หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

‘นิธิ’ วิเคราะห์ชนชั้นนำ-ทักษิณ-คนชั้นกลางระดับล่าง เสนอเสื้อแดงจัดองค์กรเอง

‘นิธิ’ วิเคราะห์ชนชั้นนำ-ทักษิณ-คนชั้นกลางระดับล่าง เสนอเสื้อแดงจัดองค์กรเอง

"ดังนั้น ต้องจัดองค์กร เพื่อให้ข้อเรียกร้องได้รับการรับฟัง ไม่ใช่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดเวลา เช่น ขอไม่แตะมาตรา 112 จังหวะก้าวทางการเมืองเป็นเรื่องต้องตกลงกัน ไม่ใช่คิดเองฝ่ายเดียว"


21 ก.พ.56 ที่สถาบันปรีดี  ในงาน "นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ"  ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันแรก นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาในหัวข้อ "เสรีภาพ ประชาธิปไตยกับสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน"  ประชาไทเก็บความนำเสนอ

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ จัดโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย,กลุ่มกวีราษฎร์, กลุ่ม Real Frame, กลุ่ม FilmVirus, เครือข่ายศิลปินอิสระ เครือข่ายเดือนตุลา, เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ระหว่างวันที่ 21-28 ก.พ. ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ โดยมีกิจกรรมแสดงภาพวาด ภาพถ่าย บทกวี ศิลปะจัดวาง ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี อ่านบทกวี ปาฐกถา ฉายภาพยนตร์

นิธิกล่าวว่า

วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าใจเรื่องสังคมระยะเปลี่ยนผ่านคือ การย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
หลัง 2475 เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากกลุ่มเจ้าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการแบ่งหรือกระจายอำนาจในกลุ่มราชการโดยที่ประชาชนแทบไม่ได้มาเกี่ยว ข้องด้วย

ในระบอบราชการที่เข้ามาถืออำนาจ มีกองทัพเป็นผู้นำสำคัญทางการเมือง มาเปลี่ยนผ่านเมื่อ 2510 โดยกลุ่มที่เข้ามาแบ่งสรรอำนาจประกอบด้วย

1)กองทัพ และราชการ

2)สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น

3)กลุ่ม เทคโนแครต นักวิชาการที่รับราชการ ไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร แต่มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่ทำให้ผู้มีอำนาจในวงการเมืองรับฟังและอาจไปผลักดันนโยบาย

 4)กลุ่ม นักธุรกิจอุตสาหกรรม หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามายึดอำนาจได้เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาทำด้านธุรกิจเพิ่มมากขึ้น สิบปีผ่านไปกลุ่มนี้เติบโตกล้าแข็งขึ้น เริ่มอยากมีอิสรภาพเพิ่มขึ้นบ้างเพื่อที่จะสามารถผลักดันนโยบาย โดยเฉพาะการส่งออก

5)กลุ่มเจ้าพ่อ หรือผู้นำท้องถิ่นที่เติบโตมากับนโยบายพัฒนาด้านเกษตรเพื่อส่งออก ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้ให้เงินกู้ในชนบทคุ้มครองกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ชาวบ้านแทน รัฐไทย เริ่มเบนจากธุรกิจมุมมืดเข้าสู่แสงสว่างสลัวมากขึ้น เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน
หันมาทำธุรกิจโรงแรมบ้าง

6)กลุ่มแรงงานคอปกขาว เมื่อก่อนมีน้อยมาก แต่สิบปีแรกที่สฤษดิ์เข้ามามีอำนาจ มีการเปิดขยายการศึกษามากในช่วงนั้น
พร้อม กับการเติบโตขึ้นของธุรกิจอุตสาหกรรมเท่ากับเปิดตลาดงานให้กลุ่มคนที่มีความ รู้เฉพาะด้าน ทำให้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้คิดจะรับราชการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบเดิมที่มีแต่ราชการกับทหารได้ด้วย
การ ที่พวกเขาเข้าไปร่วมผลประโยชน์กับกลุ่มเก่าค่อนข้างสูง ธนาคารทุกแห่งช่วงนั้นล้วนมีนายพลเป็นประธานกรรมการทั้งสิ้น มีการแบ่งผลประโยชน์ให้ เทคโนแครตในราชการเองก็ให้คำแนะนำการเงินแก่นายพล พวกเขาไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อกัน แต่แบ่งปันผลประโยชน์กันในผู้มีอำนาจ
นอกจากนี้ ยังร่วมกันทางวัฒนธรรม โดยคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาระดับหนึ่ง ไม่ว่าเจ้าสัวเจ้าของธนาคาร ที่เรียนภาษาจีน ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา หรือคนไทยที่มีการศึกษา เทคโนแครตที่ไปเรียนต่อต่างประเทศก็รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา คนเหล่านี้มีการร่วมวัฒนธรรมสูง นับถือชื่นชมในระบบค่านิยมเดียวกับข้าราชการและทหาร


นอกจากนั้น คนกลุ่มใหม่นี้ยังยอมรับระบบ ในลักษณะที่ "เล่นเป็น" โดยเดิมสมัยที่เจ้าปกครองประเทศ ข้าราชการ-ทหารก็หากินกับคนจีนที่เป็นพ่อค้า การลงทุนร่วมกับฝรั่งตลอด ขอให้สังเกตว่า พอคนกลุ่มใหม่มาก็ไม่ได้ขัดขวางประโยชน์เดิมที่มีอยู่ของระบบราชการ ทหาร เคยโกงอย่างไรก็ให้มากขึ้น แม้จะมีธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ทำท่าต่อต้านคอร์รัปชั่น
แต่ก็เป็นผู้จ่ายให้กับการคอร์รัปชั่นทั้งนั้น

หลังปี 2510 มีเสรีภาพแค่ไหน จะพบว่าเรามีเสรีภาพบางอย่างที่ประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเขียนใหม่กี่หน
ก็ จะมีบางอย่างที่เหมือนกันคือ ประกันเสรีภาพบางอย่างไว้ นั่นคือ ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์, ลัทธิเสรีนิยม,  เสรีภาพสื่อ และการที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะต้องคำพิพากษา

โดย สาเหตุที่ต้องประกันสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากกลุ่มผู้มีอำนาจเหล่านี้ยึดเอาการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในความมั่นคงของตัวเองด้วย ส่วนตลาดเสรีนั้นรักษาไว้เพื่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม พ่อค้า ส่วนการรักษาเสรีภาพสื่อ เพราะสื่อเป็นเครื่องมือเดียวที่คนคอปกขาวสามารถถือไว้ในมือได้ในการต่อรอง อำนาจทางการเมืองและการดูแลให้กระบวนการยุติธรรมดำรงอยู่ ก็เพราะในความเป็นจริง ฝ่ายบริหารสามารถจัดการได้ในระดับหนึ่งเสมอมา

แม้ฉีกรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง แต่การรับประกัน 4-5 ประการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลอดมา

หลักประกันที่จะอยู่ร่วมกันของชนชั้นนำไทย
เสรีภาพ เหล่านี้เป็นข้อตกลงในกรอบหนึ่งที่กลุ่มผู้มีอำนาจทั้งหลายตกลงว่าจะอยู่ ร่วมกันภายใต้กรอบนี้แล้วเรียกว่า ประชาธิปไตย เสรีภาพ ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับแรงงานอุตสาหกรรม ชาวนา หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย นี่คือเสรีภาพแบบไทย

สิ่งที่คู่กับประชาธิปไตยแบบไทย คือรัฐประหาร หากมองแบบหลักการรัฐประหารคือการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย
แต่มองแบบประชาธิปไตยแบบไทยแล้ว รัฐประหารเป็นกลไกทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ ในการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำ

การ ปล่อยให้เลือกตั้ง โดยที่รัฐสภามีบทบาทตัดสินใจน้อย หากปล่อยไว้ มันโตได้ ในที่สุดจะกลายเป็นกลุ่มที่สามารถมีอำนาจตัดสินใจเหนือชนชั้นนำกลุ่มอื่น ฉะนั้นจึงต้องมีกองทัพที่ทำรัฐประหารได้ไว้ในมือ เป็นเครื่องมือต่อรองแบ่งประโยชน์ในชนชั้นนำ ในแง่นี้ ประชาธิปไตยแบบไทยจึงขาดรัฐประหารไม่ได้

ขอให้สังเกตว่า รัฐประหารแต่ละครั้งไม่ได้เกิดจากกองทัพฝ่ายเดียว แต่มีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกองทัพ เข้ามาสนับสนุน เชียร์ให้เกิดขึ้น รัฐประหารปี 2490 มีรายงานระบุว่า เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปในกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ยังไม่ประกาศรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กลไกการเมืองนี้ใช้ประโยชน์ได้น้อยลง และจะน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุดในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า

ประมาณทศวรรษ 2530 เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่น่าสนใจ คนกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มากจากภาคการเกษตร ซึ่งไม่น้อยเคยทำเกษตรเพื่อยังชีพ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง หลายคนหันไปทำเกษตรเข้าตลาดโดยตรง มีการศึกษาสูงขึ้น ลูกอยู่ในโรงเรียนนานขึ้น ตัวพวกเขาเองก็มีการศึกษาสูงขึ้นจากการได้รับสื่อมากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนเหล่านี้เป็นคนชั้นกลางระดับล่างมีความคิดใฝ่ฝันแบบเดียวกับชนชั้นกลางใน เมือง แต่จนกว่า และมีจำนวนมาก

น่าสังเกตว่า อาจเพราะคนกลุ่มนี้อาจรับสื่อมากขึ้น ได้เรียนหนังสือจึงถูกครอบงำไม่มากเท่ากลุ่มที่เคยถูกกลืน ทั้งยังไม่สามารถผสานประโยชน์กับระบบได้มากเท่ากับคนกลุ่มหน้าใหม่เดิม เพราะระบบไม่เปิดให้เท่ากับที่เคยเปิดให้คนหน้าใหม่ในทศวรรษ 2510 เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เขาต้องการเข้าไปต่อรองเชิงนโยบายแทน

อย่างไร ก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องสิทธิประชาธิปไตย งานวิจัยของอภิชาติ สถิตนิรามัย ศึกษากลุ่มคนเสื้อแดงถามเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนเสื้อแดงบอกว่ารับได้ แต่คนที่รับไม่ได้คือคนเสื้อเหลือง

กลุ่มคน ชั้นกลางระดับล่างทุกวันนี้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและวัฒนธรรม เป็นปัญหามากกว่าทางเศรษฐกิจ เขาไม่แคร์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะหวังว่าวันหนึ่งจะไต่เต้าทางรายได้

ดังนั้นการที่คนกรุงเทพฯ เรียกเสื้อแดงว่า "ไอ้ควาย" มันเจ็บปวดมาก เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่น หรือยิ่งเมื่อมีการบอกว่า ต้องเลือกประชาธิปัตย์เพื่อไม่ให้ข้าศึกยึดเมืองหลวง ก็ยิ่งช้ำ

คนเหล่านี้เป็นพวกกบฏต่อระบบ แต่เป็นกบฏที่พร้อมจะประนีประนอม ไม่ได้ทำลายหลักการสำคัญของระบบนัก
อยู่ใต้รัฐบาลที่ไม่แคร์ต่อประชาธิปไตย คนติดคุก ก็อยู่กันได้ เพราะเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก
ลอง เปรียบเทียบคนเหล่านี้กับนักศึกษา สมัย 14 ตุลา จะเป็นคนละเรื่อง เพราะนักศึกษาเหล่านั้นเรียกร้องตามอุดมการณ์ที่เรียนรู้มาซึ่งน่ากลัวกับ นักธุรกิจอุตสาหกรรม เทคโนแครต คอปกขาว กระบวนการยุติธรรม เพราะเรียกร้องว่าทุกคนเท่ากันหมด ในแง่นี้เสื้อแดงจึงเรียกร้องความเสมอภาคแต่ยังไม่เท่ากับนักศึกษา 14 ตุลา

คน เหล่านี้ต่อรองเชิงนโยบายได้ผ่านเครื่องมือเดียวคือการเลือกตั้ง เขาพบว่า สามารถทำให้นักการเมืองทำตามสัญญาได้ โดยอย่างน้อยไม่ว่าดีหรือไม่ ทักษิณก็ทำตามที่สัญญาไว้

แม้ชนชั้นกลางรุ่นใหม่นี้จะเล่นการเมืองเชิงเลือกตั้ง แต่ไม่มีกลไกควบคุม ครั้งที่แล้ว มีขึ้นโดยบังเอิญเช่น
กรณี หมู่บ้านเสื้อแดง ที่ชาวบ้านใช้วิธีปักธงแดงกันเอง ซึ่งจากการได้คุยกับชาวบ้านในเชียงใหม่ การปักธงแดงทำให้ราชการในพื้นที่ไม่กล้ายุ่ง ทำให้พวกเขาได้อำนาจใหม่โดยตัวเขาเอง เป็นการจัดองค์กรหยาบๆ ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจจัดองค์กรเพื่อใช้ประโยชน์จากการเลือกตั้งได้ ทำให้ต้องยึดติดกับพรรค ตัวบุคคลและง่ายจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรค-บุคคลได้ง่าย

การตอบสนองของชนชั้นนำรุ่นเก่าต่อการเกิดขึ้นของคนกลุ่มใหม่
ด้าน ชนชั้นนำรุ่นเก่าไม่สามารถกลืนคนกลุ่มนี้ได้อย่างที่เคยกลืนคนกลุ่มเดิมอีก แล้ว พวกเขาแทบไม่สำนึกถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางระดับล่างเลย

ในวิกฤตเศรษฐกิจ 40 รัฐบาลไม่ว่าชวนหรือทักษิณเอาเงินไปช่วยกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน ช่วยบริษัทใหญ่ ธนาคาร
แต่ไม่ช่วยคนที่ต้องกลับบ้านไปภาคเกษตรและภาคเกษตรเลย แทนการสนับสนุนคนเล็กๆ ที่เกิดใหม่
รัฐบาล ทุกชุดกลับพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญานี้ถูกตีความโดยรัฐบาลทุกชุดให้กลายเป็นอุดมคติที่ไม่สอดคล้องกับความ เป็นจริง จะใช้กับการผลิตในตลาดได้แค่ไหน ไม่รู้ แต่ถูกเน้นเรื่องเกษตรยังชีพ ซึ่งตอนนี้อาจเหลือแต่กะเหรี่ยง ขณะที่คนไทยหลุดออกไปจากระบบนี้หมดแล้ว

ขณะที่ธุรกิจสมัยใหม่อย่าง ธนาคาร ธุรกิจใหญ่ๆ มีการประกันความเสี่ยงแต่กลไกคุ้มกันความเสี่ยงของคนเล็กๆ ไม่มีเลย การหันไปเน้นเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านั้นรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง

สิ่ง ที่พรรคไทยรักไทย หรือคุณทักษิณทำ คือการเบนทรัพยากร งบประมาณไปสู่คนชั้นกลางระดับล่างมาก ไม่ว่าทุนการศึกษา (แม้ว่าไม่ให้ผลมากทางปฏิบัติ) หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

ถามว่าท้องถิ่นต่างๆ มีทรัพยากรอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณไหม ไม่เพราะยังแย่งกันระหว่างคนในท้องถิ่นกับคนในเมือง
ทักษิณ เองก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายคนเหล่านี้ แต่เบนงบลงไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเอ็นจีโอไม่ชอบทักษิณ เพราะเอ็นจีโอไม่ได้ต้องการงบประมาณ แต่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดรัฐประหารเมื่อ 2549

ทำไมคนเกลียดทักษิณ
สาเหตุ ที่กลุ่มชนชั้นนำเดิมไม่พอใจคุณทักษิณคืออะไร ทั้งที่เขาทำให้กลุ่มชนชั้นนำเดิมเยอะมาก และไม่ได้ทำให้บริการจากรัฐที่คนอย่างพวกเราได้ลดลงตรงไหน นั่นเพราะ

หนึ่ง การเบนงบประมาณทำให้ชนชั้นกลางในเมืองรู้สึกว่าเงินที่จะมาให้บริการแก่ตัวเอง เช่น ตัดถนน รถไฟฟ้า ลดลง

สอง ทักษิณเป็นนักการเมืองคนเดียวที่ลงไปจับกลุ่มคนที่นักการเมืองไม่เคยสนใจมา ก่อน คนที่นักการเมืองมองว่าถึงเวลาก็ซื้อได้ ซึ่งเดิม คนที่เคยลงไปก่อน คือพระเจ้าอยู่หัว ทักษิณได้ลูกค้าจากคนกลุ่มนี้มาก เท่ากับแย่งกลุ่มคนที่สนับสนุนของสถาบัน คำที่เขาถูกด่ามากๆ จากกลุ่มที่อ้างว่าจงรักภักดี คือจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งเท่าที่ทราบในทางสาธารณะ ก็น่าจะเป็นสาเหตุนี้

สาม กองทัพไม่ชอบ เพราะเข้าแทรกแซงกองทัพ
สี่ ระบบราชการไม่ชอบเพราะเมื่อเทียบกับชวน หลีกภัย ที่เป็น "ปลัดประเทศ" ทักษิณเป็นนายกฯ ที่กำกับระบบราชการ

ถาม ว่าทักษิณเป็นนักประชาธิปไตยไหม ไม่ใช่ เอ็นจีโอไม่ชอบ คนคอปกขาวไม่ชอบ เพราะแทรกแซงสื่อ เช่นให้โฆษณากำกับสื่อ สร้างศัตรูไว้หมด ทันทีที่มีการยึดอำนาจในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ จึงเฮ จากการที่ทักษิณสร้างศัตรูไว้โดยไม่จำเป็น

สิ่งเหล่านี้แสดงออกผ่าน การประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมา มีการเอาผ้าพันคอมาโชว์ในเชิงว่าสถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง มีกองทัพ นักวิชาการ คนชั้นกลางในเมือง เอ็นจีโอ ทุกฝ่ายที่เคยมีอำนาจต่อรอง ทำให้หลัง 19 ก.ย.49 คนเหล่านี้ไม่สามารถเป็นคนกลางๆ ได้อีก น่าเสียดายที่คนเหล่านี้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เพราะคนเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดการต่อรองโดยสงบได้

ขณะที่ นปช. หรือเสื้อแดง เกิดขยายตัวมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 โดยต้องการให้มีการเมืองแบบเลือกตั้งดำรงอยู่ ต่อรองใต้ระบบเลือกตั้ง แต่ก็เกิดการเผชิญหน้า ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไม่ผ่าน

ในการต่อรอง ชนชั้นนำเก่าใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ ใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือต่อรอง ใครไม่เห็นด้วยเป็นพวกล้มเจ้า ใช้ระบบยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือ ไม่อยากให้เกิดนโยบายอะไรก็ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ใช้สื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใช้มาตรา 112 ในการลงโทษใครก็ตามที่กำลังผลักดันการเปลี่ยนผ่าน

ผลคือ เราไม่มีอาญาสิทธิ์เหลืออยู่ ไม่มีใครเชื่อ ศาล สถาบัน พระ สังคมที่ไม่มีอาญาสิทธิ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงอำนาจทางกฎหมายและวัฒนธรรมอันตรายมาก เราจะรบฆ่ากันได้ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกันเหลืออยู่อีก
ต่อสู้โดยไม่มี เวที จะเกิดการเปลี่ยนผ่านได้ชนชั้นเดิมต้องปรับตัวเองมากกว่าที่ได้ทำไปเพื่อ กลืนชนชั้นกลางระดับล่างเข้ามาในระบบให้ได้ และต้องเสียบางอย่าง

แต่ น่าเสียดายที่ชนชั้นนำเดิมอยู่ในฐานะที่ปรับไม่ได้ เพราะขาดผู้นำกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มที่ใกล้ชิดผู้นำทั้งหลาย หรือ liberal royalist ก็ไม่กล้า เมื่อตอนรณรงค์ลงชื่อเพื่อขอแก้มาตรา 112 ตนเองได้ติดต่อผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ร่วมลงนาม ปรากฏว่าเขาบอกว่าไม่ร่วม ทั้งที่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าออกมาแสดงให้เห็นว่าต้องเปลี่ยน

นอกจาก นั้น องค์กรอิสระที่ไม่มีในกฎหมายจำนวนมากเช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย หมดพลังในการเสนอทางออก หรือสร้างเวทีต่อรองให้ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ต่อรองโดยสงบได้ ทีวีหรือสื่อ ไม่อิสระ หรือที่มีอิสระก็ไม่มีพลังพอจะทำสิ่งเหล่านั้นได้

นอกจากนั้น การปรับตัวต้องมีแผนชัดเจน กลุ่มที่มีแผนก็ถูกทำลายอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ทันทีที่เสนอ
อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์โดนชก ข้อเสนอถูกทำให้จมดิน ไม่ถูกรับฟัง พรรคเพื่อไทยก็ไม่ฟัง

เราไม่สามารถคุยได้ ถ้ายังไม่มีโมเดลว่าจะปรับอย่างไร เพราะไม่มีอะไรที่สามารถปรับเข้าหากันได้ เกิดความไร้ระเบียบ
สับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่าย

เวลา นี้ขบวนการเสื้อแดง เสื้อเหลือง กลุ่มที่ดันอำนาจต่อรองชนชั้นกลางใหม่ กลุ่มที่รักษาอำนาจกลุ่มชนชั้นนำเดิม เละหมด ฝ่ายชนชั้นนำเดิม ไม่มีใครกุมใครได้ พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มอะไรเอง มือกุมการริเริ่มหลุดไปอยู่กับกลุ่มต่างๆ
เช่น ปชป. ซึ่งเล่นแรง มีเป้าหมายคือชัยชนะทางการเมือง ไม่ใช่จุดยืนและผลประโยชน์ของชนชั้นนำทั้งหมด ถามคนที่นิยมเจ้าว่า รู้สึกไหมว่ากรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่า กรณี เสธ.อ้าย คำพิพากษาต่างๆ เละไปหมด ก่อให้เกิดผลเสียต่อชนชั้นนำเดิม

เสื้อแดงก็ไม่ไปกับพรรค เพื่อไทยทั้งหมด แกนนำแตกแยก ไม่มีการจัดองค์กร ทั้งนี้เห็นด้วยกับอ.เกษียร เตชะพีระ ว่า เมื่อชนชั้นนำเดิมแตก ตกเป็นฝ่ายตั้งรับในแง่ว่า ยอมให้การเมืองแบบเลือกตั้ง แต่มีบางอย่างที่ไม่ยอม เช่น มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอสู่การเปลี่ยนผ่าน
ในสภาวะเช่นนี้ มีข้อเสนอต่อกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง หรือกลุ่มคนที่เห็นว่าสังคมต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้ว่า
หนึ่ง ชนชั้นกลางระดับล่างต้องสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งกว่านี้ โดยดึงคอปกขาว ซึ่งเป็นกลุ่มคนมีการศึกษา ที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งก็ไปกันได้กับความต้องการสิทธิจากการเลือกตั้งของคนชั้นกลางระดับล่าง คนคอปกขาวไม่ได้อะไรจากระบบเดิมมากนัก แต่มีเครื่องมือดีคือสื่อในการต่อรอง แต่วันนี้พบว่าสื่อเครื่องมือเฮงซวยในการต่อรอง และคอปกขาวก็ก้าวสู่ธุรกิจ SME ซึ่งผลประโยชน์ใกล้กันมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องดึงศิลปิน นักเขียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดอิสระและนักวิชาการที่มีความคิดโน้มเอียงอยาก ให้สังคมเปลี่ยนผ่านให้ได้มาเข้าร่วม

สำหรับระบบราชการ มองว่า น่าจะไม่มีอะไรขัดกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงมากนัก หากแสดงให้เชื่อว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร เพราะระบบราชการต้องการอิสระ ไม่ได้ต้องการเป็นเครื่องมือใคร ถ้าระบบราชการเชื่อว่าเสื้อแดงไม่เกี่ยวเรื่องนี้ เชื่อว่าสามารถดึงระบบราชการมาเป็นพันธมิตรได้

สอง เสื้อแดงและชนชั้นกลางระดับล่าง ต้องคิดให้หนักขึ้นเรื่องการจัดองค์กร ถ้าไม่มีอะไรนอกจากการชักธงแดง
จะไปไม่รอด จะถูกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ดึงไปใช้ประโยชน์

ดังนั้น ต้องจัดองค์กร เพื่อให้ข้อเรียกร้องได้รับการรับฟัง ไม่ใช่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดเวลา เช่น ขอไม่แตะมาตรา 112 จังหวะก้าวทางการเมืองเป็นเรื่องต้องตกลงกัน ไม่ใช่คิดเองฝ่ายเดียว

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น