ความคิดบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในอียิปต์
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
เวลา
เห็นมวลชนพรรคมุสลิมโดนฆ่าเหมือนผักปลาหลายร้อยคน
ตอนแรกมันยากที่จะพูดอะไรออกมาด้วยสติปัญญา นอกจากจะหลุดปากออกมาว่า
“ทหารระยำชาติหมา” แต่สักพักเราต้องตั้งสติเพื่อวิเคราะห์และเรียนบทเรียน
อย่างน้อยเพื่อคนที่ตายไป ในอียิปต์และไทย และเพื่อเราเองที่รอดมาด้วย
ภาพอาชญากรรมรัฐ ที่ทหารก่อต่อประชาชนอียิปต์
เป็นภาพการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนเพื่อระงับกระบวนการปฏิวัติอียิปต์
และทำลายพรรคมุสลิม
มันเป็นวิธีการที่ชนชั้นปกครองเดิมจากสมัยเผด็จการมูบารักหวังจะได้อำนาจ
กลับคืนมา และถ้าเขาทำกับมวลชนพรรคมุสลิมได้
เขาก็จะเดินหน้าทำกับนักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม และคนหนุ่มสาว
ที่เป็นแกนหลักของการปลุกกระแสการปฏิวัติเมื่อสองปีก่อน แต่เรื่องยังไม่จบ
ในการปฏิวัติทุกครั้ง ทุกยุค ทุกที่ เราจะเห็นการเดินหน้าและถอยหลัง และที่เราเห็นวันนี้คือการถอยหลัง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นจุดจบ
พรรคมุสลิมเป็นฝ่ายค้านในสมัยเผด็จการมูบารักมานาน
แต่เป็นฝ่ายค้านที่พยายามหาทางประนีประนอมตลอด
ตอนแรกที่มวลชนออกมาประท้วงมูบารัก พรรคมุสลิมไม่เอาด้วย
ต้องให้สมาชิกหนุ่มสาวลากไปจนยอมร่วมต้านมูบารักในจตุรัสทาห์เรีย
พอมูบารักถูกล้ม ทหารอ้างว่าเป็นมิตรประชาชน
แต่มวลชนที่ออกมาล้มมูบารักเริ่มตาสว่างและเบื่อทหารภายในไม่กี่เดือน
เพราะทหารอยากแช่แข็งความเหลื่อมล้ำและปกป้องอำนาจเก่า
หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่พรรคมุสลิมชนะ
ประธานาธิบดีมูรซี่ของพรรคมุสลิม รีบประนีประนอมกับกองทัพและสหรัฐอเมริกา
และเริ่มมีท่าทีเผด็จการมากขึ้น มีการใช้นโยบายกลไกตลาดเสรี
ซึ่งเผด็จการยุคก่อนเคยใช้ และคนจนจำนวนมากเดือดร้อนต่อไป
มีการปราบการนัดหยุดงานและคนที่เห็นต่าง
ในที่สุดมวลชนอียิปต์ออกมาประท้วงเป็นล้านๆ คน
และในนั้นรวมถึงคนที่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคมุสลิมของมูรซี่ด้วย
แต่แล้วกองทัพอียิปต์ก็ชิงการนำโดยล้มมูรซี่และนำเผด็จการทหารมาปกครองแทน
การกระทำนี้เพื่อยับยั้งการเดินหน้าของการปฏิวัติ และเพื่อปกป้องอำนาจเก่า
แต่ทหารโกหกว่าทำเพื่อประชาชน
ล่าสุด หลังจากที่มวลชนหลายส่วนที่ต้านพรรคมุสลิม ไปแสดงท่าทีสนับสนุนทหาร
เพราะหลงเชื่อว่าทหาร “อยู่ข้างประชาชน” ทหารได้ความมั่นใจมากขึ้น
จึงลงมือปราบพรรคมุสลิมด้วยความป่าเถื่อนอย่างที่เราเห็น
คำถามแรกที่บางคนอาจถามคือ
“การออกมาประท้วงประธานาธิบดีมูรซี่ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้ง ผิดหรือไม่?
เพราะดูเหมือนเปิดโอกาสให้ทหารยึดอำนาจ???” คำตอบคือไม่ผิด
เพราะถ้ากระบวนการปฏิวัติอียิปต์จะเดินหน้าไปสร้างประชาธิปไตยแท้
ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และระบบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
การปฏิวัติต้องจัดการกับมูรซี่ด้วย
เนื่องจากมูรซี่ก็ต้องการหยุดกระบวนการปฏิวัติ และแช่แข็งความเหลื่อมล้ำ
แต่ทำผ่านรัฐสภา คนที่ประท้วงมูรซี่ไม่ได้ชวนให้ทหารทำรัฐประหาร
ไม่เหมือนเสื้อเหลืองในไทย
ไทยอาจไม่ตื่นเต้นน่ากลัวเท่าอียิปต์
แต่เราก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงที่จบลงกับแค่ชัยชนะของพรรค
เพื่อไทย นำไปสู่การแช่แข็งความเหลื่อมล้ำต่างๆ นาๆ
ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง
และการหักหลังอุดมการณ์ของการต่อสู้ที่เคยถูกทหารปราบ
ปัญหาที่อียิปต์คือ มวลชนส่วนสำคัญที่ออกมาประท้วงล้มมูรซี่ หลงเชื่อว่าทหารคือมิตรของประชาชนหลังจากทหารยึดอำนาจ
องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์พูดมาตลอด ตั้งแต่สมัยล้มมูบารัก
ว่าทหารคือศัตรูของประชาชนและกระบวนการปฏิวัติ
แต่องค์กรนี้เล็กเกินไปที่จะรีบเปลี่ยนใจมวลชนเป็นล้านๆ ส่วนพวก “เสรีนิยม”
เป็นพวกที่วิ่งเข้าไปจับมือกับทหารมือเปื้อนเลือด อย่างไรก็ตาม
ในอนาคตเมื่อคนอียิปต์จำนวนมากเห็นความป่าเถื่อนของทหาร
และเมื่อรัฐบาลทหารไม่ยอมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จุดประกาย
การปฏิวัติแต่แรก เขาสามารถจะตาสว่างเปลี่ยนใจได้
และออกมาต้านทหารเพื่อให้กระบวนการปฏิวัติเดินหน้าต่อไป
นักสหภาพแรงงานที่จะต้องเผชิญหน้ากับทหาร เมื่อเรียกร้องเรื่องปากท้อง
จะตาสว่างเร็วและมีพลังทางเศรษฐกิจ
แต่ไม่มีอะไรอัตโนมัติหรือหลักประกันว่าฝ่ายประชาชนจะชนะ
ความก้าวหน้ามาจากการต่อสู้เท่านั้น
บทเรียนสำคัญสำหรับคนทั่วโลกคือ อย่าหลงเชื่อว่ากองทัพที่ไหนเป็นมิตร อย่ารอให้คนข้างบนมาแก้ปัญหาให้ เพราะพวกที่อยู่เบื้องบนเรา เขาอยู่ตรงนั้นเพื่อกดขี่ขูดรีดเราเท่านั้น มวลชนรากหญ้าต้องจัดตั้งตนเองทางการเมือง ต้องจับมือกับกรรมาชีพในสหภาพแรงงานและคนหนุ่มสาว และต้องมั่นใจว่าถ้าเรารวมพลังเราเปลี่ยนโลกได้
(ที่มา)
http://redthaisocialist.com/2011-01-20-12-41-04/438-2013-08-15-18-18-12.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น