ปะทะ สังสรรค์ ทางเศรษฐกิจ การเมือง รุนแรง แหลมคม
ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในที่สุดล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน
อยู่ที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ"
อยู่ที่ "คณะกรรมการ ป.ป.ช."
คนที่นำร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้เข้าร้องผ่าน "องค์กรอิสระ" เหล่านี้ 1 คือพรรคประชาธิปัตย์ 1 คือกลุ่ม 40 ส.ว.
และ 1 คือกลุ่มที่เคลื่อนไหว "บนท้องถนน"
แม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะผ่านวาระ 3 ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภามาแล้ว
ยังมีวาระ 4 อยู่ที่ "องค์กรอิสระ"
ถามว่าปฏิกิริยาและการเคลื่อนไหวเช่นนี้สะท้อนอะไรในทางความคิด ในทางการเมือง
คำ ตอบ 1 สะท้อนความขัดแย้งอันดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและถึงจุดปะทุและล่อ แหลมอย่างยิ่งที่จะเกิดการแตกหัก คำตอบ 1 สะท้อนการจัดกระบวนแถวใหม่ทั้งในทางการเมืองและในทางการจัดตั้ง
เป็น "มรสุม" ก่อน "เปลี่ยนผ่าน"
หากนำเอาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ นำเอาร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นำเอาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มาวางเรียงเคียงกัน
จะเห็น "กระสวน" ของความขัดแย้งไป 2 กระสวน
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เมื่ออยู่ใกล้กับร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นภาพอันสวนทางกันของกระบวนการพัฒนาประเทศ
เป็นเรื่องในทาง "เศรษฐกิจ"
ขณะ เดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดำเนินไปอย่างประสานกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แสดงให้เห็นถึงภาพแห่งความขัดแย้ง แตกแยกในทางการเมือง
ก่อนและหลังรัฐประหาร 2549
ยิ่งลงลึกไปในรายละเอียดก็จะยิ่งตระหนักได้ในความขัดแย้ง แตกแยก ซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทย
ฝ่าย 1 ต้องการก้าวไปข้างหน้า เกาะติดกระแสของโลก
ฝ่าย 1 ต้องการหยุดนิ่งอยู่กับที่และเห็นว่าไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น รักษาสถานภาพเดิมไว้ดีกว่า
ฝ่าย 1 เคลื่อนไหว ฝ่าย 1 สถิต
เพราะว่าถนนทุกสายของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.มุ่งตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ มุ่งตรงไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.
องค์กรอิสระเหล่านี้จึงตกเป็น "เป้า"
หากประเมินจากรากที่มาขององค์กรอิสระเหล่านี้ซึ่งแนบแน่นอยู่กับขบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างแนบแน่น
ก็เป็นเรื่อง "หวาดเสียว"
หวาดเสียวว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีชะตากรรมเหมือนรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
หวาดเสียวว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นเช่นพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย
ขณะ เดียวกันหากคำนึงถึงความเป็นจริงที่ผ่านมาตลอด 7 ปี จากเดือนกันยายน 2549 มาถึงเดือนตุลาคม 2556 มีบทเรียนแห่งความขัดแย้ง ความแตกแยก อันหมักหมมและพ่นพิษร้ายอย่างเห็นเป็นรูปธรรมและมีความเด่นชัด
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ควรเคราะห์ร้าย
พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ควรถูกผลักลงไปในหลุมดำแห่งอคติและความเกลียดชังเช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย
"มาตรฐาน" สมควรได้รับการ "ยึดกุม"
ไม่ว่าดวงดาวจะโคจรกันอย่างไร แต่สถานการณ์ในเดือนตุลาคมทรงความหมายเป็นอย่างสูง
1 สะท้อนว่าการเมืองในสังคมไทยมีวุฒิสภาวะมากน้อยเพียงใด 1 สะท้อนว่าหลักการจะยังเป็นบรรทัดฐานเหนือ
"หลักกู" หรือไม่ อย่างไร และที่สำคัญ 1 คิดถึงความรู้สึกของชาวบ้านหรือไม่
"ชาวบ้าน" จะทนรับ "ได้" อีกหรือไม่
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380614356&grpid=01&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น