วรพล พรหมิกบุตร เสียชีวิตแล้ว
วรพล พรหมิกบุตร มอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสู้คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามหมายจับของ ศอฉ. ในปี 2553 ทั้งนี้เขาถูกควบคุมตัว 7 วันที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี เป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา (ที่มาของภาพ: ไทยอีนิวส์/แฟ้มภาพ)
12 พ.ย. 2556 - มีรายงานว่า วรพล พรหมิกบุตร รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียชีวิตแล้วช่วงเย็นวันนี้ (12 พ.ย.) ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลภูมิพล เขตสายไหม กทม. สิรอายุ 57 ปี และจะมีพิธีรดน้ำศพในช่วงบ่าย ของวันที่ 13 พ.ย. ที่วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กทม.
โดยธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ซึ่งอยู่ระหว่างปราศรัยที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ ได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตดังกล่าวต่อผู้ชุมนุม และมีการกล่าวไว้อาลัยให้กับวรพลด้วย
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์
สำหรับ วรพล พรหมิกบุตร เกิดเมื่อปี 2499 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาได้ศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2525 เป็นผู้เขียนวิทยานิพนธ์ความยาว 229 หน้า หัวข้อ "ความเป็นจริงทางสังคม: ปัญหาการวิเคราะห์และความเป็นศาสตร์ของสังคมวิทยา" (อ่านบทคัดย่อได้ที่นี่)
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรพลได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตในปี 2530 หัวข้อวิทยานิพนธ์คือ "The logic of foreign AID : a case study of its impact on Thailand's postwar development"
สำหรับความสนใจทางวิชาการของเขาระหว่างที่สอนอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและ มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ การวิเคราะห์ระบบสื่อสารมวลชนไทยและผลกระทบเชิงสังคม-วัฒนธรรม ประเด็นความสาคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจการเมืองต่อวิถีชีวิตสังคมและชุมชน การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ฯลฯ
ร่วมต้านรัฐประหาร - ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 วรพล พรหมมิกบุตร เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา และร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง ในปี 2550 หลังเหตุการณ์ 22 ก.ค. 2550 หรือการสลายการชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งทำให้แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. 8 ราย ถูกตำรวจควบคุมตัว ในวันที่ 29 ก.ค. 2550 วรพลเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมกับ "แนวร่วมนักกฎหมายนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน" แถลงข่าวที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำ นปก.
ในช่วงการชุมนุมของ นปช. ในปี 2553 เขาตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ 19/2553 ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 โดยเขาได้มามอบตัวที่กองปราบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกับตำรวจกองปราบในวัน ที่ 14 มิ.ย. 53 ทั้งนี้เขายืนยันว่าไม่มีเจตนาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขึ้นปราศรัยเพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม และเรียกร้องรัฐบาลว่าไม่ควรใช้อำนาจเกินเลย โดยวรพลถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลา 7 วัน ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี ก่อนถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา
นอกจากนี้ เขายังมีรายชื่อปรากฏอยู่ท้ายคำสั่ง ศอฉ.ที่ 49/2553 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2553 ห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของ บุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ศอฉ. จึงมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
ต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และบทความเรื่องสุดท้าย
วรพล แสดงความเห็นและร่วมอภิปรายทางการเมืองอยู่เป็นระยะ ล่าสุดนั้นเขาแสดงความเห็นคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ หรือฉบับเหมาเข่งด้วย โดยในบทความหัวข้อ "การเมืองไทยปลาย 2556 : พายุใหญ่และวิกฤตประชาธิปไตย" เขาเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่มีการแก้ไขนั้นเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาแตกต่างอย่างขัดหลักการกับ ฉบับวรชัย เหมะ ที่สภามีการลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 และเห็นว่าการเคลื่อนไหวผลักดันให้ผ่านในวาระที่ 2 และ 3 ถือเป็นการ "ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐนิติธรรม และฝ่าฝืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย"
ล่าสุดวรชัย ร่วมการชุมนุมของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2556 ที่แมคโดนัลด์ สาขาอมรินทร์พลาซ่า และที่แยกราชประสงค์ เพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง (ชมการอภิปรายของวรพล) และในวันที่ 10 พ.ย. 2556 เขาเดินทางไปเป็นวิทยากรให้กับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในระหว่างการจัดกิจกรรมโรงเรียนการเมือง นปช. ที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองด้วย (การอภิปรายของวรพล)
ทั้งนี้วรพล ยังเขียนบทความขนาดสั้น จั่วหัวว่า "การเมืองไทยปลาย 2556" เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทเป็นระยะ และล่าสุดในวันนี้ (12 พ.ย.) เขาได้ส่งบทความหัวข้อ "การเมืองไทยปลาย 2556: กองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย" มาให้เผยแพร่ด้วย นับเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขา
(ที่มา)
http://prachatai.com/journal/2013/11/49758
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น