หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน เตรียมการป้องกันปัญหาแล้วหรือยัง?

เตรียมพร้อมไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน เตรียมการป้องกันปัญหาแล้วหรือยัง?



โดย พัชณีย์ คำหนัก
ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  


ณ เวลานี้ คนงานไทยพร้อมแล้วสำหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลเบอรี่ประจำปี 2556 ของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์  เพราะล่าสุด มีคนงานไทยได้รับอนุญาตให้ไปทำงานเก็บผลเบอรี่ที่สวีเดนแล้วจำนวน 6,000 คน และยังมีคนไทยที่ได้รับวีซ่านักท่องเที่ยวจากสถานทูตสวีเดนในกรุงเทพฯ แล้วราว 4,000 คน ตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงมิ.ย. แต่ไม่ทราบว่าในจำนวนนี้ ไปเก็บผลไม้ป่าจำนวนกี่คน ทั้งนี้ คนที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าจำนวนมากมักถือวีซ่านักท่องเที่ยว  ส่งผลให้มีคนงานเป็นจำนวนมากแข่งขันกันเก็บเบอรี่ แบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าบริการที่จ่ายให้แก่บริษัทจัดหางาน 70,000-80,000 บาท รวมทั้งยังต้องออกค่าใช้จ่ายในระหว่างทำงาน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน อีกหลายหมื่นบาท (รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 150,000 บาท)  และเช่นเดียวกันคนงานจำนวนหนึ่งจากอำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานีเพิ่งออกเดินทางไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ จากจำนวนทั้งสิ้นที่ได้รับอนุญาตประมาณ 2,000 คน และจะทยอยเดินทางไปยังสวีเดนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า


ก่อนหน้านี้ไม่นาน อาจจะด้วยความบังเอิญ เว็บไซด์ข่าวภาษาสวีดิช Aftonbladet พาดหัวว่า เจ้าแห่งธุรกิจเบอรี่ : ผมถูกหุ้นส่วนโกง (Head line: King of Berries: I was cheated by my companions) กล่าวคือ นาย Ari Hallikainen อายุ 52 ปี เจ้าของบริษัท ลอมโจ้ บาร์ (Lomsjö Bär) ประเทศสวีเดน ที่หอบเงินหนีจำนวนหลายล้านบาทมายังเมืองไทยและทิ้งคนงานไทยเก็บผลไม้ป่า เมื่อปี 2553 จำนวน 156 คน โดยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย ถูกตำรวจไทยจับกุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และถูกคุมขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรอส่งกลับประเทศสวีเดน (ข่าวตีพิมพ์ลงวันที่ 4 ก.ค.56.  ที่มา: เว็บไซด์ Aftonbladet, http://www.aftonbladet.se/nyheter/article16323048.ab ) ผู้เขียนใคร่ถามกระทรวงแรงงานว่า คิดอย่างไรกับข่าวการจับกุมเจ้าของธุรกิจผลไม้เบอรี่กรณีนี้?


หลังดำนาเสร็จตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป คนงานไทยที่มีอาชีพทำนา ก็จะเตรียมตัวออกเดินทางอย่างไม่ชักช้า เพื่อเข้าทำงานในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลเบอรี่ตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมถึงสิ้น เดือนกันยายน ซึ่งต่างกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าแก่บริษัทจัดหางานจำนวน 75,000 บาท เข้ารับการอบรมจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เซ็นสัญญากับบริษัทเป็นที่เรียบร้อย (สัมภาษณ์คนงานไทยไปทำงานสวีเดน ม.2 อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี. 12 ก.ค. 56 โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย)

จากบทเรียนที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาการเอารัดเอาเปรียบคนงานไทยเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน ที่ทำให้คนงานขาดทุนเป็นหนี้จำนวนมากและยากจนนั้น มี 4 ประการ คือ

1. การไม่มีหลักประกันว่า คนงานจะมีรายได้ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายของสวีเดน (ประมาณเดือนละเกือบ 80,000 บาท) และมีกำไรกลับมา ตามที่กรมการจัดหางานชักชวน เนื่องจากเคยเกิดปัญหานายจ้างโกงค่าจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด หรือตามที่ตกลงกับลูกจ้างไว้ ในช่วงเวลาที่คนงานใกล้จะกลับบ้านเต็มที  นอกจากนี้ ปัญหาจำนวนคนเข้าไปเก็บมีจำนวนมาก โดยเฉพาะคนงานที่ไปในฐานะนักท่องเที่ยวนับหมื่นคน  พร้อมๆ กับที่คนงานไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า จะมีผลไม้เพียงพอสำหรับทุกคนหรือไม่ พอที่จะได้กำไรกลับมาไหม โดยที่การเก็บไม่ต้องอาศัยประสบการณ์อะไรมากนัก  อีกทั้งการที่ผู้รับเหมาช่วง ปล่อยคนงานให้โดดเดี่ยว ไม่ดูแลหาผลไม้ป่าตามป่าเขาต่างๆ ผลักภาระให้คนงานไปหาเอง ซึ่งเดินทางออกไปไกลนับร้อยกิโลเมตร

2. การบริหารงานของนายจ้างแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน นายจ้างบางแห่งบังคับให้คนงานต้องกลับมานอนในแค้มป์ ไม่อนุญาตให้พักตามเขา ซึ่งคนงานบ่นว่า เดินทางไปนับร้อยกิโลเมตรและกลับดึกมาก  การโอนเงิน หักเงินค่าใช้จ่ายของคนงานต้องผ่านธนาคารที่เมืองไทยก่อน การแลกเปลี่ยนเงินตราที่สร้างภาระให้แก่คนงาน การค้ำประกันเงินกู้ของนายจ้าง/นายหน้าไม่เหมือนกัน มีการเซ็นสัญญาฉบับที่ 2 ที่ปลายทาง การหักค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่ต่างกันบ้าง การจัดหาความสะดวกสบายที่พัก รถ เช่น รถเสียบ่อย ทำให้เสียเวลาทำงาน การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ ชั่วโมงการทำงาน สภาพการทำงานที่หนัก พักผ่อนน้อย เร่งงาน อาหารการกินซ้ำๆ เป็นต้น

3. คนงานไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นสำหรับตัดสินใจที่จะไปทำงาน ต่างประเทศ เช่น การได้รับแจ้งถึงจำนวนคนไปทำงาน ประมาณการจำนวนผลไม้ แต่สิ่งที่จูงใจให้ไปคือ การบอกว่าจะได้เงินกลับมาหลายหมื่นจนถึงแสนบาท และการเลือกรับข้อมูลตัวอย่างบุคคลที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น โดยไม่ตระหนักถึงปัญหาและบทเรียนที่ผ่านมา ทั้งนี้ คนงานไม่มีทางเลือกของอาชีพอื่นที่ดีกว่า จึงต้องออกไปแข่งขันกันเก็บผลไม้ และไปอีกเป็นครั้งสอง ครั้งที่สาม  อย่างไรก็ตามยังมีคนงานบางส่วนที่เคยไปแล้วผิดหวังกลับมา ไม่ประสงค์จะเดินทางอีก เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะแบกความเสี่ยงนี้

4. นโยบายส่งออกแรงงานไทย เชิญชวนคนงานไปทำงานเก็บเบอรี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขาดการเพิ่มมาตรการดูแลสิทธิประโยชน์ของคนงาน ไม่มีการบังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างให้ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ประกันไว้ และไม่มีนโยบายปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานไทยในต่างประเทศ ขาดการตรวจสอบ ลงโทษบริษัทจัดหางาน นายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย  นอกจากนี้ อนุญาตให้บริษัทจัดหางานที่เคยถูกคนงานหลายร้อยคนร้องเรียน ขึ้นศาล ดำเนินการจัดหางานเช่นเคย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหากระบวนการจัดหางานที่ไม่เป็นธรรม และสัญญาจ้างที่คนงานยังเสียเปรียบอยู่มาก

เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิแรงงาน

กรณีฟินแลนด์
สำหรับคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ หากมีปัญหาถูกนายจ้างเอาเปรียบละเมิดสิทธิในเรื่องของสภาพการทำงาน เงินเดือน สามารถปรึกษาทนายความคุณ Ville Hoikkala โดยส่งข้อความ sms พิมพ์คำว่า Thai และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ ส่งไปที่หมายเลขโทรศัพท์ +358 50 407 2829 จากนั้นทนายความจะติดต่อกลับไปเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ที่มา : http://villehoikkala.com/lakipalvelu-ville-hoikkala/en/ )
กรณีสวีเดน
คนงานไทยสามารถติดต่อสหภาพแรงงานคอมมูนัลที่มีสาขาอยู่ทุกเขตเทศบาล โดยโทรศัพท์ติดต่อในเวลาทำการ ได้ที่ 010-442 7000  แฟกซ์  08-31 87 45 หรือติดต่อแผนกต่างๆ ดังปรากฏในเว็บไซด์ www.kommunal.se/avdelningar
หรือติดต่อร้องทุกข์ที่สถานทูตไทยประจำประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งคนงานมักมีประสบการณ์ร้องเรียนหน่วยงานดังกล่าว และก่อนที่จะเดินทางกลับ คนงานต้องทราบถึงสิทธิและร้องเรียน เรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของประเทศนั้น เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนงานโดยรวม
 
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น