หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหาร เร่งนิรโทษกรรม พร้อมเยียวยา

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหาร เร่งนิรโทษกรรม พร้อมเยียวยา



 

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย แจงไม่ได้หนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใดโดยเฉพาะ แสดงจุดยืนต้องเอาผิดทหารทุกระดับ หนุนทุกฝ่ายที่ส่วนร่วมในกมธ.ร่าง หนุนนิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมเยียวยาความเสียหาย

(1 ส.ค. 56) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำกิจกรรมด้านการเมืองและ สังคม ได้เดินทางมายังรัฐสภา ในเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและการแก้ไข ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง โดยสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่สวมชุดนักโทษ สร้างความสนใจให้กับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นจำนวนมาก
      
นาย รัฐพล ศุภโสภณ โฆษกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ บริเวณห้องโถงชั้น 1 ของอาคารรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อแสดงจุดยืนและความเห็นต่อการนิรโทษกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาในสัปดาห์นี้
       
นาย รัฐพลกล่าวว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 อันเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ได้ทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่วงจรความขัดแย้งความรุนแรง การแย่งชิงอำนาจ จนนำไปสู่การสูญเสียและการจับกุมประชาชนจำนวนมาก ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง มาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง



ดังนั้นเพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าว การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน โดยไม่รวมไปถึงระดับแกนนำหรือต้นเหตุของความรุนแรงเนื่องจากผู้ที่ตกเป็นผู้ กระทำผิดนั้นล้วนเป็นเพียงผู้ร่วมเรียกร้องที่กระทำผ่านการชี้นำของฝ่ายแกน นำเท่านั้น ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาการ ทำให้การกระทำความผิดของบุคคลเหล่านี้ ล้วนทำไปด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งในสถานการณ์ปกติ หากไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง บุคคลเหล่านี้ก็ย่อมจะไม่ออกมากระทำการต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏ


การนิรโทษกรรมก็เปรียบเสมือนยาที่ช่วยบรรเทาความล้มเหลวจากกระบวนการ ยุติธรรม เพราะขณะที่ประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี พวกเขากลับไม่สามารถได้รับสิทธิสำคัญในกระบวนการยุติธรรม เช่น สิทธิการประกันตัว อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิทางร่างกาย เช่น ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกซ้อมทรมานในเรือนจำ จากผู้ต้องขังคนอื่นที่มีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน
  
ด้วย เหตุนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จึงขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการนิรโทษกรรม แต่ไม่ได้สนับสนุนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับใดโดยเฉพาะ แต่มาให้ความเห็นในฐานะนักศึกษาที่สนใจการเมืองว่า


1. ไม่นิรโทษกรรมทหารในระดับผู้สั่งการและผู้นำฝ่ายพลเรือน เพราะว่ามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือโดยรวมเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย รวมถึงทหารในระดับปฏิบัติการที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือปฏิบัติตามคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา

2. สนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเสนอร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรงเพื่อ ถกเถียงในขั้นตอนของการออกกฎหมาย และอนุญาตให้ประชาชนรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมของคณะกรรมาธิการได้

3. สนับสนุนให้การนิรโทษกรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด ใน เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าบุคคลใดไม่สมควรจะได้รับโทษ บุคคลนั้นก็สมควรที่จะพ้นจากสภาพนักโทษอย่างรวดเร็วที่สุด ความล่าช้าของกระบวนการนิรโทษกรรมย่อมหมายความว่าบุคคลที่ได้รับโทษจะต้อง สูญเสียโอกาสในการใช้เสรีภาพ โอกาสในการทำมาหากิน และโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็น และ

4.ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะการที่บุคคลหนึ่งได้รับโทษนั้นจะต้องเกิดความสูญเสียแก่โอกาสและทุนที่ ได้สั่งสมมา นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียอิสรภาพและทางทำมาหากินที่ย่อมส่งผลกระทบไม่ใช่ เฉพาะต่อผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเท่านั้นแต่ยังรวมถึงครอบครัวพวกเขาเหล่า นั้น ดังนั้นการนิรโทษกรรมอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ รัฐจะต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาแก่ความเสียหายเหล่านั้นอย่างเหมาะสม

จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้เดินทางมารับหนังสือแสดงจุดยืนด้วยตัวเอง จากโฆษกของกลุ่มฯ และยังได้ร่วมพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มฯ อย่างเป็นกันเองอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่อาคารรัฐสภาแล้ว ในช่วงบ่ายเป็นต้นไป กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตยได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่ง ไปทำกิจกรรมที่ Sky Walkสถานีบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแจกเอกสารเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดย นายปณิธาน พฤษภาเกษมสุข บุตรชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ผู้ต้องขังคดี 112 เดินทางไปยื่นหนังสือและร่วมพูดคุยกับนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่อาคารรัฐประศาสน์ภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/08/47971

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น