หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คนงานจัดเวทีหลังขึ้นค่าแรง 300 ‘พิชิต’ ชี้ขึ้นทั่วประเทศกระทบ แต่เข้าใจได้

คนงานจัดเวทีหลังขึ้นค่าแรง 300 ‘พิชิต’ ชี้ขึ้นทั่วประเทศกระทบ แต่เข้าใจได้

 

 

24 ก.พ.56 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่ง ประเทศไทย(สพท.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทำไมกลุ่มทุนบางกลุ่มถึงคัดค้านการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ”

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า  การที่ประเด็นเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นที่ฮือฮาเพราะสื่อหลักที่เลือกข้างมีส่วนอย่างสำคัญในการโจมตี ประเด็นนี้แยกไม่ออกจากความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ ทำให้ต้องแยกแยะการโจมตีเรื่องนี้ให้ดี คนที่ออกมาต่อต้านนโยบายนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ฝ่ายต่อต้านทักษิณและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีวาระล้มรัฐบาลอย่างเดียว กับกลุ่มที่เดือดร้อนจริงจากนโยบายนี้ ซึ่งกลุ่มที่เดือดร้อนก็มักเป็น SMEs  อย่างไรก็ตาม ทุนใหญ่เป็นทุนที่หากินกับอำนาจเก่ามายาวนาน มักเห็นลูกจ้างไม่เป็นคน เช่นกลุ่มที่ผลิตสินค้าประจำวันทั้งหลาย ทุกวันนี้ยังจ้างคนงานเป็นรายวันอยู่  ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อยู่เลยปริมณฑลออกไป แต่เดิมค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 240 กว่าบาท การขยับขึ้นเยอะและถ้วนหน้าอาจทำให้เขาลำบาก  

เขากล่าวด้วยว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น โดยหลักการต้องทำอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2540-2556 เฉลี่ยแล้วค่าจ้างขั้นต่ำของคนไทยขึ้นปีละ 1.9% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ทั้งที่เงินเฟ้อในแต่ละปีอยู่ที่ 2-4% ค่าครองชีพขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างขั้นต่ำโดยตลอด หมายความว่า คนงานไทยได้รับค่าจ้างต่อวันน้อยลงในความเป็นจริง เหตุนี้หลายปีมานี้คนงานจึงต้องทำโอทีกันเยอะมาก


“จีดีพี มีอัตราการเพิ่มประมาณ 4.1% รายได้เฉลี่ยคนไทยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ตกกับอาชีพอื่น คนงานรับค่าจ้างได้เค้กนิดเดียว ดังนั้นในทางหลักการ เศรษฐกิจไทยโตขึ้นบนหลังของคนงานและชาวนา” พิชิตกล่าวและว่า การขึ้นค่าแรงจำเป็นต้องขึ้นและควรขึ้นให้เร็ว เพื่อชดเชยกับที่แรงงานไม่ได้รับตลอด 16 ปีมานี้ เรียกว่าเป็นการคืนรายได้ที่ควรได้กับคนงาน  ไม่ใช่ “การให้” หรือ “การสงเคราะห์”

พิชิตระบุว่า ปัญหาจะเกิดในจังหวัดห่างไกลที่ค่าจ้างขั้นต่ำยังต่ำมากๆ บางแห่งอาจไปไม่รอด ก็เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้น และการขึ้นพร้อมกัน แรงงานทั่วประเทศมีข้อดีในแง่แรงงานในต่างจังหวัดก็ไม่ต้องอพยพเข้าเมือง ใหม่ และมีความง่ายในการบริหารจัดการ แต่ข้อเสียก็มี เพราะสภาพเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ลักษณะงานไม่เหมือนกัน แรงงานหลายที่ยังเป็นภาคเกษตร เขาอาจหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติ ไม่อยากจ้างคนไทย อาจเกิดสภาพที่ลูกจ้างคนไทยยอมรับสภาพในการรับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด แต่จังหวัดใหญ่ๆ ไม่มีปัญหา ต่ำกว่าความเป็นจริงและขาดแคลนแรงงาน

ความจริง วิธีการที่ดีกว่า แต่อาจไม่ทันใจและไม่ได้คะแนนเสียง คือ การทยอยขึ้น และการบริหารจัดการก็ยาก มีปัญหาความเสี่ยงว่า ถ้าเปลี่ยนรัฐบาล ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคอื่นอาจยกเลิก มันจึงเป็นเหตุผลทางการเมือง

“ผมก็เตือนไปว่า คุณขึ้นอย่างนี้ผมเข้าใจเหตุผล ว่าเป็นความจำเป็นทางการเมืองให้ได้คะแนนเสียง และได้ขึ้นจริงก่อนจะถูกล้ม แต่ขึ้นแบบนี้ต้องถูกด่าเยอะแน่ เขาก็ยอม คนได้ประโยชน์และครั้งหน้ามาเลือกเพื่อไทย” พิชิตกล่าวและว่า กลุ่มที่เดือดร้อน เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องช่วย ถ้าไม่พอคนที่เดือดร้อนก็โวยวายต่อไป รัฐบาลก็ต้องช่วยเขา

แต่กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่ต่อต้านนโยบาย หากินกับทุนศักดินามาเป็นร้อยปี พวกนี้คือพวกเห็นแก่ตัว ขูดรีดคนอื่นจนเคยตัว ต้องแยกแยะและประณาม วิจารณ์พวกนี้ 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จาก มธ. กล่าวด้วยว่า ทุนไทยรวมตัวกันในสามองค์กรหลัก สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมนายธนาคารไทย และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อรัฐบาลทุกชุดรวมถึงหน่วยราชการที่เขา สัมพันธ์ด้วย ข้าราชการระดับสูงจะทำอะไรต้องขอความเห็นจากพวกนี้ ผู้บริหารระดับสูงของสามหน่วยงานนี้ยังมีผลประโยชน์เยอะมาก เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐ ที่สำคัญคือ นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจชุดต่างๆ ด้วย ตอนคณะรัฐประหารยึดอำนาจและแต่งตั้ง สนช. ตัวแทนของ 3 หน่วยงานนี้ก็เข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติไม่น้อย และยังมีตัวแทนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่  กกร. ไม่มีประชาชน มีแต่กลุ่มทุนและหน่วยงานรัฐระดับจังหวัด กลายเป็นองค์กรที่คลุมนโยบายเศรษฐกิจของทุกจังหวัด นี่เป็นโครงสร้างที่เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกับ ครม.เลย เป็นภาคราชการสนธิกับกลุ่มทุน โดยปกติภาคการเมืองแทบจะสั่งอะไรไม่ได้

“พรรคไทยรักไทยทำเรื่องนี้เหล่านี้ได้เพราะถือว่าตัวเองได้รับการสนับ สนุนจากประชาชนสูง แต่ทำไปทำมาก็โดนทุนเก่าและราชการต่อต้านและถูกรัฐประหารโค่นล้ม รัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาก็หน่อมแน้มนิดหนึ่ง ดูทางหนีทีไล่ก่อนค่อยทำ หลายอย่างก็ไม่ค่อยสะใจเราเท่าไร เพราะเขาคิดจะอยู่นานๆ ค่อยๆ สร้างผลงาน ถ้าคะแนนนิยมดีๆ การเอาตุลาการและทหารมาล้มก็จะยากหน่อย” พิชิตกล่าว

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบทางลบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเกิดมากในปีนี้ แต่ปีหน้าและปีต่อไปซึ่งไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นนี้แต่เป็นระบบปกติ ธุรกิจจะค่อยๆ ปรับตัว เศรษฐกิจก็จะโตได้ปกติ ทราบมาว่าเหตุที่รัฐบาลประกาศนโยบายเช่นนี้เพราะต้องการบีบให้ภาคธุรกิจไทย ปรับตัว ไปใช้แรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น  

เซีย จำปาทอง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย(สพท.) ซึ่งเป็นองค์กรจัดงาน กล่าวถึงสถานการณ์ของคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอภายหลังบังคับใช้นโยบายขึ้นค่า แรงขั้นต่ำว่า หลังจากประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศยังไม่มีสมาชิกของ สพท. ถูกเลิกจ้าง แต่มีปัญหาเรื่องการลดสวัสดิการ เช่น การลดเบี้ยขยัน เงินเป้าการผลิต เป็นต้น ต่างจากช่วงน้ำท่วมปี 54 นั้น มีคนงานที่เป็นสมาชิก สพท. ถูกเลิกจ้างประมาณ 2,000 คน เช่น สหภาพแรงงานซินแพ็ค และ สหภาพแรงงานอินโดไทย จากจังหวัดอยุธยา รวมถึงการมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ในกรณีสหภาพแรงงานเทยิน โพลีเอสเตอร์ เป็นต้น

เซีย กล่าวต่อด้วยว่า โดยปกติสมาชิก สพท. หรือคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้า ปกติจะมีการเลิกจ้างอยู่ทุกปี โดยนายทุนบางคนก็อ้างเรื่องขาดทุน ไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนอื่นๆ ได้ ไม่มีคำสั่งซื้อ โดยกรณีที่มีการเลิกจ้างมากเป็นพิเศษ เช่น ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 การยกเลิกโควตาสิ่งทอปี 47 ซึ่งเป็นโควตาพิเศษจากประเทศคู่ค้า หลังการยกเลิกก็ใช้ระบบเปิดเสรีจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของแต่ ละธุรกิจ นอกจากนี้สาเหตุที่มักพบบ่อยมากของสมาชิก สพท. คือการเลิกจ้างเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน เช่น กรณี สหภาพแรงงานเซนจูรี่เท็กซ์ไทล์ ที่อยู่ในกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า บริษัทได้มีการีปิดการผลิตไปสักพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็มีการจ้างคนงานเดิมกลับเข้ามาทำงาน และมีข้อตกลงว่าจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมสหภาพแรงงานด้วย ดังนั้นจึงมองว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นการมุ่งหวังที่จะทำลายสหภาพฯ

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/02/45480

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น