โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
การคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นการที่บุคคลใช้ตำแหน่งของตนเอง และอำนาจที่มาจากตำแหน่งนั้น ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือความร่ำรวยเกินมูลค่าที่ตัวเองผลิตให้สังคมผ่านการทำงาน ถ้าตำแหน่งที่บุคคลคนนั้นดำรงอยู่ ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม หรือมาจากการที่ตนไม่ได้ทำงานเลย ก็ต้องสรุปว่ายิ่งโกงยิ่งผิดศีลธรรมมากขึ้น
การที่สังคมมีหรือไม่มีการคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องของระดับประชาธิปไตยและระดับอำนาจของประชาชนที่จะปกครองตนเอง แต่การคอร์รัปชั่นมีหลายรูปแบบ ทั้งที่ผิดกฏหมายบ้านเมืองและไม่ผิดกฏหมาย เพราะในสังคมชนชั้นปัจจุบัน ผู้ที่ออกกฏหมายมักเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชั่นเสมอ
ดังนั้นเวลา อานันท์ ปันยารชุน กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นว่า “เป็นเรื่องที่ทุกประเทศประสบปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเศษหนึ่งส่วนสิบของใบ” เขากำลังโกหกเต็มปาก และคำโกหกก็มีหลายชนิดอีกด้วย เพราะการละเลยไม่พูดถึงความจริงบางประเด็นนั้น ก็เป็นการโกหกชนิดหนึ่ง
อานันท์ ปันยารชุน พูดไม่หมดเวลาเขาพูดเกี่ยวกับการคอรับปชั่นในไทยว่า “ตอนนี้เป็นเครือข่ายหมด ครอบคลุมถึงนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นอย่างสวย ให้เป็นองค์กรตรวจสอบ” เพราะกลุ่มคนกลุ่มสำคัญที่ อานันท์ ไม่พูดถึงคือทหาร
ทหารไทยเป็นผู้นำร่องในการกินบ้านกินเมือง ตั้งแต่สมัย จอมพลป. พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และมาพัฒนาเต็มรูปแบบภายใต้ “จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอก” สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ “จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ” ถนอม กิตติขจร กับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร แค่ดูยศตำแหน่งของสฤษดิ์กับถนอมก็เริ่มเห็นว่าสองคนนี้พยายามคุมเก้าอี้และเงินทองมากมาย กิจกรรมของนายทหารโกงกินเหล่านี้ครอบคลุมถึงการลักลอกขายสินค้าผิดกฏหมายข้ามพรมแดน การขายของเถื่อน การเป็นมาเฟียรับเงินเพื่อ “คุ้มครอง” ธุรกิจเอกชน และการสูบเลือดจากรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญคือเขาสามารถทำได้เพราะเคยใช้ความรุนแรงในการยึดอำนาจผ่านรัฐประหาร เผด็จการทหารไทยคือมหาโจรนั้นเอง
พอประชาชนลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย พวกนายพลจอมพลเหล่านี้ก็พร้อมจะฆ่าทิ้ง กรณีใหญ่สุดสมัยถนอมกับประภาส คือการกราดยิงประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
นายทหารมือเปื้อนเลือดอีกคนชื่อ สุจินดา คราประยูร เป็นทหารรุ่นน้องที่ทำรัฐประหารในปี ๒๕๓๔ แล้วร่ำรวยเกินเงินเดือนธรรมดาของนายทหาร ซึ่งมันจบลงด้วยการสั่งให้ลูกน้องฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง สนธิ สนธิ บุญยรัตกลิน และประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นลูกศิษย์ที่ดีของพวกนี้
ที่น่าสนใจคือ อานันท์ ปันยารชุน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดย สุจินดา คราประยูร และหลังจากที่ สุจินดา ฆ่าประชาชน อานันท์ ก็ระลึกถึงบุญคุณโดยการออกกฏหมายฟอกตัวสุจินดา เหตุการณ์เหล่านี้คงอธิบายว่าทำไม อานันท์ ปันยารชุน ไม่กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นของทหารแต่อย่างใด
ประเทศสิงคโปร์มีระบบการเลือกตั้ง แต่ไม่มีประชาธิปไตย เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งเราจะรู้ว่าพรรคไหนจะชนะ คะแนนเสียงอาจขึ้นลงบ้างเพื่อให้ดูเหมือนว่ามีประชาธิปไตย แต่ฝ่ายค้านโดนปราบปรามด้วยสารพัดวิธี เช่นฟ้องหมิ่นประมาท แล้วให้ศาลที่เป็นพวกของรัฐบาล ตัดสินว่า “ผิด” เสร็จแล้วมีกฏหมายห้ามคนที่โดนตัดสินลงโทษในคดีเป็น สส. เป็นต้น หรือการที่รัฐบาลประกาศว่าเขตไหนไม่เลือกพรรครัฐบาล เขตนั้นจะถูกตัดงบอย่างแรง ฯลฯ
ในสิงคโปร์ พวกนักการเมืองและนักข่าวชอบเห่าหอนประโคมว่าสังคมสิงคโปร์ไม่มีการคอร์รัปชั่นเพราะมีการใช้กฏหมายปราบคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด แต่การใช้กฏหมายเผด็จการอย่างเคร่งครัดเพียงแต่นำไปสู่การคอร์รับชั่นถูกกฏหมายเท่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้ตำแหน่งอย่างไม่ชอบธรรมผ่านระบบเผด็จการ เสร็จแล้วในการประชุม ครม. มีการยกมือขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง จนพวกนี้มีเงินเดือนสูงกว่าผู้นำในสหรัฐหรือยุโรป นั้นคือการคอร์รัปชั่นแบบ “ถูกกฏหมาย”
ผู้นำและรัฐมนตรีทุกคนในไทย ที่ได้ตำแหน่งจากการทำรัฐประหาร แล้วรับเงินเดือนสูงๆ ของการเป็นนายกหรือรัฐมนตรี พร้อมกับเงินเดือน “ถูกกฏหมาย” อื่นๆ จากตำแหน่งอื่นๆ ที่กินขนานไปด้วย ต้องถือว่าคอร์รัปชั่นถูกกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ อานันท์ ปันยารชุน และทุกวันนี้ในสังคมชนชั้นปกครองไทย มีประเพณีอันเลวทรามของทหารที่นั่งตำแหน่งคุมสื่อ และรัฐวิสาหกิจอย่างถูกกฏหมาย เพื่อมีอำนาจในการกอบโกยเต็มที่
ยิ่งกว่านั้นเวลาประชาชนพยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งต้องถือว่าเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการ “ตรวจสอบผู้มีอำนาจ” ฝ่ายที่ยึดอำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมในไทยก็ไม่ลังเลใจในการฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็น พอฆ่าแล้ว “เครือข่ายคอรัปชั่น” ของชนชั้นปกครองไทยก็มาฮั้วกันเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างฟอกตัวนิรโทษกรรมซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ
เวลา อานันท์ พูดว่า “ปัจจุบันคอรัปชั่นมีความลึกลับมากมาย..... ตอนนี้เป็นเครือข่ายหมด” เขาไม่ได้ตั้งใจพูดถึงเครือข่ายลึกลับที่ไม่มีใครในไทยกล่าวถึงได้
การที่สังคมไทยมีหลายส่วนที่ปกปิดไว้ด้วยกฏหมายเผด็จการชนิดต่างๆ ย่อมขัดกับหลักพื้นฐานในการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส
อย่าลืมว่าในไทยคนที่วิจารณ์รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องติดคุกหรือถูกฆ่า นั้นคือวิธีปิดปากประชาชนเพื่อปกป้องเครือข่ายคอร์รัปชั่น
ประเพณีการถือหลายตำแหน่ง และการรับเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงจากทุกตำแหน่ง เป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองผูกขาดไว้ผ่านอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าไปห้ามได้ บ่อยครั้งมันเป็นการแต่งตั้งกันเองในหมู่เพื่อนฟูงผู้มีอำนาจ และบ่อยครั้งเกิดในภาคเอกชนที่นายทุนผูกขาดอำนาจเผด็จการ ลองคิดดูซิ สำหรับคนทำงานธรรมดาอย่างเรา มีโอกาสที่ไหนที่จะนั่งหลายตำแหน่งและกินเงินฟรีๆ มีแต่พวกเราที่อาจต้องทำเงินที่อื่นเพิ่มเพื่อเสริมรายได้อันน้อยนิดของเราเท่านั้น
การ ที่ประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ทั้งผิดและถูกกฏหมาย ก็แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นเพียงประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น ในสังคมทุนนิยมตะวันตก เวลาพรรคพวกคนรวยหรือคนมีเส้นทำผิดกฏหมาย มันมีเครือข่ายตำรวจ เจ้าของสื่อ ผู้พิพากษา และนักการเมืองที่ขยันปกปิดไว้ แต่บางครั้งข่าวก็รั่วออกมาเพราะนักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ ไม่พอใจ แต่ในกรณีการโกงกินถูกกฏหมายที่เกิดขึ้น เช่นการหลีกเลี่ยงภาษีในขณะที่มีวิกฤตเศรษฐกิจและประชาชนถูกตัดสวัสดิการและ เงินเดือน การถือหลายตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง ฯลฯ ประชาชนธรรมดาไม่มีอำนาจจะกำจัดเลย เพราะทุนนิยมเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล่ำทางอำนาจสูงมาก
ในเมื่อการคอร์รัปชั่นเป็นการที่บุคคลใช้ตำแหน่งของตนเอง และอำนาจที่มาจากตำแหน่งนั้น ในการแสวงหาความร่ำรวยเกินมูลค่าที่ตัวเองผลิตให้สังคมผ่านการทำงาน มันต้องนำไปสู่ข้อสรุปว่าทุนนิยมทั้งระบบ เป็นกระบวนการคอรรัปชั่นอันยิ่งใหญ่ เพราะคนที่เคยเป็นโจร คนที่เกิดมาในตระกูลร่ำรวย คนที่เอาเปรียบคนอื่นจนร่ำรวย สามารถเป็นนายทุนและผูกขาดปัจจัยการผลิตของสังคมไว้ในมือตนเอง และด้วยอำนาจการผูกขาดนี้เขาสามารถปล้นผลงานของประชาชนธรรมดาทั้งหมดในรูปแบบกำไร ทั้งๆ ที่นายทุนไม่เคยทำงานเอง การบริหารทรัพย์ของตนเองเพื่อขูดรีดผู้อื่นไม่ใช่การทำงาน
ถ้าเราจะกำจัดคอรัปชั่น เราต้องกำจัดระบบทุนนิยมและนำทรัพยากรกับปัจจัยการผลิตทั้งหมดของสังคมมาเป็นของประชาชนทุกคน แต่ไม่ใช่ผ่านเผด็จการที่โบกธงแดงแล้วอ้างว่า “ทำในนามของประชาชน” อย่างที่เคยเกิดในระบบสตาลินหรือเหมาเจ๋อตุง มันต้องเป็นสังคมนิยมในรูปแบบที่คนทำงานร่วมกันบริหารสถานที่ทำงาน และประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการวางแผนเศรษฐกิจ มันต้องเป็นสังคมเสรีภาพเต็มที่ ไม่ใช่สังคมเหลื่อมล้ำ
แต่ก่อนที่เราจะถึงสังคมนิยม มันมีหลายก้าวสำคัญที่เราสามารถเดินไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะในไทย เราต้องนำคนที่เคยทำรัฐประหาร คนที่ได้ดิบได้ดีจากรัฐประหาร และคนที่ฆ่าประชาชนมือเปล่ามาลงโทษ เราต้องยกเลิกกฏหมายเผด็จการเช่น 112 หรือกฏหมายคอมพิวเตอร์ และกฏหมายที่คุ้มครองไม่ให้เราวิจารณ์ศาล แต่ถ้าจะทำสิ่งเหล่านี้คนธรรมดาต้องมีอำนาจมากขึ้น เพราะการเพิ่มอำนาจของประชาชนคือวิธีเดียวที่จะเริ่มกำจัดการคอร์รัปชั่น
เราเพิ่มอำนาจคนธรรมดาในรูปธรรมได้ ในสถานที่ทำงานทุกแห่งเราควรพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเพื่อต่อรองกับอำนาจเผด็จการของนายทุนหรือฝ่ายบริหาร ตรงนี้เราควรทราบด้วยว่าในเครือข่ายบริษัทที่ อานันท์ ปันยารชุน เกี่ยวข้องด้วย มีความพยายามที่จะสกัดกั้นและปราบปรามการตั้งสหภาพแรงงาน
การเพิ่มอำนาจคนธรรมดาต้องผ่านการรวมตัวกันด้วย ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และในพรรคการเมืองที่อิสระจากผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ แต่อย่าไปหลงเชื่อว่าชนชั้นกลางควรมีบทบาทสูงในการปราบคอร์รับชั่น เพราะเวลาคนชั้นกลางคัดค้านการคอร์รัปชั่น เขาแค่ไม่พอใจที่ตนเองและพรรคพวกไม่มีโอกาสไปร่วมกินด้วยกับคนที่มีอำนาจ และเขาเลือกปฏิบัติในการวิจารณ์การโกงกิน อย่างที่เราเห็นในกรณีสลิ่มที่ด่าการคอร์รัปชั่นของทักษิณ แต่เชิดชูรัฐประหารและไม่กล่าวถึงการโกงกินของทหาร
พูดง่ายๆ เส้นทางที่จะนำไปสู่การกำจัดการคอร์รัปชั่นในสังคมคือ การเพิ่มอำนาจ ความมั่นใจ และการจัดตั้ง ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่เพราะหลงเชื่อว่ากรรมาชีพหรือนักสหภาพแรงงานซื่อสัตย์กว่าผู้อื่น ไม่ใช่เลย และไม่ใช่เรื่องปัจจเจกด้วย มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางชนชั้นในสังคมต่างหาก และเป็นเรื่องการเปิดให้เราทุกคนสามารถตรวจสอบควบคุมกันเองด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น