หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ใครทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากที่สุด

ใครทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากที่สุด


 
สิ่งที่ทำลายทรัพยากรและใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย คือกลไกตลาด ระบบกลไกตลาดยินดีที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปทิ้งทะเล หรือปล่อยให้เน่าเสีย เพียงเพื่อต้องการรักษาระดับราคาไม่ให้ตกต่ำ หรือระบบกลไกตลาดยินดีที่จะปล่อยให้เกิดบ้านร้าง ถ้าไม่มีคนชื้อ ทั้งๆ ยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

โดย วัฒนะ วรรณ

จากปรากฏการณ์กระแสรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้ปรากฏแนวคิดบางด้าน ที่เสนอว่า คนชั้นกลางในเมืองคือผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และอีกแนวตรงข้ามก็กล่าวหาคนชั้นกลางในเมือง โลกสวย ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของคนชนบท ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม น้ำแล้งมาตลอดหลายปี

คนชั้นกลางในเมือง จึงถูกกล่าวหาจากทั้งสองฝั่งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่คัดค้านการสร้างเขื่อนและฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน คนชั้นกลางในเมือง ที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นการพูดถึงแบบกว้างๆ เบลอๆ ไม่มีนิยามตายตัว แต่พอจะคาดเดาได้บ้างว่าน่าจะหมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในเมือง มีรายได้ระดับหนึ่งอาจจะสองหมื่นบาทขึ้นไป ที่สามารถใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหาร ในสถานบันเทิง สถานบริการต่างๆ เป็นปกติ แต่การนิยามและการกล่าวหาเช่นนี้ไม่ช่วยทำให้เรามองภาพได้ว่า แท้จริงแล้วใครคือผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากที่สุด

ถ้าจะเข้าใจว่าใครทำลานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ต้องใช้แนวคิดการแบ่งชนชั้นตามแนวคิดนักมาร์คซิสต์ โดยใช้ความสัมพันธ์การผลิตในการแบ่ง นักมาร์คซิสมองว่าในระบบทุนนิยม มีเพียงชนชั้นสองกลุ่มหลักๆ เท่านั้น คือกรรมาชีพ และนายทุน กรรมาชีพคือผู้ที่ไร้ปัจจัยการผลิต ไม่ได้ครอบครอบทรัพยากร เป็นแรงงานรับจ้าง ทำงานในโรงงาน ในสำนักงาน เป็นคนส่วนใหญ่ ส่วนชนชั้นนายทุน เป็นคนส่วนน้อย แต่ครอบครองปัจจัยการผลิต ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ที่ใช้ในการผลิต ส่วนชนชั้นกลาง จัดว่าเป็นกลุ่มชนชั้น ที่ภายในชนชั้น มีหลายระดับ โดยส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำการผลิตเอง แต่ยังไม่สามรถพัฒนาตนเองเป็นนายทุน ที่มีลูกจ้างขนาดใหญ่ได้


ผลผลิตในระบบทุนนิยมที่ถูกผลิตโดยกรรมาชีพ จะถูกยึดไปโดยนายทุน เพื่อสะสมและนำไปขยายการผลิตต่อไปเรื่อยๆ ภายใต้ระบบการสะสมทุนแบบนี้ ผลผลิตที่ถูกผลิตขึ้นจะไม่ถูกนำไปตอบสนองในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ทราบดีว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อเขา เพราะเราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากสิ่งแวดล้อม ออกจากธรรมชาติได้ มนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติมีปัญหา มนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่นอากาศเป็นพิษ แม่น้ำเน่าเสีย น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น แต่ในระบบทุนนิยมมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ จึงไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องตนเองได้

ระบบการผลิตทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันภายใต้กลไกตลาด จะสนใจแต่เพียง "มูลค่าแลกเปลี่ยน" และจะไม่สนใจ "มูลค่าใช้สอย" 

ทั้งๆ ที่มูลค่าใช้สอยมีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เช่น น้ำ อากาศ มีมูลค่าใช้สอยมาก แต่ไม่มีมูลค่าแลกเปลี่ยน การลงทุนในการดูแลปกป้องรักษา น้ำ อากาศ จึงเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพื่อนำไปสะสมทุน เพื่อแข่งขันกันในระบบทุนนิยม 
 
เราจะพบว่าระบบทุนนิยม ที่ทรัพย์สินเป็นของกรรมสิทธิ์เอกชน จะไม่ยอมนำความร่ำรวยที่ตนเองสะสมผ่านการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากกรรมาชีพ มาพัฒนา แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงรัฐบาลในระบบทุนนิยมด้วย เพราะถ้ารัฐลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ก็ต้องไปเก็บภาษีเพิ่มจากนายทุน ซึ่งรัฐสภาแบบทุนนิยมจะเต็มไปด้วยตัวแทนของนายทุน

นอกจากนี้ระบบแข่งขันของระบบทุนนิยม จะเป็นตัวกดดันบริษัทเอกชน ไม่ให้มีการลงทุนสร้างโรงงานที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะจะต้องลงทุนเพิ่ม นายทุนรายเดียวจะไม่มีทางทำเพราะจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่สามารถแข่งขันกับ นายทุนอื่นได้ และถ้ามองในระดับจักรวรรดิ นี่คือเหตุผลข้อหนึ่งที่ สหรัฐฯ จีน ไม่ยอมลงนามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่คาดกันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโลกร้อน เพราะจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม ไม่สามารถแข่งขันกับจักรวรรดิอื่นได้
ในส่วนการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย คนจน กรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมือง ไม่ได้เป็นผู้ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด กลับกันจะเป็นกลุ่มที่มักจะไม่มีโอกาสใช้ทรัพยากรที่เพียงพอต่อการพัฒนา คุณภาพชีวิตของตนด้วยซ้ำ สิ่งที่ทำลายทรัพยากรและใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย คือกลไกตลาด ระบบกลไกตลาดยินดีที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปทิ้งทะเล หรือปล่อยให้เน่าเสีย เพียงเพื่อต้องการรักษาระดับราคาไม่ให้ตกต่ำ หรือระบบกลไกตลาดยินดีที่จะปล่อยให้เกิดบ้านร้าง ถ้าไม่มีคนชื้อ ทั้งๆ ยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย การกล่าวหา กรรมาชีพ หรือคนธรรมดาในเมือง จึงเป็นความพยายามบิดเบือนประเด็น หลีกเลี่ยงการปะทะกับระบบทุนนิยม สุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้เกิดการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่อย่าง ใด

นักมาร์คซิสต์เสนอว่า ถ้าจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ได้ผลต้องยกเลิกระบบทุนนิยมที่นำทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยี ที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ทำการผลิตเพื่อการแข่งขัน เปลี่ยนมาเป็นของส่วนรวม นำมาตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ โดยการวางแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เมื่อคนส่วนใหญ่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ก็จะสามารถออกแบบ สร้างสรรค์ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/10/blog-post_3.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น