หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ท่าที"นายกฯ " พท.ปรับจังหวะใหม่ เป้าเดิม"รธน.ประชาชน"?

ท่าที"นายกฯ " พท.ปรับจังหวะใหม่ เป้าเดิม"รธน.ประชาชน"?


 

คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวาระขึ้นปีใหม่ 2556

ชี้ชัดว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่ยุติในปี 2556

โดยเฉพาะ หากพรรคเพื่อไทย ตัดสินให้มีการทำประชามติ ก่อนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ

เหตุผลจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คือ การทำประชามติ มีขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องใช้เวลา

ขณะ ที่ความเห็นจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ก็เห็นคล้ายๆ กันว่า เบ็ดเสร็จแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

เป็นอันว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ตกลงปลงใจแล้วว่า จะเปิดกว้าง ในเรื่องกรอบเวลาในการแก้ไข และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

แทนที่จะเร่งรัดให้สำเร็จอย่างเร็วไวสะใจโก๋

จาก "ละครหลังข่าว" กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว

ข้อเสียของการตัดสินใจเช่นนี้ มีอาทิ เท่ากับยืดเวลาให้ระบบและกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2550 ดำเนินต่อไป

โอกาสที่จะเกิดความไม่เป็นธรรม เกิดลักษณะ 2 มาตรฐาน อันเป็นลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงยังมีอยู่

เท่ากับเปิดโอกาสให้มี "เหยื่อ" เกิดขึ้น จากระบบดังกล่าว

แม้แต่รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเองก็มีโอกาสสูง ที่จะเป็นเหยื่อของระบบที่ว่า

ข้อดีของเวลาที่มากขึ้น คือการเปิดโอกาสให้ 2 ฝ่ายได้ชี้แจงแสดงเหตุผลอีกครั้ง


ก่อนจะมีการลง "ประชามติ"

สำหรับ ผู้ที่เห็นว่า ควรแก้ไขหรือยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะที่มาจากเผด็จการ เพราะร่างโดยสภาที่แต่งตั้งโดยคณะทหาร ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549

จะเป็นโอกาสในการนำเอาเนื้อในของรัฐธรรมนูญมาตีแผ่ต่อประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นประเด็น การสร้างเครือข่ายอำนาจบนรากฐานของระบบราชการ ให้เผชิญหน้ากับฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

การนิรโทษกรรมให้ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งในอดีตและอนาคต ในมาตรา 309

ใครได้ "โบนัส" พิเศษจากรัฐธรรมนูญ 2550 และส่งผลอย่างไร ต่อสภาพการเมือง

รวม ถึงเรื่องบอกเล่าต่างๆ เช่นที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา กล่าวระหว่างต้อนรับแขกที่มาอวยพรปีใหม่ 2556 ว่า ก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550

ก็มีคนมาขอให้พรรคชาติไทย ลงมติสนับสนุนไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขหรือยกเลิกภายหลัง

ขณะที่ ฝ่ายผู้นิยมรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งในและนอกสภา ก็จะมีเป็นโอกาสเพื่ออธิบายถึงความประเสริฐ ของรัฐธรรมนูญ 2550

เป็นจังหวะที่จะได้พูดอย่างเต็มที่ว่า พวกเขาได้ดิบได้ดีอย่างไร ตลอดเวลาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

และประชาธิปไตยของประเทศไทยเบ่งบานอย่างน่าพอใจอย่างไร ด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผลจากการขยายเวลาออกไป อีกประการหนึ่ง คือลดอุณหภูมิจากความขัดแย้งในเรื่องรัฐธรรมนูญ

เป็นท่าที "ประนีประนอม" ที่สอดคล้องกับท่าทีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่กล่าวกับผู้นำเหล่าทัพก่อนหน้านี้

ขอให้คนไทยยอมรับความแตกต่าง ความเห็นต่างของคนในชาติเดียวกัน

ว่าเป็นความเห็นต่างระหว่างมิตร

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นโอกาสที่ที่ "ความเห็นต่าง" จะได้ทำงานอย่างเต็มที่

ทีนี้ก็ขึ้่นกับว่า ความเห็นของใครจะมีเหตุมีผล มีลักษณะเป็นสัจจะมากกว่ากัน

และใครจะอธิบายเรื่องราวไปสู่ประชาชนได้ดีกว่ากัน

เพื่อให้ "ประชามติ" ที่จะเกิดขึ้น สะท้อนความเห็นจากประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ

และเพื่อให้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน


(ที่มา)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น