หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

ต้นกำเนิดความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

ต้นกำเนิดความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน


ต้นกำเนิดความขัดแย้ง
http://www.youtube.com/watch?v=54AN7bFSxJo

โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์

 
ขณะนี้มีนักข่าว นักวิชาการ และนักเอ็นจีโอ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่พยายามเสนอ “คำอธิบาย” เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองปัจจุบัน  ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนเพื่อสร้างความตื่นเต้น หรืออธิบายความ “พิเศษ” ของสังคมไทย บางครั้งเป็นการดูถูกคนส่วนใหญ่ที่เป็นพลเมืองไทยอีกด้วย

ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย และผมไม่เคยมองว่าทักษิณเป็นเทวดา ผมมองว่าการโจมตีรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หรือเพื่อไทย ว่าใช้แนว “ประชานิยม” โดยพวกนักวิชาการที่รับใช้ผลประโยชน์กลุ่มทุนในสถาบัน TDRI เป็นแค่ความคิดเผด็จการของพวกหัว “เสรีนิยมกลไกตลาด – มือใครยาวสาวได้สาวเอา” หรือที่เรียกกันว่าพวก “neo-liberal” เพราะพวกนี้มองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่ควรมีสิทธิ์ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และโกหกตอแหลว่าการใช้งบประมาณรัฐเพื่อพัฒนาชีวิตประชาชน เป็นสิ่งที่ทำลายชาติ

ผมจะไม่เสียเวลากับการหักล้างคำแก้ตัวเหลวใหลของ “ม็อบสุเทพ” เพราะใครๆ ที่กล้ามองความจริงจะทราบดีว่าสุเทพ ผู้มือเปื้อนเลือดจากการเข่นฆ่าเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓ เป็นคนที่ต้องการล้มระบบประชาธิปไตย การพูดถึงความต้องการที่จะกำจัดการซื้อเสียงฟังไม่ขึ้นจากนักการเมืองระบบ อุปถัมถ์คนนี้ ซึ่งไม่เคยเสนอนโยบายรูปธรรมอะไรทั้งสิ้นในการหาเสียง ส่วนการพูดถึง “ระบบทักษิณ” ซึ่งมีการพูดถึงบ่อยๆ ในอดีต โดยนักการเมืองและนักวิชาการที่ไม่รับผิดชอบ ล้วนแต่ฟังไม่ขึ้น เพราะในกรณีการเมือง ทักษิณพยายามเสนอนโยบายที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในระบบประชาธิปไตย และในกรณีแนวเศรษฐกิจ รัฐบาลทักษิณในอดีตใช้แนวกลไกตลาดเสรีในระดับโลกาภิวัฒน์ ผสมกับแนวเคนส์ในระดับรากหญ้า ซึ่งไม่มีอะไร “แปลกพิเศษ” แต่อย่างใด



เราไม่สามารถอธิบายความขัดแย้งด้วยการเสนอว่าเป็นปัญหา “การเปลี่ยนรัชกาล” 

นัก ข่าวต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ฟังการโม้ของคนไทยในบาร์เบียร์ มักอธิบายว่าชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมเป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ นายภูมิพลตาย

มีนักข่าวและเสื้อแดงพูดกับผมว่าตอนนี้ เจ้าชายและเจ้าหญิงกำลัง “ชิงราชสมบัติ” กัน หรือบางคนอยากเชื่อว่าทักษิณสนับสนุน “โอ” ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอยากได้ “เทพ” นอกจากนี้มีคนเสนออีกว่าความขัดแย้งปัจจุบันมาจากการที่พวกชนชั้นนำหัวเก่า กลัวว่าทักษิณจะ “คุม” นายวชิราลงกรณ์ เพราะเคยจ่ายหนี้การพนันของเขาในอดีต

ขอฟันธงครับ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขยะ ที่คนประเภทชอบ “พูดเอามัน” ในที่ลับๆ ชอบพูด มันไม่จริงและอธิบายอะไรไม่ได้ ที่มีความจริงก็มีแค่ว่า ทักษิณเคยจ่ายหนี้วชิราลงกรณ์ และพวกองค์มนตรีและคนชั้นสูงมองว่าเจ้าชายคนนี้มีปัญหา ถึงกับมีการพูดว่า “ถ้าตายไปก็จะสบายใจ”

แต่ประเด็นที่เราต้องมายึดมั่น คือเรื่องความจริง


กษัตริย์ไทยหลัง ๒๔๗๕ ไม่เคยมีอำนาจ และถูกใช้มาตลอด คนที่ใช้มากที่สุดคือทหาร แต่พวกนายทุนและนักการเมือง รวมถึงทักษิณ ก็พยายามใช้ด้วย เขาใช้นายภูมิพลเพื่อสร้างภาพ เช่นรัฐประหาร ๑๙ กันยาที่ผูกโบสีเหลืองเป็นต้น แล้วเขาสร้างภาพปลอมขึ้นมาว่านายภูมิพลมีอำนาจล้นฟ้า เพื่อบิดบังการที่พวกเขาเองมีอำนาจนอกระบบ ในช่วงแรกๆ ที่ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ นายภูมิพลเองเคยหลุดปากว่ามี “อำนาจอื่น” ที่ทำให้การตายของพี่ชายกลายเป็นเรื่องการเมือง

การใช้กษัตริย์โดยชนชั้นปกครองหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภูมิพล หรือวชิราลงกรณ์ในอนาคต ขึ้นอยู่กับการมีอำนาจของคนเหล่านั้นแต่แรก คือทหารที่ใช้อาวุธเพื่อเข้าสู่อำนาจ หรือนักการเมืองนายทุนที่ชนะการเลือกตั้ง คนเหล่านี้ล้วนแต่มีสิทธิ์ใช้กษัตริย์ถ้าเขามีอำนาจแต่แรก อำนาจไม่ได้มาจากกษัตริย์และไม่ได้สถิตอยู่กับกษัตริย์

หลายคนในสังคมไทยเข้าใจผิดว่านายภูมิพลวางแผนและสั่งการให้เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยา แท้จริงแล้วนายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจแบบนี้และไม่มีปัญญาหรือความกล้าที่จะ เป็นผู้นำด้วย

การเชิดชูรณรงค์ให้คนกราบไหว้กษัตริย์ จำต้องอาศัยการสร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจอมปลอมเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ของกษัตริย์ และในเรื่องราวจอมปลอมนี้ เวลากษัตริย์ตาย ลูกชายจะขึ้นมาแทน การทำรัฐประหารโดยผู้ชายอื่นในราชวงศ์ ที่เคยเกิดเป็นประจำในอดีต เช่นในการขึ้นมาของรัชกาลที่หนึ่ง ต้อง “ปิดๆ” ไว้เพื่อไม่ให้นิยายเสีย และในนิยายนี้มันไม่เคยมีการเสนอว่าลูกสาวขึ้นมาแทนลูกชายได้ ดังนั้นถ้าใครคิดจะนำเจ้าหญิงเทพขึ้นแทน ก็กำลังคิดจะทำลายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจอมปลอม และกำลังเปิดประตูให้กับการเสนอว่าเราเลือกประมุขได้ เพราะประมุขไม่ได้ประทานมาจากฟ้า ยิ่งกว่านั้นถ้าเจ้าหญิงไม่มีสามี ก็อาจมีคนคิดไปเองว่าเขาอาจมีรสนิยมนอกกรอบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกหัวจารีต

ในเรื่องความจริงที่จับต้องได้นั้น เราทราบว่าชนชั้นปกครองไทยทั้งหมด เลือกจะเอาเจ้าฟ้าชายขึ้น เพราะตลอดเวลาที่มีรัฐบาลทหารหลัง ๑๙ กันยา หรือสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ หรือสมัยยิ่งลักษณ์ “ท่านโอ” ก็ทำหน้าที่รองประมุขในพิธีกรรมต่างๆ และมีธนบัตรที่มีรูปเขาด้วย สรุปแล้วทุกฝ่ายมีแผนจะนำวชิราลงกรณ์ขึ้น
 
การอธิบายความขัดแย้งว่าเป็นแค่การตีกันระหว่างผู้ใหญ่ที่ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ

เวลานักเอ็นจีโอเสนอว่าวิกฤตปัจจุบัน เป็นแค่การตีกันระหว่างผู้สนับสนุนทีมฟุตบอล์สองทีมโดยไร้เหตุผล และเสื้อแดงเป็นสมุนทักษิณ  มันเป็นมุมมองที่ดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเสียงให้เพื่อไทย หรือไทยรักไทยในอดีต มันเป็นคำพูดของคนที่เคยกึ่งสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา และมองว่าคนชนบทเลือกไทยรักไทยเพราะ "เข้าไม่ถึงข้อมูล" “ขาดการศึกษา” หรือ “โง่” มันเป็นแค่มุมมองแบบบนลงล่าง ของคนที่เบื่อความขัดแย้ง[1] นักวิชาการอดีตมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อย่าง อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ก็แสดงความเห็นคล้ายๆ กัน[2] 



ถ้าเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับทักษิณ เราต้องมองว่าเหมือนสองสงครามคู่ขนานกับอำมาตย์ ที่มีความขัดแย้งและความเป็นมิตรพร้อมกัน คือประชาชนส่วนใหญ่ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคม ไทยจากมุมมองชนชั้นแบบหยาบๆหลวมๆ เสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปขบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้


ส่วนฝ่ายทักษิณกับพรรคพวกไม่ได้สู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่า เทียมแต่อย่างใด เขาไม่ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ไม่ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง และไม่ต้องการให้ปฏิรูปขบวนการยุติธรรม เป้าหมายของเขาคือการกลับมาปรองดองกับคู่ขัดแย้ง และเพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่สภาพ “ปกติ” ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและการขูดรีด อย่างที่เป็นก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา

แต่ในขณะเดียวกันคนเสื้อแดงรักทักษิณ เราต้องสามารถมองความซับซ้อนและความขัดแย้งของสถานการณ์ให้ได้ และไม่ดูถูกคนชั้นล่างว่าไม่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลง

การอธิบายว่าวิกฤตนี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง “เมืองกับชนบท”

การอธิบายว่าวิกฤตนี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง “เมืองกับชนบท” ตามนิยาย “สองนครา”[3] เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่อง “ชนชั้น” และเป็นการสร้างความ “พิเศษ” ให้สังคมไทย โดยนักข่าวตะวันตก แต่พอเรามาดูความจริง เราพบว่าในการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่กรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทยได้คะแนนพอๆ กัน ในต่างจังหวัดก็มีคนระดับกลางๆ จำนวนมากที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ว่าสัดส่วน “คนระดับล่าง” มีมากกว่าในชนบท แต่เขาก็เป็นคนทำงานในเมืองจำนวนมากด้วย

พร้อมกันนั้นในการเดินขบวนหรือประท้วงของเสื้อแดง หรือล่าสุดของคนเสื้อขาวที่อยากเห็นสันติภาพและการเลือกตั้ง มีคนกรุงเทพฯเข้าร่วมจำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมือง

ถ้าเราจะวิเคราะห์จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมือง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยรักไทยที่เข้ามาในปี ๒๕๔๔ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรัฐบาล “คิดใหม่ทำใหม่” ที่มีพลวัตรจริงๆ เพราะนโยบายใหม่ๆ ของไทยรักไทยในที่สุดไปกระทบโครงสร้างเก่าของพวกอภิสิทธิ์ชนไทย ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้มีเจตนาหรือแผนที่จะทำอย่างนี้เลย และความขัดแย้งนี้นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาท่ามกลางการโวยวายอย่างรุนแรงของพวกชนชั้นกลางฝ่ายขวาเสื้อเหลือง

การใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีของรัฐอำมาตย์ไทยมานาน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ในสภาพที่ไร้ประชาธิปไตย มีผลในการสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย และมีผลในการสร้างอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่ด้วย สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกเปิดโปงอย่างชัดเจนในวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙

เราควรจะเข้าใจว่านโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่ตั้งเป้าหมายไปที่คนชนบท เพราะคนงานในเมืองมีประกันสังคมอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่ช่วยคนงานในเมืองด้วย เพราะลดภาระในการช่วยเหลือญาติพี่น้องในชนบท แต่สำหรับนายทุนอย่างทักษิณ นโยบายเหล่านี้เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของสังคมไทย ที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งชี้ให้เห็นว่าไทยอ่อนด้อยตรงนี้มานาน

ความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของคนเสื้อแดง มาจากความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจถ้าเทียบกับคนชั้นสูง คือผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นการที่พรรคไทยรักไทยและทักษิณประกาศว่าจะให้ “คนจนเป็นผู้ร่วมพัฒนา” แทนที่จะมองอย่างที่อำมาตย์มอง ว่าคนจนเป็น “ภาระ” ของชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากนิยมพรรคไทยรักไทย

นอกจากความโกรธแค้นไม่พอใจที่มาจากสภาพเศรษฐกิจแล้ว ในด้านสังคม การที่สังคมไทยมีชั้นชนที่ชัดเจนและน่าเกลียด จนทำให้คนส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นใต้ตีน” หรือการที่ผู้น้อยต้องก้มหัวให้ผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครมาตรวจสอบได้ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความขัดแย้งอีกด้วย

การที่ทักษิณและไทยรักไทย เปลี่ยนกระบวนการทางการเมืองในไทย จากการแค่เล่นเลือกตั้ง แจกเงิน และเข้ามาร่วมกินของนักการเมืองหัวเก่าที่ไม่สนใจประชาชนหรืออนาคตของสังคม มาเป็นการเสนอนโยบายเพื่อครองใจประชาชน กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งทหาร ข้าราชการอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองหัวเก่า เพราะเป็นการใช้กระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อขึ่นมา มีอำนาจ แทนที่จะใช้ยศศักดิ์ และความเป็นนักเลง เพื่อมีอิทธิพลในสังคม นี่คือรากกำเนิดของความขัดแย้งปัจจุบัน และมันแก้โดยการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการไม่ได้ มันแก้โดย “ผู้ใหญ่” สองฝ่ายคุยกันก็ไม่ได้อีก เพราะประชาชนธรรมดาตื่นตัวกันมานาน

[1] ตัวอย่างที่ดีคือบทความนี้ในประชาไทย http://www.prachatai.com/journal/2014/01/50958

[2] http://www.prachatai.com/journal/2014/01/51077

[3] เช่นในงานของ Duncan McCargo “The Last Gasp of Thai Paternalism”. New York Times, 19th December 2013. http://www.nytimes.com/2013/12/20/opinion/the-last-gasp-of-thai-paternalism.html?_r=0

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น