หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นศ.มอ.ปัตตานี แถลงค้านการประกาศท่าทีทางการเมืองของกลุ่มผู้บริหารมหาลัย

นศ.มอ.ปัตตานี แถลงค้านการประกาศท่าทีทางการเมืองของกลุ่มผู้บริหารมหาลัย


 

ถ้อยแถลงดังกล่าวของมหาวิทยาลัยในข้างต้น ได้สร้างความคับข้องใจให้กับ อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรจำนวนไม่น้อย ในการแสดงท่าทีของมหาวิทยาลัยที่มีต่อวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน  โดยข้อเสนอดังกล่าว หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงทางสังคมไม่ หากเป็นแค่นามธรรมยากต่อการปฏิบัติได้จริง อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวก็หาได้เป็นข้อคิดเห็นที่ได้รับความเห็นชอบจากมวล สมาชิกทั้งหมดของมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อสนองต่อทัศนคติหรือรสนิยมทางการเมืองของคนกลุ่ม หนึ่งเท่านั้น ทางกลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงได้ตั้งข้อสังเกตกับถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. การเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุม กระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการสถาปนาอำนาจขึ้นมาเอง อีกทั้งยังเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐ ธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตยในระยะยาว

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุม ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะเป็นข้อเสนอที่ดีด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควร ให้ความรุนแรงกับประชาชน อีกทั้งการชุมชนอย่างสงบก็เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งควรเคารพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเหล่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นกลุ่มนักศึกษาก็มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าวเพียง ครึ่งเดียว เนื่องด้วยการเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หาได้รวมไปถึงผู้ชุมนุมไม่ ซึ่งหากติดตามข่าวสารก็จะปรากฏชัดว่าความรุนแรงส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากฝ่าย ใด

3. ต่อต้านการหมิ่นเบื้องสูงซึ่งแท้จริงควรเป็นต่อต้านการอ้างสถาบันพระมหา กษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่สังคมไทยต้องเผชิญนั้นคือความขัดแย้งระหว่าง พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้เป็นการดึงพระองค์ เข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

4. การกล่าวถึงคุณธรรม จริยธรรม นั้นเป็นการเรียกร้องนามธรรมเลื่อนลอย หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงในสังคมไม่ อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าคนบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยยังคงผูกติดอยู่กับฐานคิด ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ของประชาชน ขาดคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ก็ด้วยเหตุที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคารพในความคิดเห็นของคนอื่น และมองคนอย่างไม่เท่าเทียมกันมาโดยตลอด

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงขอให้ถือเสียว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นของคณะผู้บริหาร และสมาชิกบางส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หาได้ถือว่าแถลงการณ์ครอบคลุมความคิดเห็นของสมาชิกทั้งหมดไม่ อีกทั้งยังให้ถือว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นไปในนามของบุคคล ใช่เป็นในนามมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1. คัดค้านการใช้ความรุนแรง และการยั่วยุทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุม

2. การชุมนุมเรียกร้องควรเป็นไปในวิถีทางการเรียกร้องประชาธิปไตย ใช่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องระบอบการ
ปกครองอื่นที่นอกเหนือออกไปจากระบอบประชาธิปไตย

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ โดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริง หาได้เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการซ่อนรูปอย่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550

4. ขอให้รัฐบาลคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชน  เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย


ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย

(อ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น