หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์พิเศษ "นายใน"

สัมภาษณ์พิเศษ "นายใน"





คน ชั้นสูงเล่นชายรักชายมายาวนาน ส่วนหญิงรักหญิงก็เริ่มเป็นที่เผยออกมาจากวงในสู่ชั้นล่าง แต่พอคนข้างล่างเป็นพวกเนี่ยก็จะออกมาตำหนิว่าทำให้ประเทศเสื่อมเสีย


หัวโบราณได้มีโอกาสชวน ชานันท์ ยอดหงษ์ คุย
เกี่ยวกับหนังสือของเธอที่ชื่อ " 'นายใน' สมัยรัชกาลที่ 6"
ซึ่งกำลังจะ launch ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค. 56)
และจากนี้ไป คือสิ่งที่เธอต้องการจะบอก จะเล่าให้เราฟัง


 
หัวโบราณ: ทำไมถึงต้องซื้อ/อ่านหนังสือเล่มนี้ ?
ชานันท์: สังคมโดยทั่วไป ตั้งแต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 มาแล้ว ก็ได้มีการเมาท์กัน นินทากันลับหลังอยู่แล้วว่า ร.6 มีพฤติกรรมทางเพศยังไง เจ้าของบ้านนรสิงห์เป็นใคร มีความสัมพันธ์กับ ร.6 ลึกซึ้งยังไง ทำไมในราชสำนักจึงมีผู้ชายเยอะจัง ทำไม ร.6 แต่งงานช้า ทำไมพระองค์จึงชอบเล่นละคร ฯลฯ ทว่าไม่มีการศึกษาเป็นกิจ เป็นการกล่าวกันปากต่อปากลอยๆ หนังสือเล่มนี้จึงศึกษาประเด็นที่มีคนเมาท์กันอยู่แล้ว มาหาข้อมูลเอกสารร่วมสมัย ตามระเบียบวิธีการศึกษา วิจัย เพื่อให้สิ่งที่เมาท์กันอยู่นี้ ได้รับการอธิบายในทางวิชาการ วิเคราะห์กับแนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศ และประวัติศาสตร์สังคมในขณะนั้น 


หัวโบราณ: คิดว่างานศึกษานี้ ต่างจากที่ Peter Jackson เคยเสนอไว้ก่อนยังไง ?
ชานันท์: เรียกว่าเอา ความรู้จากอาจารย์ Peter Jackson มาอ้างอิงดีกว่า เพราะเคยอ่านผลงานเขาที่วิเคราะห์และตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับเรื่องเพศและพระราชสำนักไทยบ้าง
เอาเข้าจริง ฝรั่ง ชาวตะวันตก รู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยดียิ่งกว่าคนไทยด้วยกัน เหมือน “สลิ่ม” ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูข่าวในพระราช สำนัก พระราชประวัติ ร.6 ในหนังสือก็อ้างอิงมาจาก Absolute Dreams ของ Greene และ Chaiyo! ของ พวก Vella ซึ่ง 2 เล่มนี้ ถือว่าเป็น 2 เล่มเกี่ยวกับ รัชกาลที่ 6 ที่สำคัญมาก ถือว่า “คลาสสิค” ก็ว่าได้ ถ้าในโลกภาษาไทย อ่านของใครดี? ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่เลือกมาปรุงแต่งมาแล้ว เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ เฉลิมพระเกียรติล้นเกินจนไม่ได้เห็นความเป็นมนุษย์ของรัชกาลที่ 6 เลย อย่างกับชาดก ปัญหาสังคมไทยในการศึกษาประวัติศาสตร์ คือเรารู้แต่พระราชประวัติ วีรกรรมวีรเวร เรารู้ว่าใครยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ใครคาบดาบปีนค่าย แต่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ชุมชน/ประชาชน มันเป็นยังไง อันนี้คือปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งก็คือพระราชประวัติที่นำเสนอ ก็ถูกเลือกนำเสนอเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งซึ่งแบนมาก เหมือนตัวละครช่อง 7 แต่ไม่ได้มองความเป็นมนุษย์เลย เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ไป อย่างเช่นเรื่อง รัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ทาส ก็ไม่ได้มองกันว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจจากขุนนาง  



หัวโบราณ: สมมติว่าสันติบาลสั่งเก็บหนังสือเล่มนี้ ?
ชานันท์: จะเหมาจากมติชน แล้วแอบไปขายเองแพงๆ เลย....พูดเล่นๆ ก็คงเสียใจแหละ ความรู้ถูกปิดกั้น มันเป็นการทำลายการมีความรู้ของ คน การเผาหนังสือ การปิดกั้นความรู้ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้นะ “นายในฯ” ไม่ใช่นิราศหนองคายนะจ๊ะ ก็อย่างที่บอก ประวัติศาสตร์นำเสนอเพียงด้านเดียว พอมีอีกด้านหนึ่งขึ้นมา ก็รับกันไม่ได้ เหมือนอย่างเรื่อง “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ของอ.สายพิน แก้วงามประเสริฐ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ดีมากๆ เลยนะ ความรู้มันมีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียวหรือวัตถุวิสัย แต่มีหลายๆ อย่างให้เราได้เลือกเสพ เลือกวิเคราะห์ แต่อะไรที่ไม่ตรงกับกระแสหลัก สังคมมักจะทำลายมัน สมัยนี้มีใครรู้บ้างว่าพระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์คู่กับพระจอมเกล้า จะต้องทำให้เป็นหนึ่งเดียวหมด ต้องจัดระเบียบให้เป็นหนึ่งเท่านั้น


หัวโบราณ: หนังสือเล่มนี้ ย่อลงมาจาก thesis เยอะไม๊ ?
ชานันท์: จาก 300 กว่าหน้า เหลือ 150 หน้า แต่ไม่ถือว่าเยอะ เพราะ thesis มันจะมีขนบทางวิชาการในการเขียนของมัน จะต้องกล่าวถึงอะไรที่ซ้ำซากจำเจ พอทำเป็นหนังสือ ก็ตัดสิ่งเหล่านั้น ตัดตัวอย่าง ตัดบางประเด็นออกไป ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้มันก็พัฒนาต่อยอดจาก thesis ด้วย เพราะไปอ่านข้อมูลเพิ่มมา 3 – 4 เล่ม เพราะหลังจากเขียน thesis จบ ก็ไปพูดไปเสวนา แล้วก็มีคนแนะนำหนังสือให้ไปอ่านเล่มนั้นเล่มนี้ ก็เลยตามไปศึกษาเพิ่มเติม แล้วเอามาใส่ไว้ในหนังสือ


หัวโบราณ: เรื่องเข้าถึงข้อมูล มีอะไรอยากบ่นไม๊ ?
ชานันท์: ดวก!!! แค้นเคืองกับระบบจัดเก็บข้อมูลของหอจดหมายเหตุฯ อย่างรุนแรง ให้ว่ายน้ำไปหาพระไตรปิฎกในหอ ไตรยังง่ายกว่าอีก อะไรวะ ขั้นตอน 1 2 3 4 ยิบย่อย ไปอ่านไมโครฟิล์มที ตาแทบบอด อะไรก็ไม่รู้ ระบบจัดเก็บแม่ง suck อันนี้คือข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรนะ ถ้าเป็นรูปภาพ ก็ต้องไปค้นในตู้ ระบบจัดเก็บบางตู้ก็ต่างกันแม้อยู่ในห้องเดียวกัน ถ้าอยากจะได้ คุณต้องทำเรื่องขอดูรูป เขียนเอกสารขอดูรูป แล้วถ้าคุณอยากอัดรูป คุณก็ต้องเอารูปนั้นไปให้เจ้าาหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะเก็บรูปนั้นไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าคนอื่นอยากจะขอดูรูปเดียวกันนี้ ก็จะไม่เห็นแล้ว นี่คือความน่าอัปยศอดสูของที่นี่ แถมห้ามถ่ายรูปอีก จะเข้าไปศึกษาห้ามเอาสัมภาระเข้าไปด้วย แต่ถามจากอาจารย์นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อนเรา เค้าลำบากกว่านี้นะ นี่ถือว่าหอจดหมายเหตุฯ มีพัฒนาการบ้างแล้ว


ส่วนที่หอวชิราวุธานุสรณ์ ไม่รู้ว่ามีระบบคอมพิวเตอร์ให้ค้นไหม ไปทีไรคอมไม่เคยเปิด ตอนทำ thesis ต้องไปนั่งดูทุกชั้น หยิบหนังสือมานั่งอ่านทีละชั้นๆ ดูว่ามีอะไรบ้าง ในหอสมุดนี้หนังสือดีๆ เยอะมาก แต่จัดเก็บกองๆ ไว้ ถูกขโมยไปไม่รู้จะรู้รึเปล่

นี่คือการเข้าถึงองค์ความรู้ในสังคมไทย เพราะในสังคมไทย ความรู้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย “รู้มากจะยากนาน” มันถึงมีสำนวนนี้ไง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงความรู้ ยิ่งเป็นความรู้เรื่องเจ้าอีก จะต้องจัดเก็บ บางเรื่อง ไม่ให้อ่านก็มี เป็นเอกสารลับ ถ้าอย่างนี้ก็เผาไปเหอะ !! แต่ก็นะสังคมไทยไม่ใช่สังคมนักอ่าน เราชอบคนปาฐกถาแบบไม่มีโพยมากกว่า เราชอบการท่องจำ ชอบความรู้แบบ “ผีบอก” หรือมาจากการนั่งหลับตากำหนดลมหายใจ ไม่ใช่ค้นคว้าอ่านหนังสือ

หัวโบราณ: จะเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้หอจดหมายเหตุฯ หอวชิราวุธานุสรณ์ไม๊ ?
ชานันท์: ให้ รู้สึกอยากจะให้ ต่อให้จัดเก็บหนังสือแย่ ก็จะให้ พร้อมวิทยานิพนธ์ด้วย เพราะว่าได้ความรู้จากเค้าเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากจะคืนความรู้ให้เค้าบ้าง เป็นการแลกเปลี่ยน
 

หัวโบราณ: แต่ว่าคำโปรยบนหนังสือแรงมากนะ ?
ชานันท์: อันนั้นมาจากกองบรรณาธิการย่ะ ไม่ใช่อีชั้น ฮ่าๆๆๆๆ แอบตกใจ แต่ก็ชอบ แต่ถ้าระดับผู้ใหญ่มีประสบการณ์การทำงานหนังสือมาขนาดี้ เค้าคิดว่ามันผ่านได้ ก็ผ่านได้แหละ มันเป็น ประสบการณ์ครั้งแรกในการเขียนหนังสือ เราไม่รู้ขั้นตอนอะไร ก็เพิ่งรู้จาก “นายในฯ” ว่าหนังสือเล่มนึงออกมามันใช้เวลา ความรับผิดชอบ ความอุตสาหะนะ ต่อไปฉันจะไม่แอบถ่ายเอกสารละ ฮ่าๆๆ จะซื้ออ่านเอา ต้องขอบคุณกองบรรณาธิการตรงนี้ด้วย แต่ก็ได้ยินคนเมาท์ว่าคำว่า “นายใน” นี่มันการตลาดหรือเปล่า ทำให้ดูหวือหวา อันที่จริงในวิทยานิพนธ์ก็ใช้ชื่อว่า “นายใน” อยู่แล้วนะ


หัวโบราณ: หนังสือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” มี 2 เล่ม แต่ถูกเผยแพร่แค่เล่มเดียว ?
ชานันท์: ส่วนตัวไม่รู้ว่ามีกี่เล่ม ซึ่งเล่ม 1 ถูกเผยแพร่ แต่ว่าเล่มที่ 2 ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในฐานะบรรณานุกรม เขียนว่า “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ในหนังสือพระราชประวัติรัชกาลที่ 6 แบบเชียร์เจ้าเล่มนึง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าผู้เขียนพยายามจะผูกขาดชุดความรู้นั้นเพียงแต่ลำพัง


หัวโบราณ: คิดว่าหลังจากหนังสือนี้เผยแพร่ไปแล้ว จะเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นบ้างหรือเปล่า ?
ชานันท์: กลัวอย่างนึงนะ กลัวว่าหนังสือเรื่อง “นายในฯ” เนี่ย จะเป็นเครื่องมือของพวก Homophobia ในการโจมตีเรื่องการบริหารบ้านเมืองของรัชกาลที่ 6 ซึ่งจุดประสงค์หลักของหนังสือไม่ใช่ ด้วยความที่ฉันเป็นตุ๊ด แล้วก็สนใจประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นผมจึงศึกษาประวัติศาสตร์แบบตุ๊ดๆ แต่ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าใครเป็นตุ๊ด ในหนังสือนี้เพียงแค่ต้องการจะ บอกว่าลักษณะทางเพศของ รัชกาลที่ 6 ที่ปรากฏ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของ รัชกาลที่ 6 กับนายใน เป็นเพียงรูปแบบของ “ความเป็นชาย” รูปแบบนึงในสังคมเท่านั้น ซึ่งการที่ผู้ชายสามารถจูงมือ กอดคอ หอมแก้ม จูบปากกันได้เป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่กรีก ก่อนพระเยซูจะเกิดอีกโว้ย !! มันเกิดจะมาประสาทแดกกันยุคหลังๆ นี่เอง


หัวโบราณ: คำถามสุดท้าย คิดยังไงกับข้อความที่ว่า “ถ้าไม่เป็นตุ๊ด ทำไม่ได้นะเรื่องนี้” ?
ชานันท์: ก็แน่นอน ที่ทำเรื่องนี้ ก็เพราะเป็นตุ๊ดไง ผู้ชายที่ไหนเค้าจะมาทำ (วะ) !! 

         

พิเศษ !!
คุณชานันท์ยินดีมอบหนังสือพร้อมลายเซ็น
ให้แก่แฟนเพจหัวโบราณจำนวน 1 เล่มครับ
ท่านใดที่สนใจ เพียงแค่คอมเม้นท์ด้านล่าง
แล้วคุณชานันท์จะเข้ามาเลือกคอมเมนท์ที่ถูกใจครับ
ปิดรับคอมเมนท์สุดท้าย วันเสาร์ที่ 30 มี.ค. 56 เวลา 12.00 น. ครับ


และหากผู้ใดสนใจ
สามารถไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าวได้
ที่งานสัปดาห์หนังสือฯ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ เวลา 15.00 น 

1 ความคิดเห็น:

  1. this is spectacular! finally someone in looking at thing from the other sides of thing! after hearing stories about ร.6 ever since i was small this is a very refreshing view of his history, and i'm also a yaoifanboy, so this is a double win for me. i really do agree with this point of view as well. homosexuality have been around since the start of time and it's just now that we're bitching about it. thank you so much for making this spectacular book that persuaded someone ho find history boring suddenly like history.

    ตอบลบ