"เพื่อไทย" ตกหลุม "เกมประชามติ" โยน "เผือกร้อน" ชง "3สถาบัน" เกมยืดเวลา "แก้ รธน."
"คณะ ทำงานพรรคร่วมรัฐบาล" เคาะกรรมการทั้งหมด 11 คน โดยมี "โภคิน พลกุล" อดีตประธานรัฐสภา เป็นประธาน ใช้เวลาศึกษาด้วยการประชุมทั้งสิ้น 14 ครั้ง นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม-11 ธันวาคม 2555 จนคลอดรายงานผลการศึกษาจำนวนกว่า 50 หน้า
"คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล" ออกข้อเสนอ 5 ข้อ โดยข้อเสนอดังกล่าวมีการเสนอแนะไปยังรัฐสภาว่ามีอำนาจในการลงมติในวาระที่ สาม และมีข้อเสนอแนะด้วยว่า หากเกรงว่าสังคมจะทวีความขัดแย้งก็สามารถดำเนินการให้มีการจัดการออกเสียง ประชามติได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165
หากนับจากวันที่ "คณะรัฐมนตรี" (ครม.) มีมติตั้งคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งหมด 5 คน เพื่อหาแนวทางการทำประชามติ
และนับจากวันที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งโฟนอินมาในเวทีคอนเสิร์ตคนเสื้อแดง ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 โยนข้อเสนอให้มีการทำประชามติและมั่นใจว่าหมูมากเพราะเสียงของประชาชนจะออก มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 24.3 ล้านเสียง
กระทั่ง "พรรคเพื่อไทย" ในฐานะแกนนำรัฐบาล ได้ประชุม ส.ส.พรรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555
ต่อ เนื่องด้วยการเรียกประชุม ส.ส.ผ่านการสัมมนาพรรคที่โรงแรมเดอะ กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
การ ประชุมดังกล่าวเป็นการหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลัง "พรรคเพื่อไทย" มีความเห็นแตกต่างออกเป็น 3 แนวทาง 1.เดินหน้าลงมติในวาระที่สาม 2.ลงประชามติก่อนลงมติในวาระที่สาม และ 3.แก้ไขเป็นรายมาตรา
แม้จะมี ความพยายามในการหาทางออกให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้ "พรรคเพื่อไทย" ในฐานะพรรคที่มีเสียงมากที่สุดใน "รัฐสภา" ระดมความคิดเห็นจาก ส.ส.
แม้จะมีความพยายามของ "ครม." ในฐานะฝ่ายบริหารเพื่อหาทางปลดล็อกจากความ "ขัดแย้ง" ด้วยการศึกษาแนวทางการทำประชามติและหารือกับ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.)
แต่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 แนวทาง ก็ถูกกลบด้วยประเด็นข้อเสนอของ "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพื่อให้สถาบันการศึกษาไม่น้อยกว่า 3 แห่ง
ประกอบด้วยผู้รู้จากคณะ รัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้ามาคั่นกลางการทำประชามติเพื่อศึกษาปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกไม่น้อย กว่า 45-60 วัน
ข้อเสนอการโยนให้ 3 สถาบันการศึกษา ศึกษาปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ถูกมองจากฝ่ายค้านว่าเป็นการ "ซื้อเวลา"
และ ยังถูกมองจากนักวิชาการที่ศึกษาเรื่อง "รัฐธรรมนูญ" อย่าง "ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์" ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ว่าเป็นการโยน "เผือกร้อน" การแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากรัฐบาล ภายหลังโยนข้อเสนอให้ "สังคม" ถกเถียงถึงแนวทางการทำ "ประชามติ"
"จังหวะการก้าวของพรรคเพื่อไทยได้ ตกหลุมตัวเองในเรื่องการทำประชามติ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีความพยายามหาทางออกจากหลุมประชามติ จึงโยนข้อเสนอให้ 3 สถาบันการศึกษาไม่น้อยกว่า 3 แห่ง มาศึกษาการทำประชามติอีก 2 เดือน ซึ่งหมายความว่าในเวลา 2 เดือนเป็นการตั้งตัวใหม่ เพราะหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนเสนอให้เกิดการทำประชามติ จึงกลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยคาดการณ์ไม่ถึงว่าเกมการทำประชามติจะพัวพันจึง ยากที่จะถอนตัวได้"
"ธำรงศักดิ์" เห็นว่า "เมื่อเกมประชามติไม่ง่ายอย่างที่คิด จึงเหมือนอาศัยผู้รู้ให้ศึกษาแทนเพื่อเป็นการซื้อเวลา ให้ค่อยๆ คิดเดี๋ยวการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติก็จะปิดลงในไม่กี่เดือนแล้ว"
"การ โยนข้อเสนอให้ผู้รู้ศึกษาจึงน่าจะคุยยาวได้ ด้วยการปล่อยให้ผู้รู้ทะเลาะกัน เหมือนเป็นการโยนบอลออกจากตัวเอง หรือโยนเผือกร้อนออกจากตัวเองระยะหนึ่ง ผมเห็นว่าข้อเสนอของคุณภูมิธรรมต้องการให้รัฐบาลหลุดบ่วงออกจากเกมประชามติ" ธำรงศักดิ์ระบุ
ไม่เพียง "ฝ่ายการเมือง" ภายใต้การนำรัฐบาลของ "พรรคเพื่อไทย" ต้องการหาทางออกให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทว่าสิ่งที่ปรากฏออกมา ทำให้ "ธำรงศักดิ์" เห็นว่าเป็น "เชือก" รัดพันตัวเองตลอดเวลา เสมือน "ลิง" ติดแหติดอวน
ในขณะที่ "คนเสื้อแดง" ก็ไม่มีพลังทางการเมืองมากพอในการผลักดันให้เดินหน้าลงมติในวาระที่สามได้
"จน ถึงขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ไม่เดือดร้อน เพราะกลุ่มแกนนำพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นกลุ่มการเมืองเดิมๆ ไม่ต่างจากฝ่ายค้าน" ธำรงศักดิ์วิเคราะห์ถึง "องคาพยพ" ในการหาทางออกจากบ่วงปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ "รัฐบาลเพื่อไทย"
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357707599&grpid=&catid=12&subcatid=1200
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น