พวงทอง ภวัครพันธุ์: ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ต้องโทษฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน
ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ต้องโทษฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน กำลังทำให้ข้อเรียกร้องการนิรโทษกรรมบิดเบี้ยว ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่า พรรค ปชป.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
นัก วิชาการอิสระ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ก็เสนอว่าให้ออก พ.ร.บ. เป็นสองฉบับ ๆ แรกนิรโทษคนที่ทำความผิดเล็ก ๆ เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่วนคนที่โดนคดีอาญาอื่น ๆ ต้องมาดูอีกทีว่าจะให้นิรโทษหรือไม่
ก่อนที่ใครจะเสนออะไรนั้น ควรต้องทำความใจข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อน
ประการแรก บรรดาผู้ชุมนุม 1,019 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ในขณะนี้ พวกเขาได้พ้นโทษไปหมดแล้ว! (มีทั้งโทษปรับ จนถึงจำคุก 6 เดือน- 1 ปีครึ่ง)
คนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เป้าหมาย “เร่งด่วน” ของการเคลื่อนไหวให้นิรโทษกรรมที่นำโดยกลุ่ม “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง”
แน่ นอนว่า คนกลุ่มนี้ก็สมควรได้รับนิรโทษกรรม “ลบล้างความผิด” ให้กับพวกเขา เพราะข้อมูลที่ ศปช.รวบรวมขึ้นมา ชี้ว่าขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีมีปัญหามาก มีการซ้อมทรมานในระหว่างการจับกุม, เจ้าหน้าทีสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงภาพถ่ายในบริเวณที่ชุมนุม, ตำรวจจูงใจว่าหากรับสารภาพ ศาลก็จะรอลงอาญาเพราะโทษไม่สูง แต่ปรากฏว่ากลับถูกตัดสินจำคุกโดยศาลใช้เวลาพิจารณาไม่กี่นาที
ข้อหา ที่ติดตัวคนเหล่านี้จะกลายเป็นตราบาป สร้างความลำบากในอาชีพการงานให้กับพวกเขาอย่างยิ่ง จึงสมควรนิรโทษกรรมให้กับคนเหล่านี้ด้วย แต่มันเป็นการนิรโทษกรรม "ย้อนหลัง" ลบล้างความผิด ที่ยังพอรอกันได้
แต่เป้าหมาย "เร่งด่วน"ของการนิรโทษกรรม คือ ชาวบ้านธรรมดาที่ยังติดอยู่ในคุกอีก 20 คน ที่ โดนฟ้องด้วยข้อหาหนัก เช่น เผาทำลายสถานที่ราชการ เผาเซ็นทรัลเวิรล์ด ก่อการร้าย มีอาวุธในครอบครอง ก่อความวุ่นวาย บุกรุก ฯลฯ ในจำนวนนี้ ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว 18 คน ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 6-35 ปี ส่วนอีก 2 คนอยู่ในศาลชั้นต้น
ชะตากรรมที่ไร้อนาคตของคนเหล่านี้ต่างหากที่เรากำลังเรียกร้องให้นักการเมืองและสังคมหันมาเหลียวแล
การ บอกว่า “คนเผา” ไม่สมควรได้รับนิรโทษกรรม ก็เป็นการพูดโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงหลายประการ (กรุณาดูข้อมูลเหล่านี้ในรายงานของ ศปช. “ความจริงเพื่อความยุติธรรม”) ได้แก่
- คดีเผาศาลากลาง จ.อุบล ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยก่อเหตุเผาอย่างชัดเจน ศาลจึงใช้พยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย ประกอบคำรับสารภาพหรือลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายในชั้นสอบสวนเป็นสำคัญ
- แม้ภาพถ่ายจำเลยจะบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่ากำลังกระทำการอะไรที่เป็นเหตุ ให้เกิดไฟไหม้ศาลากลาง แต่ศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยยกประโยชน์ให้จำเลย เนื่องจากศาลปักใจเชื่อว่าการที่จำเลยมีภาพถ่ายเกาะกลุ่มร่วมกับกลุ่มคนที่ บุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินและเผาศาลากลางหลายภาพ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรู้เห็น และมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
- แม้ว่าพยานฝ่ายโจทย์ เบิกความที่เป็นคุณต่อจำเลย ศาลกลับไม่หยิบมาเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัย เช่น กรณีนายสนอง เกตุสุวรรณ์ ศาลชั้นต้นลงโทษถึง 34 ปี ข้อหาร่วมกับพวกเผาศาลากลางอุบล แม้ว่า จสอ.พัสกร อุ่นตา จนท.กอ.รมน. เบิกความว่า หลังจากที่เขาเห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามทำการเผาอาคาร เขากับนายสนอง จึงเข้าไปในตัวอาคารเพื่อช่วยดับไฟ แต่ศาลก็ยังตัดสินให้นายสนองมีความผิดอยู่ดี
- กรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด ประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น
- หลายรายศาลยกฟ้อง แต่กว่าจะยกฟ้อง พวกเขาติดคุกอยู่เป็นปี ไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีการเยียวยา
กรณีการเผาเซ็นทรัลเวิล์ด
- มีคนถูกสั่งฟ้องทั้งหมด 9 คน ยกฟ้องไปแล้ว 7 คน ยังคงเหลือนายสายชล แพบัว นายพินิจ จันทร์ณรงค์
- ล่าสุด รายงานข่าวจากประชาไท http://prachatai.com/journal/2013/01/45013 ระบุว่าเมื่อวันที่ 28 มค.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร เลขาธิการสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลฯ มากว่า 20 ปี ได้เป็นพยานในการพิจารณาคดีของนายสายชล เขาได้ระบุว่า คนเสื้อแดงทั้ง 9 คนนั้น ไม่มีความสามารถจะเผา CTW ได้ เพราะมีระบบป้องกันที่ดีที่สุดในเอเชีย
“ประมาณ 15.00 น. จากกล้อง CCTV เห็นว่ามีกลุ่มคนประมาณ 7-8 คน แต่งกายคล้ายทหารและมีอาวุธด้วยเข้ามาทางด้านห้างเซ็นทรัลเวิลด์รปภ. พยายามต้านทานไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาแต่กลับถูกปาระเบิดใส่ ตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาช่วยก็ยังต้องถอนกำลังออกไป”
ทนายยังได้นำภาพผู้ถูกจับกุม 9 คน ให้ พ.ต.ท.ชุมพลดู เขาได้ยืนยันต่อศาลว่า 9 คนนี้เป็นพวกที่หลบอยู่ในห้างไม่มีอาวุธและไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอาวุธดังกล่าว โดยเขาได้รับการยืนยันจากหัวหน้า รปภ.ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย
“ทีม งานเราอยู่ภายในถ้าไม่ไล่เราออกไป มันเรื่องเล็กสำหรับไฟขนาดนั้น ในอาคารมีอุปกรณ์พร้อม น้ำในห้างก็มีจำนวนมหาศาลทั้ง 3 อาคารเชื่อมต่อกัน ระบบแรงดันน้ำภายในห้างก็ใช้ได้ ถ้าไม่ไล่เราออกไม่มีทางจะไหม้ ส่วนคนที่ไล่เราออกไปนั้นคือกลุ่มคนที่มีอาวุธ มีการโยนระเบิด ขนาดตำรวจยังต้องหนี.... “ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น”พ.ต.ท.ชุมพล กล่าว
ฉะนั้น ข้อหา “เผาบ้านเผาเมือง” อาจเปลี่ยนจากคนเสื้อแดง เป็นชายในชุดพรางกายแทนก็ได้ แต่สังคมก็เชื่อกันไปแล้วว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน
ที่ จริงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจับกุมและดำเนินคดีร้ายร้ายต่าง ๆ ยังมีอีกมาก แต่ข้อมูลแค่ที่ยกมาให้ดูข้างต้นก็ชี้ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมปกติที่ปฏิบัติต่อคนเสื้อแดงนั้นมีปัญหามาก ๆ การเรียกร้องให้นิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องของการช่วยคนผิดให้กลายเป็นถูก ไม่ใช่ “พวกมากลากไป” ที่ไม่สนใจหลักความถูกต้องชอบธรรมใด ๆ
เมื่อกระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถบรรเทาความขัดแย้งให้กับสังคมได้ เราจึงจำเป็นต้องหันไปใช้กระบวนการทางการเมืองแก้ปัญหาแทน
ประการ สำคัญ แรงจูงใจของการกระทำของคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมใน เมษา-พค. 2553 เป็นเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลเพื่อก่ออาชญากรรมกับใครหรือสถานที่ใดเป็นการส่วนตัว พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ รบ.ในขณะนั้น ยุบสภา-เลือกตั้ง ความรุนแรงใดๆ ที่เกิดจากผู้ชุมนุมก็เป็นผลของอารมณ์โกรธแค้นที่เกิดขึ้นในช่วงนาทีวิกฤต นั้น ๆ และในทางกลับกัน สังคมต้องมองการใช้ความรุนแรงของรัฐ ที่มุ่งปราบปรามคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ในฐานะปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ชุมนุมด้วย
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น