‘ไม่มีอคติ เป็นกลาง’ หมายถึงการต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่วิจารณ์ให้สมดุลกับพื้นที่ประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์
โดย นักปรัชญาชายขอบ
การแบนรายการตอบโจทย์ที่เสนอการดีเบตหัวข้อ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ระหว่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สะท้อนอย่างชัดเจนถึงปัญหาที่สมศักดิ์เรียกร้องให้ปัญญาชน นักวิชาการริเริ่มการอภิปรายประเด็นสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยอย่างจริงจัง หากปัญญาชนหรือนักวิชาการเหล่านั้นยังพูดเรื่องการเมือง ประชาธิปไตย หรือยืนยันสิทธิ เสรีภาพในทางใดๆ
เพราะการแบนรายการใน “ทีวีสาธารณะ” ที่ใช้ภาษีของประชาชนเสนอการดีเบต “ปัญหาสถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย” ด้วยเหตุผล ย่อมเป็นการ “ตอกย้ำ” ให้เราเห็นว่าปัญหาที่สมศักดิ์เสนอนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุดจริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมไทยต้องระดมสติปัญญาอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงจัง หากต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องยากที่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนจะปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะคนเหล่านี้มีองค์ความรู้ มีความสามารถ มีเวทีที่จะริเริ่มอภิปรายปัญหานี้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และมีความเสี่ยงต่อการต้องคดี 112 น้อยกว่าชาวบ้านทั่วๆไป
ยิ่งกว่านั้น การแบนครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า การที่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน หรือใครๆ ชอบอ้างพระราชดำรัสที่ว่า “คิงทำผิดได้ วิจารณ์ได้” มาตลอดนั้น อาจจะต้องทบทวนให้ชัดเจนว่า สมควรที่จะอ้างตามๆ กันต่อไปอีกหรือไม่ เพราะการดีเบตระหว่างสุลักษณ์ กับสมศักดิ์เป็นเพียงการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลล้วนๆ ต่อสถานะ อำนาจ บทบาทของ “สถาบันกษัตริย์” เท่านั้น ยังไม่ได้วิจารณ์ “คิง” ในฐานะตัวบุคคลเลย รายการดีเบตก็ถูกแบนเสียแล้ว
นี่สะท้อนความกลัวเกินจนเหตุของผู้บริหารสื่อ ซึ่งที่จริงสื่อต่างๆ นั่นเองที่เป็นผู้สร้างความหมายที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้คนในสังคมว่า “ประเด็นสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” หรือ “การแก้ไข/ยกเลิก 112 เป็นประเด็นละเอียดอ่อน” แล้วก็สร้างความกลัวใน “ความหมายอันกำกวม” ของคำว่า “ละเอียดอ่อน” นั้น จนแม้การพูดถึงด้วยเหตุผลก็ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง และหรือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในพื้นที่สื่อสาธารณะ
ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ การหลอกตัวเองอย่างสุดๆ ของคนในวงวิชาการ วงการสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง 5-6 ปีมานี้ ด้วยการเรียกร้อง “ความไม่มีอคติ ความเป็นกลาง ความเป็นมืออาชีพ” ราวกับว่าก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 49 ตลอดมานั้น วงวิชาการ วงการสื่อตั้งมั่นในความไม่มีอคติ มีความเป็นกลาง เป็นมืออาชีพมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนานแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลัง 19 กันยาถึงปัจจุบันจึงทำลาย “ความไม่มีอคติ ความเป็นกลาง ความเป็นมืออาชีพ” ที่เคยเป็นมาให้พังทลายลงได้ง่ายๆ
แท้ที่จริงแล้ว หากนักวิชาการ สื่อ จะยืนยัน “ความไม่มีอคติ ความเป็นกลาง ความเป็นมืออาชีพ” ในสภาพการณ์ที่มีการประชาสัมพันธ์ความดีงามของสถาบันกษัตริย์อย่างล้นเกิน ทั้งในพื้นที่สื่อ สถาบันการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ขณะที่แทบไม่มีพื้นที่ให้กับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เลย (โดยเฉพาะไม่มีใน “สื่อหลัก” เลย) การยืนยันนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนักวิชาการ สื่อ ได้ต่อสู้อย่างเข้มข้นเพื่อให้เปิดพื้นที่ของการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ให้ “สมดุล” กับพื้นที่ประชาสัมพันธ์สรรเสริญสถาบันกษัตริย์เท่านั้น
ฉะนั้น การที่ใครก็ตามบอกว่ารายการตอบโจทย์มี “อคติ” ที่ให้เวลาแก่สมศักดิ์กับสุลักษณ์ มากกว่าสุรเกียรติ เสถียรไทย และวสิษฐ เดชกุญชร จึงเป็นเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออก เพราะในความเป็นจริงท่ามกลางพื้นที่ประชาสัมพันธ์ยกย่องคุณงามความดีของ สถาบันกษัตริย์แทบทุกตารางนิ้วในประเทศนี้ การดีเบตระหว่างสุลักษณ์กับสมศักดิ์เป็นเพียงครั้งแรกที่สื่อหลักเปิด พื้นที่ให้ แต่ก็ถูกแบนอย่างไม่เคารพเสรีภาพการในแสดงออกที่รัฐธรรมนูญรับรอง
ปรากฎการณ์แบนดีเบตครั้งนี้ จึงท้าทายต่อมโนสำนึกของบรรดาสื่อ นักวิชาการ (และสังคมไทยทั้งสังคม) ให้ต้องตระหนักตามเป็นจริงว่า “ความไม่มีอคติ ความเป็นกลาง ความเป็นมืออาชีพ” ของปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนจะมีทางเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อเขาเหล่านั้นต่อสู้อย่างจริงจังเพื่อให้แวดวงสื่อ แวดวงวิชาการ หรือสังคมไทยโดยรวมเปิดพื้นที่ให้กับการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กษัตริย์อย่าง “สมดุล” กับพื้นที่ประชาสัมพันธ์สรรเสริญคุณงามความดี
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/03/45795
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น