตนเองเท่านั้นที่รับผิดชอบสังคมนี้ คนอื่น ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนจน รับผิดชอบชีวิตเขาเองไม่ได้ ต้องควบคุม ต้องกำกับจัดการ

นี่เป็นทัศนะของชนชั้นกลางที่เชื่อมั่นในการศึกษา ชอบอ้างงานวิจัย ซึ่งก็มักวางอยู่บนกรอบเดียวกันนี้ ผมเห็นงานวิจัยเรื่องสุราแต่ละชิ้น มักไม่ได้มาจากกรอบของมุมมองทางสังคมที่เห็นปัญหาของนโยบายรัฐและปัญหาของ ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง แต่มักมุ่งเป้าปัญหาไปที่คนจนปัจเจก ลดทอนปัญหาใหญ่ๆ ให้กลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล ลดทอนปัญหาเชิงนโยบายและความเหลื่อมล้ำ ให้กลายเป็นเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม

หากความดีดีจริง จะต้องเป็นความดีที่ไม่มีที่ติ จะต้องไม่สามารถถกเถียงหาข้อโต้แย้งให้สงสัยได้ว่าดีแค่ไหน ดีจริงหรือ จะต้องเป็นความดีที่ทุกคนยอมรับได้ แต่หากความดีของพวกคุณยังมีข้อสงสัย อย่าคิดว่าความดีของพวกคุณดีในตัวของมันเอง แล้วอย่าเพิ่งเที่ยวเอาความดีแบบพวกคุณไปยัดเยียดคนอื่น เพราะสังคมเขายังไม่สิ้นสงสัยในความดีแบบพวกคุณ

2) แทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น วิธีคิดแบบนี้กลับผลักปัญหาให้เป็นปัญหาของคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองมีงานที่สำคัญอยู่แล้วแต่ยังทำไม่ได้ ทำไมองค์กรนี้ไม่ไปรณรงค์ผลักดันให้เจ้าหน้าที่ ให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้มงวดกวดขันกับมาตรการและกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น ทำไมจึงมาออกหน้าเถียงแทนพวกหมอ ทำไมต้องมามุ่งควบคุมคนจน

นี่ทำให้น่าสงสัยว่า ตกลงเอ็นจีโอและนักวิชาการกลุ่มนี้กำลังทำงานให้ใคร น้ำเสียงขององค์กรนี้สอดคล้องกับบางองค์กรที่มักรณรงค์งดเหล้าด้วยกรอบคิด เดียวกันนี้ อย่าให้คนเขาเข้าใจไปเองครับว่า องค์กรนั้นซึ่งมีอิทธิพลมากมายจนผมยังไม่กล้าเอ่ยชื่อเลย จะมาสร้างเครือข่ายยัดเยียดศีลธรรมของชนชั้นกลางคุณพ่อรู้ดี แล้วเที่ยวใช้อิทธิพลไปทั่ว ผ่านเงินทองมากมายจากภาษีที่พวกท่านตีตราว่าบาป หรือเพราะบรรดาหมอที่ผลัก ดันนโยบายนี้ไม่ถนัดที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลด้วยตนเอง หรือไม่อยากมาเกลือกกลั้วแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในสังคม จึงอาศัยตัวช่วย ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลยครับ 

3) ถึงที่สุดแล้ว ผมสงสัยว่านี่เป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายหรือไม่ เพราะในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายไม่ได้มีไว้ใช้ควบคุมศีลธรรม กฎหมายมีไว้สำหรับการอยู่ร่วมกัน อย่ามาใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตคนอื่นผ่านกฎหมาย สังคมประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมด้วย กฎหมายจึงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความดีความชั่วอย่างแคบๆ ได้ เพราะความดีความชั่วส่วนใหญ่วางอยู่บนความเชื่อของคนบางกลุ่มเท่านั้น

แต่ในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายต้องอยู่ในกรอบของการทำให้คนที่มาจากพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับกันได้ เคารพกันและกันได้แม้จะแตกต่างกัน ถ้าพวกคุณยอมรับคนอื่นไม่ได้ด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แล้วเที่ยวไปตัดสินดีชั่วให้ชีวิตคนอื่น จนถึงกับไปออกกฎก้าวก่ายชีวิตคนอื่นด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แบบนั้นเขาเรียกการใช้อำนาจแบบเผด็จการ เผด็จการล้วนอ้างว่าตนใช้อำนาจในนามของความดีทั้งนั้นแหละครับ

(ที่มา)
http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/3858 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น