หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อะไรกำลังเกิดขึ้นในตูรกี?‏

อะไรกำลังเกิดขึ้นในตูรกี?‏



 
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์
 

การลุกฮือของประชาชนตูรกีตามเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เป็นการท้าทายรัฐบาลอย่างแรง และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนี้ได้รับการคัดค้านจากมวลชนจำนวนมาก สิ่งที่จุดประกายคือแผนการทำลายและสร้างตึกทับสวน เกซิ กลางเมืองอิสแตมบูล การประท้วงครั้งนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มไหนวางแผนจัดการล่วงหน้า แต่มีหลายองค์กรที่ตอนนี้เข้ามาแข่งแนวเพื่อแย่งชิงการนำ เช่นพวกชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนทหาร และฝ่ายซ้ายที่ต้านทหารแต่ไม่สนับสนุนรัฐบาล นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ประท้วงมีมวลชนของพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งด้วย ประชาชนไม่พอใจการที่รัฐบาลมั่นใจในตนเองจนไม่ยอมปรึกษาใคร และไม่พอใจความรุนแรงของตำรวจที่มีต่อผู้ประท้วง นอกจากนี้ตุรกีอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากยุคเผด็จการทหาร และคนจำนวนมากอยากกวาดล้างกฏหมายเผด็จการให้หมดไป ก้าวหนึ่งที่ผ่านไปแล้วคือการสร้างสันติภาพกับชาวเคอร์ด แต่มีก้าวอื่นๆที่ต้องเดิน  

ประเด็นสำคัญคือฝ่ายซ้ายจะขยายอิทธิพลในมวลชน หรือฝ่ายชาตินิยมจะดึงทหารเข้ามา เพราะในกลุ่มผู้ประท้วงมีความคิดหลากหลาย


เบื้องหลังสถานการณ์การเมืองในตูรกี


รัฐบาลตูรกีเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย พรรครัฐบาลคือพรรคมุสลิมหรือ “พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา” (AKP) พรรคนี้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2002 และชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ ล่าสุดในปี 2011 พรรคนี้ได้คะแนนเสียง 50% นโยบายของรัฐบาลเน้นกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุน แต่มีนโยบายให้คนจนบ้าง รัฐบาลไม่ได้คลั่งศาสนาเหมือนที่ฝ่ายค้านอ้าง อย่างไรก็ตามระบบการเมืองในตุรกีมีซากของเผด็จการหลงเหลือจากสมัยเผด็จการทหาร เช่น มีการจำคุกนักข่าว หรือทนายความที่เห็นต่างจากรัฐ และนักกิจกรรมชาวเคอร์ดที่อยากแบ่งแยกดินแดนก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง นอกจากนี้พรรค AKP มักจะเน้นศีลธรรมจารีตที่มองว่าผู้หญิงควรจะมีลูกอย่างน้อยสามคน และนายกรัฐมนตรี เอร์โดแกน อยากเห็นการยกเลิกกฏหมายที่อนุญาตให้สตรีทำแท้งอย่างเสรี

พรรคฝ่ายค้าน (CHP) อ้างว่าเป็นพรรคในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และคอยสร้างภาพว่ารัฐบาลจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งกฏหมายอิสลาม อย่างไรก็ตามฐานเสียงหลักของพรรคนี้มาจากคนชั้นกลางและคนรวย และพรรค CHP นี้เป็นพรรคที่ใครๆ มองว่าเป็นปากเสียงของทหารเผด็จการ กองทัพตูรกีมีประวัติการแทรกแซงการเมืองผ่านการทำรัฐประหารพอๆ กับในไทย และในช่วงปี 2002-2007 มีการวางแผนเพื่อพยายามโค่นรัฐบาล AKP ที่มาจากการเลือกตั้ง  

การเมืองตูรกีหันมาเน้นการคลั่งชาติ และการสร้างสังคมที่ไร้ศาสนาประจำชาติ ในยุคพัฒนาหลังการล่มสลายของอาณาจักร ออตโตมัน โดยที่ คามาล อัตตาเทอร์ค ปฏิวัติสังคมและขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการ นโยบายคลั่งชาตินี้ถูกใช้เพื่อกดขี่เชื้อชาติอื่นๆ ภายในประเทศ เช่นชาวอาร์มีเนีย ชาวยิว ชาวกรีก และชาวเคอร์ด และตูรกีมีกฏหมายคล้ายๆ 112 ของไทยที่ห้ามไม่ให้ใครวิจารณ์ คามาล อัตตาเทอร์ค หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 


ในยุคเผด็จการของ อัตตาเทอร์ค คนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรยากจน และนับถืออิสลาม ถูกเขี่ยออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยที่มีการเน้นบทบาทของชนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมตะวันตก สามมาตราแรกรัฐธรรมนูญที่เขียนในยุคนั้น เน้นบทบาทของกองทัพในการปกป้อง “สาธารณรัฐสมัยใหม่ ที่ไร้ศาสนาแห่งชาติ และใช้ลัทธิชาตินิยมของ อัตตาเทอร์ค” มีการ “ห้าม” ไม่ให้แก้ไขสามมาตราดังกล่าวด้วย

หลังชัยชนะของพรรค AKP ในปี 2002 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งรอบแรกหลังยุคเผด็จการทหาร พวกนายพลพยายามใช้ศาลยุบพรรครัฐบาล และในปี 2007 มีการพยายามใช้ศาลเพื่อห้ามไม่ให้คนจากพรรคนี้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามกองทัพไม่ประสบความสำเร็จ และหลังจากนั้นรัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับพวกนายพลที่พยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลคืออิทธิพลของกองทัพในการเมืองลดลง และการทำรัฐประหารยากขึ้น แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าทหารหมดอำนาจโดยสิ้นเชิง

ในหลายๆ แง่รัฐบาลพรรค AKP ไม่ต่างจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมคริสเตียนในยุโรปตะวันตก และนายทุนก็พึงพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เศรษฐกิจตูรกีได้รับผลกระทบจากวิกฤษเศรษฐกิจโลกบ้างแต่ไม่มากเท่าเขตยูโร และการปฏิวัติในตะวันออกกลางในสองสามปีที่ผ่านมา มีผลให้ตูรกีขยายอิทธิพลในการเมืองระหว่างประเทศได้

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ถูกกดขี่เริ่มแสดงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเคอร์ด ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล รัฐบาลเองก็ถูกกดดันให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการที่กดขี่ชาวเคอร์ด เช่นกฏหมายที่ห้ามไม่ให้เขาพูดภาษาของตนเองเป็นต้น ฝ่ายนายทุนและประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องการเห็นสันติภาพด้วย แต่พรรคฝ่ายค้าน CHP ที่เน้นแนวคลั่งชาติไม่พอใจ

ไทยกับตูรกี

เมื่อเราศึกษาสถานการณ์ในตูรกี เราจะเห็นหลายเรื่องที่มีลักษณะคล้ายไทย เพราะในทั้งสองประเทศผู้รักประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการทหาร และในทั้งสองประเทศฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการคือพวกคนชั้นกลางและคนรวยที่อ้างว่า “รักประชาธิปไตย” และต้องการ “ปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิ์” ในตูรกีสถาบันศักดิ์สิทธิ์คือ “ลัทธิชาตินิยมไร้ศาสนาของอัตตาเทอร์ค” ในทั้งสองประเทศมีความพยายามที่จะใช้ศาลเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในมุมกลับรัฐบาลดังกล่าว คือเพื่อไทยในไทย และ AKP ในตูรกี ไม่ใช่รัฐบาลก้าวหน้าที่พร้อมจะสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และปฏิรูประบบอย่างแท้จริง  และทั้งในไทยและตูรกี คนจนส่วนใหญ่เลือกรัฐบาลดังกล่าวที่มีอิทธิพลของกลุ่มทุน เพราะคนจนหรือกรรมาชีพยังไม่ได้สร้างพรรคทางเลือกที่เข้มแข็งพอ

ประเด็นเสรีภาพของคนเชื้อชาติหลากหลายมีความสำคัญและนำไปสู่สงคราม ในตูรกีจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวเคอร์ด ในไทยจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวมุสลิมมาเลย์แห่งปัตตานี ในทั้งสองประเทศจะต้องมีข้อตกลงทางการเมือง ไม่ใช่เน้นการทหาร และประชาชนทุกเชื้อชาติต้องสนับสนุนเสรีภาพของทุกฝ่าย โดยไม่คลั่งชาติหรือปกป้องพรมแดนเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง     

จุดยืนของฝ่ายซ้ายในตูรกีหรือไทย ควรจะเป็นการร่วมต่อสู้ในขบวนการของมวลชนเมื่อมีข้อเรียกร้องเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและลดอิทธิพลของทหาร ดังนั้นเราร่วมกับพี่น้องเสื้อแดงในไทย และฝ่ายซ้ายในตูรกีต้องยืนเคียงข้างมวลชนที่ปะทะกับรัฐบาลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามเราจะไม่คล้อยตามพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช. เมื่อมีการหักหลังวีรชนและนักโทษการเมือง หรือเมื่อมีการหันหลังกับผลประโยชน์ของคนจน เช่นในเรื่องสาธารณสุข สิทธิแรงงาน หรือรัฐสวัสดิการ ในตูรกีสถานการณ์ไม่เหมือนไทยในทุกเรื่อง แต่ฝ่ายซ้ายจะต้องแยกตัวออกและแข่งแนวทางความคิดอย่างชัดเจนจากพวกคลั่งชาติที่จับมือกับทหาร เพราะพวกนี้หวังนำมวลชนไปในทางที่ผิด
 
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น