คนไทยเสียภาษีทุกคน และ คนรวยไม่ได้มีภาระภาษีสูงกว่าคนจนมากนัก
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ข้อมูลที่อ้างมาไม่ ผิด แต่สำหรับผู้อ่านคนชั้นกลางทั่วไปที่ไม่รู้รายละเอียดเรื่องรายได้แหล่ง ต่างๆของรัฐ และภาระภาษีของคนกลุ่มต่างๆ อาจเข้าใจผิดได้ว่า เอาละวา ทั่วเมืองไทยนี้มีมนุษย์เงินเดือนอย่างเราเพียงกว่า 3 ล้านคนเท่านั้นฤๅ ที่เสียภาษีให้รัฐบาลใช้กันโครมโครม อย่างนี้มันก็ไม่แฟร์แน่นอน
แต่ ข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบมีมากกว่านี้เช่น ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของภาษีทั้งหมด และขณะที่อัตราภาษีทางการ คือ ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 อัตราเฉลี่ยที่จ่ายจริงคือ ร้อยละ 10 เท่านั้น สาเหตุหลักคือ ผู้มีรายได้สูงได้รับการลดหย่อนมาก และมีจำนวนน้อยมาก
นอกจากนั้น เรื่องใครเสีย ไม่เสียภาษี และภาระภาษีสำหรับกลุ่มคนจน คนสถานะปานกลางและคนรวยต่างกันไหม แค่ไหน มีความซับซ้อนตามสมควร นักเศรษฐศาสตร์สนใจประเด็นเหล่านี้ จึงมีงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ให้ความกระจ่างแก่เรา เช่นงานล่าสุดของ ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายได้ของรัฐบาลได้จากภาษีมีมากที่สุด (ร้อยละ 87) และในบรรดาภาษี ก็มีหลากหลายประเภท ดังแสดงในตารางข้างล่าง
รายได้รัฐบาลแบ่งตามแหล่งที่มา พ.ศ.2552 |
(ร้อยละ) |
ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา |
10.6 |
รายได้นิติบุคคล |
27.5 |
ภาษีสรรพสามิต |
21.5 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม |
15.1 |
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม |
5.8 |
ภาษีอื่นๆ |
6.6 |
รายได้ไม่ใช่ภาษี |
13.0 |
ภาษีรายได้ในบทความที่อ้างถึงข้างต้น จำกัดอยู่ที่ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 10.6 ของรายได้รัฐทั้งหมดเท่านั้น รายได้ภาษีสูงสุดมาจากภาษีสรรพสามิตบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหาก ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงเกือบร้อยละ 40 (21.5+15.1= 36.6) แล้วยังมีภาษีรายได้นิติบุคคลอีกถึงร้อยละ 27.5
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกคนที่ซื้อของต้องเสียภาษีนี้ไม่มีข้อยกเว้น งานศึกษาชี้ว่า คนรายได้น้อยมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าคนรายได้สูง (มูลค่าภาษี คิดเป็นร้อยละของรายได้บุคคล)
ภาษีสรรพสามิตนั้นเก็บจากน้ำมัน ยาสูบ สุราและเบียร์ รถยนตร์ และเครื่องดื่ม เป็นหลัก แต่ที่เก็บจากบุหรี่สุราเบียร์ (ภาษีบาป) นั้นรวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด เป็นที่น่าสนใจว่าสุราและยาสูบเป็นสินค้าที่คนจนคนรายได้น้อยบริโภค คนกลุ่มนี้จึงเสียภาษีเหล่านี้ค่อนข้างมาก
เป็นที่น่าสังเกตุด้วย ว่า ภาษีบาปนี้มีมูลค่าเกือบสองแสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 ทั้งหมด ซึ่งรวมกองทุนประกันสุขภาพกว่าแสนล้านบาทด้วย เท่ากับว่าคนมีรายได้ต่ำเองนั่นแหละที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตนเอง เมื่อไปรับบริการสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐจัดการให้
สรุปภาพรวม ก็คือ คนไทยทุกคนเสียภาษี แม้จะไม่เสียภาษีรายได้เพราะระดับรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เนื่องจากต้องเสียภาษีทางอ้อมในรูปของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และอื่นๆ
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ภาระภาษีสำหรับกลุ่มคนจน คนสถานะกลางและคนรวย ต่างกันไหม แค่ไหน?
งานศึกษาของ ดร.ชัยรัตน์ ใช้ข้อมูลปี 2531, 2541 และ 2552 มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจมากคือ
หนึ่ง โครงสร้างภาษีอาจจะดูก้าวหน้า แต่เอาเข้าจริง ไม่ได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง กลุ่มคนจนที่สุดไม่ใช่คนเสียภาษีน้อยที่สุด
สอง ภาระภาษีรวมของกลุ่มคนรายได้สูงสุด กับภาระภาษีรวมของกลุ่มคนรายได้ต่ำสุดต่างกันน้อยมาก
สาม กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น ในปี 2552 รับภาระภาษีรวมสูงถึงร้อยละ 18 พอๆ กับกลุ่มรายได้ปานกลางที่ร้อยละ 18.2 สำหรับกลุ่มรวยสุด ระดับภาระภาษีมากกว่าเพียงเล้กน้อยที่ ร้อยละ 27
สุดท้าย ดร.ชัยรัตน์กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ไม่ควรต้องรับภาระภาษีรวมสูงถึงร้อยละ 18
แน่ นอนว่าสรรพากรต้องการขยายฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความจำเป็น เพราะมีการหลีกเลี่ยงภาษีกันมาก ขณะเดียวกันระบบภาษีก็มีความไม่แฟร์แฝงอยู่มาก ตรงนี้ยังต้องการการปฏิรูปด้วย
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374849457&grpid&catid=02&subcatid=0207
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น