หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

สังคมไทยคืนสู่สภาพเดิมหรือ?


แดงสังคมนิยม

สังคมไทยคืนสู่สภาพเดิมหรือ?


โดย ใจ อึ้งภากรณ์

 

หลายคนเชื่อหรืออยากฝันว่า สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา หลังการประท้วงจากสองฝ่าย การเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดงโดยทหาร และชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ แต่ก็มีคนเสื้อแดงไม่น้อยที่เชื่อว่าประชาชนจำนวนมาก “ตาสว่าง” และสังคมไทยจะกลับสู่สภาพเดิมไม่ได้ อย่างไรก็ตามความจริงในรูปธรรมมันซับซ้อนกว่านั้น


สำหรับพวกที่เชื่อหรือฝันว่าสังคมไทยกำลังกลับคืนสภาพเดิม แน่นอนมีคนอย่างพวกทหารระดับสูง ที่คิดว่าจะไม่มีการลดอำนาจทหาร ไม่มีการแก้กฏหมาย 112 ไม่มีการปฏิรูประบบศาล ไม่มีการนำฆาตกรอย่างตัวเขาเองมาขึ้นศาล ทั้งหมดเพราะมีข้อตกลงกับนักการเมืองน้ำเน่าในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และอีกกลุ่มหนึ่งที่หวังว่าทุกอย่างกำลังกลับสู่สภาพเดิมคือทักษิณและนักการ เมืองที่เป็นพรรคพวก และนั้นคือความหมายของการปรองดองแย่ๆ ทำพวกนี้ผลักดัน มันปรองดองบนซากศพวีรชน ปรองดองบนความทุกข์ของนักโทษการเมือง ปรองดองเพื่อให้ชนชั้นปกครองไทยที่เคยทะเลาะกัน กลับมาร่วมกินเสพสุขบนพื้นฐานการกดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่


นอกจากฝ่ายชนชั้นสูงแล้ว มันมีปรากฏการณ์ในหมู่นักวิชาการและผู้นำเอ็นจีโอหลายคน ที่เคยโบกมือต้อนรับรัฐประหาร ๑๙ กันยา และชื่นชมในทหารที่เข่นฆ่าเสื้อแดง พวกนี้ก็หวังว่าสังคมไทยกำลังกลับคืนสู่สภาพเดิม และเริ่มออกมา “หน้าด้าน” แสดงความเห็นต่อสังคมเรื่องประชาธิปไตย โดยอ้างว่าเป็นผู้แทนหรือปากเสียงของ “ภาคประชาชน” พวกนี้ไม่ต่างจากสัตว์เลื้อยคลานที่ออกมาตอนกลางคืนหลังจากที่แสงสว่างหมดไป จากโลก เราก็เลยเห็นคนที่เคยร่วมทำลายประชาธิปไตย เคยร่วมส่งเสริมเผด็จการ เคยร่วมกันด่าประชาชนธรรมดาเวลาประชาชนเหล่านั้นชุมนุมเป็นเสื้อแดง ตอนนี้ออกมาเป็น “ผู้เชี่ยวชาญหรือพี่เลี้ยง” ในเรื่องประชาธิปไตย หรือ “ผู้ส่งเสริมสิทธิผู้บริโภคหรือสิทธิชาวบ้าน” แต่มันมีเงื่อนไขคือชาวบ้านเหล่านั้นต้องยอมรับการนำของเขา และต้องไม่นำตนเอง
 

ที่น่าสมเพช คือแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกนี้มีแต่สูตรเดิมๆ ที่ไม่เคยมีความหมายจริง เพราะไปอาศัยทฤษฏีของฝ่ายชนชั้นปกครองทั่วโลกมาใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดฝ่ายขวาที่เป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพแท้ บ่อยครั้งมันฟังดูดี แต่มันนามธรรมเหลือเกิน ซึ่งเป็นการสร้างภาพให้ดูดีเพื่อให้คงไว้สภาพเดิมเท่านั้น


ขอยกตัวอย่าง มีการพูดว่าประชาธิปไตยต้องไม่ยึดติดกับตัวบุคคลเกินไป เออ...ก็ใช่นะ แต่พวกที่พูดแบบนี้ก็กลับยึดติดกับคนชั้นสูงที่เขาเองรักจนหัวใจพองโต หรือยึดติดกับผู้ก่อตั้งศาสนาในยุคโบราณ หรือมองว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกมาจากการกระทำของคนสำคัญ “คนดีไม่กี่คน” “คนฉลาดไม่กี่คน” หรือแม้แต่คนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนน้อย แต่พอสะกิดความคิดของเขาด้วยข้อเสนอว่าคนธรรมดานำตนเองได้ สร้างขบวนการเสื้อแดงได้ หรือกรรมกรโรงงานบริหารการผลิตเองได้โดยไม่ต้องมีนายทุนหรือหัวหน้างาน หรือถ้าเราเสนอว่าทุกตำแหน่งสาธารณะในสังคมควรมาจากการเลือกตั้ง เขาจะรีบสวนกลับไปว่าคนชั้นต่ำทำอะไรเองไม่ได้


อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องการคอร์รับชั่น ซึ่งเป็นปัญหาจริง แต่เป็นปัญหาจากโครงสร้างสังคมที่เป็นสังคมชนชั้น เพราะพวกที่คอร์รับชั่นจริงในสังคมไทย คือชนชั้นปกครองทั้งชนชั้น ไม่มีดีสักคน เช่นทหารที่เบ่งอำนาจ ใช้งบจากภาษีประชาชนเพื่อสร้างสถานีโทรทัศน์แล้วตั้งตัวเองเป็นกรรมการบอร์ด เพื่อกินกำไรเข้ากระเป๋าส่วนตัว เช่นพวกอภิสิทธิ์ชนที่อาศัยตำแหน่งเพื่อตั้งเงินเดือนตัวเองสูงๆ แล้วกดเงินเดือนประชาชนธรรมดา หรือตัวอย่างอื่นๆ ของคนที่ใช้ตำแหน่งเพื่ออ้างสิทธิพิเศษที่จะร่ำรวยมหาศาลโดยที่ตนเองไม่ทำ งานเลย และเรายังไม่ได้พูดถึงนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย แต่พวกที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยาจะพูดถึงคนกลุ่มสุดท้ายนี้เท่านั้น


พวกที่ล้าหลังที่สุดที่ตอนนี้คลานออกมาจากใต้ก้อนหินเพื่อสั่งสอนสังคม เคยเสนอว่าประชาชนไทยไม่ควรมีสิทธิ์เลือกตั้งเต็มที่ เพราะเคยไปเลือกทักษิณ โดยที่พวกนี้พยายามปกปิดความจริงว่าประชาชนเลือกทักษิณเพราะชอบนโยบายที่ เป็นรูปธรรมของพรรคไทยรักไทย นั้นไม่ใช่การยึดติดกับตัวบุคคลของเสื้อแดง แต่การเสนอว่าในระบบการเมือง หรือในการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ควรยึดติดกับตัวบุคคล มันมีความหมายในอีกแง่ คือมันเป็นวิธีหลีกเลี่ยงประเด็นชนชั้น


เรื่องการคอร์รับชั่นก็เป็นเรื่องชนชั้น และความสามารถในการตรวจสอบการใช้อำนาจ ที่พวกกระแสหลักชอบพูดถึงบ่อยๆ จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพหรือคนทำงานไม่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ยิ่งกว่านั้นการตรวจสอบการใช้อำนาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ามีกฏหมายเผด็จ การอย่าง 112 ที่ปกป้องทหาร นักการเมือง และอภิสิทธิ์ชน


คนที่ปฏิเสธความสำคัญของชนชั้น และนักวิชาการกับแกนนำเอ็นจีโอเกือบทุกคนมองโลกแบบนี้ เป็นคนที่ปิดหูปิดตาตัวเอง และพยายามปิดหูปิดตาคนอื่นถึงแก่นแท้ของความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในสังคม ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะถ้าไม่นำเรื่องชนชั้นมาพูด เราจะไม่สามารถมองเห็นการที่คนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่ง คุมอำนาจทางการเมืองในมือ และใช้อำนาจนั้นในการบังคับขโมยทรัพย์สินส่วนเกินจากคนส่วนใหญ่ที่ทำงาน จนพวกนี้ร่ำรวยมหาศาล นอกจากนี้คนกลุ่มนี้สามารถร่วมกันใช้ทรัพย์สินส่วนหนึ่ง ผ่านกลไกของรัฐ ในการรักษาความไม่เท่าเทียมทางอำนาจต่อไปได้


ถ้าเราปฏิเสธประเด็นชนชั้น เราเหลือแต่คำอธิบายว่าเศรษฐี คนรวยหรือนายทุน รวยเพราะขยันและรู้จักออม หรือเขารวยหรือมีอำนาจทางการเมือง เพราะเขาฉลาดหรือมีความสามารถพิเศษกว่าเรา


คนที่ปฏิเสธชนชั้นจะมองไม่ออกว่า “การเมือง” เป็นช่องทางในการแย่งผลประโยชน์กันระหว่างคนส่วนน้อยที่คุมอำนาจและการผลิต มูลค่า กับคนส่วนใหญ่ที่ทำงานผลิตมูลค่าดังกล่าว เขาจึงมองว่า “การเมือง” เป็นแค่การเล่นเกม ระหว่างทีมต่างๆ ที่มีรสนิยมต่างกัน การมองว่าการเลือกตั้งระหว่างพรรคเดโมแครด กับพรรคริพับลิแคน ในสหรัฐอเมริกา คือจุดสุดยอดของการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างที่ดีของความคิดปัญญาอ่อนแบบนี้ และเวลามีวิกฤตเกิดขึ้น เรามักจะได้ยินพวกนี้พูดว่า “เราควรสามัคคีเพื่อชาติ” หรือ “ไม่ควรนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง” 


แต่ในโลกจริงการเมืองของความขัดแย้งทางชนชั้นไม่เคยหายไป เวลาน้ำท่วมหรือพายุเข้ามา คนจนเดือดร้อนมากกว่าคนรวยหลายร้อยเท่า และคนจนยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเวลาคนรวยที่มีอำนาจ ไม่ยอมให้รัฐของนายทุน เก็บภาษีจากตัวเขาเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่


เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องชนชั้นล้วนๆ เพราะในระบบประชาธิปไตยแท้ ที่พวกเราเรียกว่า “สังคมนิยม” คนทำงานธรรมดาจะมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จะควบคุมทุกอย่างในสังคม ร่วมกัน แทนที่จะมีนายทุนที่มีอำนาจล้นฟ้าอย่างทุกวันนี้


ถ้าจะมีประชาธิปไตยแท้ในอนาคต เราต้องมีพรรคการเมืองที่มาจากคนทำงาน และเสนอนโยบายเพื่อคนทำงาน พรรคนี้จะต้องเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนธรรมดา ซึ่งหมายความว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เศรษฐีนายทุน และพรรคพวกของเขา รวมถึงนายทหารชั้นสูง เสียผลประโยชน์และในที่สุดเสียอำนาจด้วย ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและฐานะเศรษฐกิจ การสร้างความเสมอภาคย่อมกระทบกับคนส่วนน้อยที่เคยได้ประโยชน์จากความไม่เสมอ ภาค มันเข้าใจได้ง่าย


ถ้าวกกลับมาพิจารณาว่าสังคมไทยกำลังกลับคืนสู้สภาพเดิมหรือไม่ เราต้องตั้งข้อสังเกตหลายประการ เช่นสังคมที่ไหน ไม่ว่าจะไทยหรือที่อื่น ไม่เคยแช่แข็งหยุดนิ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สังคมดีขึ้นโดยอัตโนมัติ มันอาจแย่ลง หรืออาจเปลี่ยนในหลายแง่ แต่ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง


ประชาชนไทยจำนวนมากผ่านประสบการณ์วิกฤตการเมืองหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ซึ่งทำให้บางคนตาสว่าง บางคนมองโลกในแง่ใหม่ บางคนอยากเปลี่ยนสังคมต่อไป บางคนพร้อมจะขยับตัวออกมาต่อสู้หรือจัดตั้งเพื่อเปลี่ยนสังคม แต่ในขณะเดียวกันบางคนอาจยิ่งถอยหลังลงคลอง ดื้อในความล้าหลัง ไม่พร้อมจะให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะเกลียดและกลัวภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เคยเห็นแว๊บๆ ท่ามกลางวิกฤตที่ผ่านมา และอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือ คนเปลี่ยนความคิดเสมอ และการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอาจไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเสมอ อาจเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ ตัวอย่างที่ดีคือคนสมัย ๑๔ ตุลา หรือ ๖ ตุลา ที่ตื่นตัวทางการเมืองและเริ่มขยับไปทางซ้ายสังคมนิยม ในภายหลังวกกลับมามีความคิดอนุรักษ์นิยมอีก พูดง่ายๆ คนที่ตาสว่างหลัง ๑๙ กันยา จะไม่ตาสว่างตลอดไปถ้าไม่มีการต่อสู้เพิ่มเติมและการจัดตั้งทางการ เมืองอย่างต่อเนื่องของฝ่ายสังคมนิยม


ไม่มีหลักประกันว่าตอนนี้สังคมไทยจะไม่กลับคืนสู่สภาพเดิมๆ ที่ไร้ความยุติธรรม แต่ก็ไม่มีหลักประกันอีกด้วยว่าสังคมจะไม่เปลี่ยน ตอนนี้เป็นโอกาสทองที่จะต่อยอดการเคลื่อนไหวต่อสู้ของเสื้อแดง เพื่อผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยแท้ และเปลี่ยนโครงสร้างสังคมให้เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ แต่มันขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะร่วมกันลงมือทำงานเพื่อเป้าหมายนี้หรือไม่

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น