หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุม...ศิลปะ”

เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุม...ศิลปะ”


โดย รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา

"ธเนศ วงศ์ยานนาวา" ที่ Book Re:public "ถ้าคุณอยากมีเสรีภาพจริงๆ (100%) ผมแนะนำให้คุณไปนิพพาน"
 

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2556 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “การควบคุม...ศิลปะวิทยากรโดย รศ.ธเนศ วงศ์ยานาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ธเนศ วงศ์ยานาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการให้ดูรูปปั้นที่ชูนิ้วกลางหน้าศาลากลางเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีของศิลปิน Maurizio Cattelan พร้อมกล่าวทักทายว่า “F*ck you” และสวัสดีด้วยคำว่า “เย็ดแม่” แล้วอธิบายต่อว่า สิ่งที่ทำไปมันเป็นรูปแบบ (Form) และเนื้อหา (content) ของการนำเสนอ





รูปปั้นที่ชูนิ้วกลางหน้าศาลากลางมิลานของ Maurizio Cattelan

คนที่เรียนศิลปะถามตัวเองว่าคุณทำงานแบบนี้ในประเทศไทยได้ไหม ปัญหาที่จะพูดไม่เกี่ยวกับศิลปะแต่เกี่ยวกับตัวเราเอง ไม่มีใครมาเปิดงานแล้วพูดกับคุณว่า “เย็ดแม่” เพราะมันไม่ใช่คำทักทาย คำพวกนี้ถูกควบคุมให้ไม่ควรจะอยู่ในที่สาธารณะ เพราะไม่สุภาพ

ทำไมเราทำศิลปะแบบนี้ไม่ได้ มันเหมือนอะไรหลายอย่างในประเทศนี้ที่เราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่ใครหลายคนคิดว่า ทำไมเราไม่มีเสรีภาพในการพูดนั้น อยากลองให้ถามตัวเองดูก่อนว่า สิ่งที่สังคมตะวันตกหรือแม้กระทั่งสังคมไทยถือว่ามีเสรีภาพมากที่สุด (อย่างศิลปะ) แต่ทำไมกลับไม่มีงานแบบนี้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในเมืองไทย

รูปต่อมา คนทำงานศิลปะน่าจะรู้จักดีเป็นผลงานของ Maurizio Cattelan คือรูป Matthew วิ่งชน Pope John Paul II 




รูปภาพนี้พยายามจะบอกว่า พระเจ้าเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ถึงคุณจะจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแค่ไหนก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าก็พร้อมที่จะขายคุณ เพราะถึงขนาดคนของพระผู้เป็นเจ้าก็ยังถูกพระเจ้าส่ง Matthew มาพุ่งชน เหมือนกับเอ็มพร้อมที่จะขาย เจมส์บอนด์ใน Sky fall

ในหนังเรื่อง Sky fall สะท้อนให้เห็นว่า เราต้องสละเลือดทุกอย่างเป็นชาติพลี ผ่านฉากที่ผู้หญิงถามเจมส์บอนด์ว่า “มึงโกรธกูไหม” เจมส์บอนด์ก็ตอบว่า “ไม่โกรธ”


เพราะฉะนั้น สองสิ่งในโลกตะวันตกที่คุณควรจะไว้ใจที่สุด คือพระผู้เป็นเจ้ากับรัฐ แต่สองสิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้เพราะพร้อมที่จะขายคุณตลอดเวลา เขาต้องการความจงรักภักดีจากคุณ แต่เขาพร้อมจะขายคุณตลอดเวลา

เมื่อกลับมามองโครงสร้างนี้ เราจะไม่มีวันทำสิ่งพวกนี้ในประเทศไทย ตนพยายามชี้ให้เห็นว่านี่คือโครงสร้างที่กำลังดำรงอยู่ ที่ไม่ใช่เฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเรา



อีกรูปหนึ่งคืองานของ Andres Serrano ที่มีชื่อว่า Piss Christ หรือ พระเยซูอยู่ในน้ำฉี่
หากลองจินตนาการดูว่า เอาสิ่งที่คุณเชื่อมาแสดงแบบนี้ในประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราไม่มีงานแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะพูดในวันนี้ว่า มันไม่ใช่แค่รัฐที่ออกกฎต่างๆ ให้เราทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างเหมือนหนังสือ “Do and Don’t in Thailand” ที่เรามักเห็นตามร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งสื่อว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำในเมืองไทย เหมือนกับสิ่งที่เราไม่ควรทำในสังคมมุสลิม คงจำได้กรณีนักหนังสือพิมพ์เดนมาร์กวาดรูปการ์ตูนพระอัลลอฮ์หัวระเบิด จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุณคงไม่ทำสิ่งเหล่านี้ในประเทศมุสลิม เพราะฉะนั้นมันมีอะไรบางอย่างที่เราจะไม่ทำในแต่ละประเทศ ทำไมเราถึงไม่ทำ เราทุกคนมักจะตอบว่าเรากลัว แต่ตนคิดว่าไม่ใช่

“ผมไม่คิดว่าเป็นเพียงแค่ความกลัว คุณลองนึกภาพว่าสมมุติเราเป็นศิลปิน แล้วเลียนแบบ Andres Serrano โดยปั้นรูปพ่อของคุณแล้วใส่ลงไปในถังฉี่ แล้วก็แถลงการณ์ แน่นอนว่าทุกคนคงคิดว่าคุณไม่เคารพพ่อคุณ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีกฎหมายใดทั้งสิ้นมาห้าม สำหรับผมสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของเรา ถึงแม้คุณจะไม่มีกฎหมายห้าม คุณก็ไม่อยากทำ เพราะเราเชื่อว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เราจะต้องเคารพยกย่อง และโดยอัตโนมัติเราจะควบคุมตัวเราเอง ไม่ใช่กฎหมาย เป็นชุดความคิดอะไรบางอย่างที่เราถูกควบคุม”

หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับฝ่ายซ้ายที่เล่าเรื่องชีวประวัติของตัวเอง ที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือว่า ฝ่ายซ้ายในอดีตที่เราคิดว่าจะมีระบบคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ฝ่ายซ้ายพวกนี้นิยมชมชอบที่สุดกลับเป็นเครื่องรางของขลัง นั่นแสดงว่าในสมองเราที่เติบโตขึ้นมาในสังคม เราได้ฝังอะไรบางอย่างเข้าไปไว้เรียบร้อยแล้ว และสิ่งพวกนี้เป็นตัวเลือกสรรให้เราเชื่อหรือทำอะไรบางอย่าง

ชีวิตในสังคมไทย เรามีกลไกอัตโนมัติที่เราจะทำอะไรบางอย่าง และไม่ทำอะไรบางอย่าง กลไกแบบนี้จะเป็นตัวจัดระเบียบชีวิตเรา จัดระเบียบผลงานของเรา (ไม่เฉพาะคนที่เป็นศิลปินเท่านั้น ศิลปินเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยกให้เห็นถึงความชัดเจน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เรารู้ว่าคนๆนี้ เราควรพูดหรือไม่พูดอะไรกับเขา เป็นต้น และสิ่งพวกนี้แปรผันไปตามสถานภาพของคุณในสังคมไทย มันทำให้การอธิบายตัวตนของคุณมีปัญหาทันที เมื่อคุณเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ เช่น การที่เรามีสรรพนามเรียกตัวเองอย่างมากมายมหาศาลในสังคม ซึ่งมีลำดับชั้น ทั้งแนวตั้งแล้วแนวนอน และเคยทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์มีปัญหามาแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกตนเองว่า ดิฉัน เดี๊ยน หนู ปู หรือข้าพเจ้าดี ใช้คำไหนก็วุ่นไปหมด

สำนึกตัวตนที่ผูกกับลำดับชั้นที่แปรเปลี่ยนไป มันทำให้ตัวตนของคนไทยไม่ค่อยตายตัวเท่าไร (แต่ก็ไม่หมายความว่าตัวตนของฝรั่งนั้นตายตัว) คำสรรพนามที่มีมากมาย มันทำให้มาตรฐานในการปฏิบัติเยอะไปด้วย เพราะฉะนั้นสังคมไทยไม่ได้มี “Double standard” แต่มี “Multiple standard” ที่คนทุกคนพร้อมที่จะใช้สิ่งนี้กับคนที่เราเผชิญหน้าในลักษณะที่แตกต่างตลอด เวลา โดยสายสัมพันธ์ “คนนอก” “คนใน” “สูง” “ต่ำ” ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มันทำให้คุณวางตัวเองกับคนอื่นในลักษณะที่แตกต่างออกไป และเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการที่คุณจะควบคุมตัวคุณเอง รู้ว่าควรจะพูดอะไรหรือทำอะไรกับใคร

คำสรรพนามเหล่านี้ก็เป็นคำที่เราเปลี่ยนตลอด แม้กระทั่งระดับความสัมพันธ์ของเราด้วยกัน เช่น ฉัน แก ข้า เอ็ง ผม คุณ ฯลฯ คุณคงไม่พูดคำว่า “ผม”กับเพื่อนสนิทของคุณ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่คุณจะควบคุมในสิ่งที่เราจะไม่ทำ เพราะเราจัดระเบียบก่อน

คนต่างประเทศหรือคนที่เข้ามาในสังคมไทยจะเข้าใจสายสัมพันธ์นี้ได้ยากมาก เพราะเขามาจากตัวตนที่วัดด้วยมาตรฐานของการเป็น “I” ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียว จึงทำความเข้าใจโครงสร้างแบบนี้ได้ยาก
ทำไมโครงสร้างแบบนี้ถึงไม่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก

หากสังเกตดูจะพบว่า ในห้องนี้ ไม่มีใครชื่อสารีบุตร, โมคคัลลานะ แต่ฝรั่งมีชื่อภายใต้ Saint (นักบุญ) ทุกคนเช่น แมธทิว,จอห์น, ลุค (ยกเว้นคนรุ่นใหม่ที่ชื่ออาจจะแตกต่างออกไป)

เหตุผลสำคัญอันหนึ่ง คือในตอนคริสต์ศาสนาขึ้นมามีอำนาจ ต้องเผชิญหน้ากับศาสนาจำนวนมากเช่น ยิว อิสลาม ซึ่งต้องทำให้นอกใจศาสนาตนไม่ได้ คนในกรีกโบราณหรือโรมันตอนต้น ศาสนายังอยู่ในโครงสร้างของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอยู่ คนจำนวนมากยังเชื่อเรื่อง horoscope จึงตั้งชื่อให้กับดวงดาว

การตั้งชื่อให้ผูกกับดวงดาว ก็คือคุณไม่เชื่อในพระเจ้า ฉะนั้นคริสต์ศาสนาจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะเท่ากับคุณไปเชื่อในสิ่งอื่น คริสต์ศาสนาทำลายสิ่งพวกนี้ กำหนดให้ตัวตนของคุณมีอันเดียว มีเพียงคุณกับสิ่งสูงส่ง จะเป็นบ่าวสองนาย หรือสองฝั่งฟ้าไม่ได้

ด้วยโครงสร้างนี้มันก็ล็อคคุณ ไม่ให้คิดหรือทำอะไรอย่างอื่น และสิ่งที่สำคัญในโครงสร้างนี้ เมื่อคุณเชื่อในพระผู้เป็นเจ้านี้ ก็ต้องปฏิบัติตาม จะไปชื่อศิวะ อิศวร ซูส จูปิเตอร์ ไม่ได้ คริสต์รับไม่ได้ เพราะมันคือการทรยศ ต่อมาเมื่อพระผู้เป็นเจ้าสามารถควบคุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งการตั้งชื่อ ก็ต้องตั้งภายใต้โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น พอล ลุค จอห์น ฯลฯ

ในโครงสร้างของคริสต์ศาสนา พระเจ้าสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่คุณเข้าถึงฟิสิกส์หรือกฎธรรมชาติ ก็คือการเข้าถึงโลกของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่มีทางเข้าถึงพระเจ้า พระเจ้าไม่เคยปรากฏร่างให้คุณเห็น

การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสต์ศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสต์ศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็น ศาสตร์ขึ้นมาได้

ในแง่ปรัชญา เมื่อผนวกกับกรีกเข้าไปแล้ว ซึ่งบ้าคลั่งหลงใหลกับการแสวงหาความจริง ซึ่งคนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสต์ศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงเห็นคำพูดของคุณสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ว่าคุณจะรู้ไปทำไม 19 ก.ย.ใครเป็นคนสั่ง รู้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า คำพูดแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด สถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือบีโอไอก็เคยกล่าวว่าจะไปหาแสวงหาผู้กระทำผิดในปี 2540 (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ทำไมไม่มีประโยชน์ มันเกิดไปแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปอีก

คำพูดแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เป็นสิ่งที่มีมาตลอด และโครงสร้างแบบนี้จะได้ยินผ่านคำพูด “เฮ้ย เรื่องนี้เป็นเด็ก อย่าไปรู้เลย” หรือ เรื่องราวในการประชุมคณะ ไม่มีอาจารย์มาบอกให้คุณฟังเพราะถือว่าเป็นความลับทางราชการ แม้อาจารย์จะเสรีนิยมขนาดไหนเขาก็ไม่เคยมาเล่าให้คุณฟัง

ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา การรู้ความจริงมันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ และความจริงนั้นๆ บางอันอาจจะเป็นภัยต่ออะไรหลายๆ อย่าง เช่นกรณีอ.มูราชิม่า ขอถ่ายเอกสารที่กรมพระสมมุติ (เลขาฯ ของรัชกาลที่ 5) บันทึกประจำวันไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงรู้ก็สั่งไม่ให้ถ่าย โดยอ้างว่า ของสำคัญทางราชการที่ชาวต่างชาติไม่ควรจะได้ไป

ที่ยกตัวอย่างมามีสองมิติ มิติหนึ่งคือ ความจริงไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ และความจริงมีลำดับชั้นของมัน ที่คุณจะเข้าถึงได้ ซึ่งอันนี้ก็จะสัมพันธ์กับสรรพนามที่ยกมาว่า ตำแหน่งแห่งที่ของคุณในสังคมเป็นสิ่งกำหนดว่าคุณควรจะรู้หรือไม่รู้อะไร ดังที่อดีตผอ.สันติบาลในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ พลตรี ตรีทศ รณฤทธิ์ชัย ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ว่าเอกสารลับทางราชการนั้นมีแต่ผู้มีบุญที่จะได้อ่าน

การจัดระเบียบทางการเมือง และจัดระเบียบศิลปะ ที่เราทุกคนพร้อมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ไม่ใช่เพราะว่ากลัว ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในสมองของเราเลย แต่รู้สึกว่าทำแล้วมันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม สังคมไทยมีอะไรบางอย่างที่มากกว่ากฎหมาย ที่ควบคุมระบบคิดของเรา ไม่ให้เราไปไกลกว่านั้นได้ เราเป็นคนที่จัดการตัวเราเอง เพราะชุดความคิดของเราพวกนี้ ทำให้เราไม่สามารถจะไปไกลไปกว่านี้ได้

แต่ฝรั่งที่ทำศิลปะอย่างในรูปที่ยกมา ก็ไม่ได้ทำให้คนในสังคมนั้นมีความสุข ทำแล้วถูกด่าอย่างมาก แต่เขาพร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งพวกนี้ มันมีพื้นที่แบบนี้อยู่ เนื่องจากการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ตะวันตก เริ่มด้วยการเอาพระผู้เป็นเจ้าลงก่อน ตั้งแต่ศตวรรษ 17 ศาสนายังมีอำนาจในการยึดกุมความจริง (และอย่างที่บอกความจริงกับพระเจ้ามันไปด้วยกัน) และเมื่อมันถูกท้าทายจากวิทยาศาสตร์ จนถึงปลายศตวรรษ 19 พระเจ้าถึงตาย สิ่งที่สูงสุด ทำให้สิ่งที่ต่ำลงมาไม่มีความหมาย

จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ของเรา เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้ เราไม่มีชุดวิธีคิดแบบนี้ เพราะวิถีชีวิตของเราไม่ได้ถูกควบคุมจากศาสนา ในแบบ enforce แบบที่คริสต์กระทำ ที่เข้ามายุ่งกับชีวิตประจำวัน เช่น การสารภาพบาป (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันประสบความสำเร็จในตะวันตก มันก็ล้มเหลว)
ชุดความคิดนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะ หลายคนคิดว่าเราไม่มีเสรีภาพในหลายๆด้าน แต่ตนไม่อยากจะพูดว่ามันเกี่ยวกับเสรีภาพ มันเป็นสิ่งซึ่งคนละชุดความคิด

ชุดความคิดที่ว่าคุณมันคือไพร่ มีลำดับชั้นของมัน และคุณควรจะปฏิบัติตัวให้ตรงตามฐานันดรของมัน นี่คือการจัดระเบียบของเรา เราถูกควบคุมตลอดเวลา และอันนี้เป็นศิลปะแห่งการควบคุมอย่างหนึ่งในสังคมไทย เมื่อเราเกิดมาแล้วก็ถูกจัดระเบียบไว้

“ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า คนที่คิดที่จะสู้ จะต้องสู้อีกยาว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสู้ ก็คือ สู้กับตัวเราเอง สำหรับผมมันอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ”

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/01/44535

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น