'จักรภพ' ชี้สัมพันธ์สร้างสรรค์กับชาติเพื่อนบ้าน จะเกิดได้ต่อเมื่อปฏิรูปการเมืองเสียก่อน
จักรภพ
ระบุในอดีตไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะกัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ
ส่วนไทยเหมือนอันธพาลท้องถิ่นพร้อมใช้กำลังเสมอ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องละทิ้งมุมมองนี้ให้ได้
แนะควรส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก
อย่าสร้างภาพกระเหี้ยนกระหือรือใช้กำลังทหาร
ด้านทูตไทยที่กรุงเฮกระบุให้การศาลโลกวันนี้
ทนายฝ่ายไทยจะแสดงแผนที่หลายฉบับ
วันนี้ (17 เม.ย.) นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งลี้ภัยต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นกรณีการให้การที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีไทย-กัมพูชา ทางเฟซบุคบัญชีส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า
"พี่น้องหลายท่านถามผมเรื่องคดีปราสาทพระวิหารในศาลสถิตย์ยุติธรรม ระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะนี้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเบิกความโดยการแถลงด้วยวาจาไปก่อนเมื่อวันจันทร์ (15 เมษายน) ที่ผ่านมาและฝ่ายไทยเราจะใช้สิทธิ์อย่างเดียวกันในวันนี้ ท่านอยากให้ผมวิเคราะห์ท่าทีของกัมพูชาตามที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กัมพูชานำคณะแถลงไป รวมถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย"
"จักรภพ" ระบุไทยแพ้คดีพระวิหารเพราะอ้างกรรสิทธิแบบท้องถิ่น ขณะที่กัมพูชายึดมุมมองระหว่างประเทศ
"ยินดีช่วยตอบครับ ผมขอตัวที่จะไม่อธิบายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะอธิบายตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับภูมิภาค และการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์อันแท้จริง เราต้องรู้ก่อนอะไรอื่นว่าคดีความนี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมืองของแต่ละ ฝ่าย ไม่ใช่ข้อพิพาททางกฎหมายล้วนๆ ผมกล้าพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ICJ จะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ก็จะไม่จบสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าการเมืองไทยยังแตกแยกกันเป็นจุลถึงขนาดนี้"
"ทบทวนสั้นๆ ในเงื่อนปมที่สำคัญกันเล็กน้อยนะครับ ไทยเราแพ้คดีปราสาทพระวิหารในศาลเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ. 2505 หรือหนึ่งปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ 2 ครั้ง 2 ยุคที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในการสู้คดี หนึ่งคือเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเสด็จทอดพระเนตรปราสาทพระวิหารใน พ.ศ. 2472 จนฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างว่า เจ้านายองค์สำคัญในพระราชวงศ์และรัฐบาลไทย (ขณะนั้นยังเป็นรัฐบาลของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) ยังทรง “รับเชิญ” ซึ่งแสดงว่าทรงยอมรับว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา สองคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามถือโอกาสชุลมุนในช่วงนั้นส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่พิพาท กับกัมพูชาไว้หลายจุด รวมทั้งเขาพระวิหาร (ตามชื่อเรียกในขณะนั้น) ด้วย แต่เมื่อสงครามเลิกก็ถูกบังคับให้ส่งคืนหมด เหตุการณ์หลังนี่เอง ที่กระตุ้นกัมพูชายื่นฟ้องต่อ ICJ ดังกล่าวข้างต้น"
"วิเคราะห์ตรงนี้สักเล็กน้อยครับ ไทยเราต่างจากกัมพูชาในขณะนั้นตรงที่ว่า เราพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินผืนนั้นโดยใช้มุมมองแบบท้องถิ่น (Local approach) ในขณะที่กัมพูชาผู้ร่วมผลประโยชน์กับฝรั่งเศสเดินเกมโดยใช้มุมมองระหว่าง ประเทศ (International approach) มาตั้งแต่ต้น ทำให้ภาพต่อสายตาโลกกลายเป็นว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยึดกฎหมาย แต่ไทยเป็นเสมือนอันธพาลท้องถิ่นที่พร้อมใช้กำลังเสมอ ถ้าฟังคำพูดของนายฮอร์ นัมฮงเมื่อสองวันก่อนให้ดีจะพบว่ากัมพูชายังเดินเกมเดิม นั่นคือทำให้เกิดภาพว่าไทยเป็นฝ่ายหาเรื่องก่อนและพร้อมใช้กำลังกับกัมพูชา นี่คือข้อหนึ่งที่ฝ่ายไทยในวันนี้ต้องปลดเปลื้องลงให้ได้ โดยลำดับเรื่องให้เห็นพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายให้ชัด"
แนะส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก อย่าสร้างภาพกระเหี้ยนกระหือรือใช้กำลังทหาร
นายจักรภพเขียนด้วยว่า "ไทยเราจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้ภาพทหารหรือการใช้กำลังใดๆ ปรากฎออกไป แค่แสดงความพร้อมรบก็ไม่ควรเพราะยังไม่ใช่เวลา แม่ทัพนายกองทั้งมวลจะทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในขณะนี้เลย ความจริงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไม่ควรไปนั่งอยู่ในศาลด้วยซ้ำ อย่าลืมว่า เราแพ้คดีเมื่อ พ.ศ.2505 ส่วนหนึ่งเพราะถูกกล่าวหาว่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะใช้กำลังทหารอยู่ตลอด เวลา แล้วเราจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นเชิงลบนั้นทำไมในเวลานี้ เสียคะแนนไปเปล่าๆ"
"เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจไทยจะเข้าใจสักทีว่า โลกเขานับถือว่าพลเรือนต้องเหนือกว่ากองทัพและต้องควบคุมกองทัพได้ ขนาดผู้นำทหารที่กลายมาเป็นผู้นำทางการเมืองเขายังเลิกใช้ยศทหารกันเลย คนที่เอะอะก็อวดสรรพกำลังอยู่เรื่อยนั้นเขามองว่าด้อยพัฒนาและยังมีสัญชาติ ญาณสัตว์สูงไปหน่อย คำแนะนำคือซ่อนเอาไว้เสียหน่อยครับ อย่าออกอาการมากนัก"
"ยิ่งเมื่อเกิดการปะทะกันอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 หลังจากกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ไม่นาน จนมีคนตาย บาดเจ็บ และต้องอพยพหนีตายกันเป็นร้อยคน ก็ยิ่งทำให้อาการในช่วงก่อนของเราปรากฏชัดขึ้นมาอีก อย่าลืมว่าเมื่อเขายื่นขอเป็นมรดกโลก ไทยเราก็ยื่นคัดค้านและขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างสอง ประเทศ แต่เราก็ถอนออก เหตุปะทะทางทหารก็เกิดขึ้นตามมา ลองนึกภาพดูก็ได้ว่าครับใครเสียเปรียบในเรื่องภาพลักษณ์ ทำไมผมถึงห่วงนักในเรื่องภาพลักษณ์? ก็เพราะภาพลักษณ์นี่ล่ะครับจะส่งผลมากต่อเสียงสนับสนุนทางการเมืองในอนาคต ต่อไป ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ก็ตาม ชาติต่างๆ เขาจะสนับสนุนใครก็มิใช่เพราะข้อกฎหมายแต่อย่างเดียวหรอกนะครับ ควรระลึกว่าเขาเทคะแนนให้คนที่เป็นพระเอกและไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอ"
"กัมพูชาใช้ประโยชน์เต็มที่จากเรื่องนี้ ดูได้จากเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่รัฐบาลพนมเปญเสนอต่อ ICJ ให้ประกาศบริเวณที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร (de-militarised zone) และเขาก็ได้สมใจ ยิ่งต่อมาคณะทำงานของอาเซียนที่นำโดยอินโดนีเซีย (ผู้เป็นประธานอาเซียนปีนั้น) ประสบความล้มเหลวในการควบคุมให้เป็นไปตามคำสั่งของ ICJ ก็ยิ่งเสริมภาพความไม่น่าไว้วางใจฝ่ายไทยขึ้นอีก"
"พูดให้สั้นที่สุดคือเกมนี้ไม่ใช่เกมกฎหมาย แต่เป็นเกมสร้างภาพว่าใครเป็นคนดีและใครเป็นฝ่ายหาเรื่อง ในแง่กฎหมายนั้น ยากมากครับที่ฝ่ายไทยจะใช้เหตุผลใดๆ มาคัดง้างคำวินิจฉัยเดิมๆ ที่มีมา เพื่อให้ได้ชัยชนะที่ขาวสะอาด เมื่อสองวันก่อน ฝ่ายกัมพูชาก็ลำดับความนโยบายไทยตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเรื่อยมาจนถึง ยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้ภาพรวมออกมาอย่างที่ผมเล่าสรุปไว้ข้างต้น ฝ่ายไทยเราเดินเกมดีและได้คะแนนบ้าง ก็เฉพาะในช่วงที่เรามีรัฐบาลของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง ปัญหาคือภาพรวมในแง่ลบนั้น ฝ่ายอำมาตย์ศักดินาเขาควบคุมได้เด็ดขาด และเขาก็มีอำนาจในปัจจุบันมากกว่าเรา"
"สิ่งที่ฝ่ายไทยควรเตรียมการในขณะนี้คือ
1. ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้นร่วมกัน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม
2. การจัดคิวให้สัมภาษณ์ ให้ฝ่ายพลเรือนออกหน้าและซ่อนฝ่ายทหารไว้ให้มิดชิด
3. ทำความเข้าใจกับประชาชนและเชิญชวนให้คิดสร้างธุรกิจพัฒนาพื้นที่
4. แสดงท่าทีที่เป็นพลโลกที่มีอารยะและมีมารยาท ใช้หลักน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
แล้วเราจะได้รับประโยชน์ระยะยาวจากกรณีปราสาทพระวิหาร" โพสต์ของนายจักรภพระบุ
นอกจากนี้นายจักรภพแนะนำด้วยว่า "ผมขอจบลงตรงนี้ว่า ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนกับกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิรูปการเมืองไทยเสียก่อน ใครๆ ก็อยากพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันก็จริง แต่ถ้าท่าทีทางการเมืองแปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะอำนาจในบ้านเราเองยังแปรปรวนนั้น ใครเขาก็คบกับเราจริงจังไม่ได้ ต้องเข้ามาหนึ่งก้าวแล้วถอยไปอีกสองก้าว ดังนี้แล"
ทูตไทยระบุให้การศาลโลกวันนี้ จะแสดงแผนที่หลายฉบับ
ส่วนความคืบหน้าการขึ้นให้การทางวาจาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งวันนี้ (17 เม.ย.) ทนายฝ่ายไทยจะให้การเป็นวันแรกนั้น สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่กัมพูชาพูดเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียนอยู่แล้ว เรื่องใหม่น้อยมาก คือเรื่องแผนที่ ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา
นายวีรชัยกล่าวว่า หลังจากฟังทางกัมพูชาแล้ว ทีมของเราได้นั่งไล่ทีละประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องตอบในวาจา เพราะหลายประเด็นได้ตอบไปแล้วในข้อเขียน ซึ่งใช้อ้างได้ แต่บางประเด็นต้องพัฒนาข้อโต้แย้งข้อต่อสู้ เหมือนกังฟูว่าเราต้องปรับให้เข้ากับที่เขาออกอาวุธมาก เมื่อคืนจึงนอนน้อยมาก เพราะวันที่เขากล่าว ยากที่สุด ฟังแล้วต้องมาคิดและเขียนออกมา เมื่อคืนเขียนใหม่และส่งร่างใหม่ในวันนี้ ตอนนี้เป็นการแก้ไขขั้นสุดท้าย ของผมตอนนี้ 99.99% คืนนี้ก็จะไปซักซ้อมการพูดอีกครั้ง เรามีอะไรให้ศาลดูเยอะ เชิญชวนดูช่วงแผนที่ จะมีการนำเสนอแผนที่มาใช้หลายฉบับ นายวีรชัย กล่าว
และทนายฝ่ายไทยที่จะขึ้นพูดเรื่องแผนที่ คือ ทนายความหญิง อลินา มิรอง ผู้ช่วยของนายอแลน แปลเล่ต์ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ และทำงานเรื่องแผนที่ร่วมกับตัวเขามาถึง 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่อย่างมากจากมหาวิทยาลัยเดอรัมอีก 2 คน คือ นายมาร์ติน แครป และนายอสาสแตร์ เม็กโคนัล
โดยนายวีรชัย จะขึ้นพูดเป็นลำดับแรก จากนั้นนายโดนัล เอ็ม แม็คเรย์ น.ส.อลินา มิรอง ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือนายแปลเล่ต์ ส่วนที่มีการสลับลำดับขึ้นพูดหลายครั้ง เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/04/46256
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น