เสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรเลิกหลอกตัวเอง
โดย กองบรรณาธิการเลี้ยวซ้าย
รัฐประหารรอบล่าสุดดูเหมือนจะใกล้ถึงเป้าหมาย
เหลือแค่การล้มรัฐมนตรีรักษาการ แล้วแต่งตั้งนายก ม๗ ก็จบ และที่แกนนำ นปช.
ประกาศว่าจะ “สู้จนถึงที่สุด” นั้นมีความหมายอะไรในรูปธรรม? หรือเป็นเพียงคำพูดที่ไร้ความหมายเพื่อเอาใจคนรักประชาธิปไตย?
มาถึงจุดนี้แล้ว
ชาวเสื้อแดงและคนรักประชาธิปไตยอื่นๆ ควรทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ม็อบพันธมิตรแรกปรากฏตัว
มีการยุบสภาและประกาศการเลือกตั้งสองครั้ง
โดยหวังว่าจะพิสูจน์กับประชาชน ว่าการพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดความชอบธรรม
แต่ทั้งสองกรณี ภายใต้ทักษิณครั้งหนึ่ง และภายใต้ยิ่งลักษณ์อีกครั้ง
เพียงแต่ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์และพวกต่อต้านการเลือกตั้ง บอยคอตการเลือกตั้ง
ก่อม็อบต่อไป แล้วในที่สุดจบลงด้วยรัฐประหารทหาร หรือรัฐประหารตุลาการ
มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ฝ่ายไทยรักไทย
พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ชนะทุกครั้ง โดยไม่มีหลักฐานการโกงแต่อย่างใด
แต่กลับจบลงด้วยการล้มรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้นการเลือกตั้งรอบต่อไป ถ้าเกิดจริงและไม่โดนเปลี่ยนกติกาจนไร้ประชาธิปไตย
ก็คงไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะมันไม่พิสูจน์อะไรที่ใครๆ ไม่ทราบมาก่อน
มันไม่ตบหน้าทหารหรือม็อบสุเทพ และมันไม่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอำมาตย์
เพราะอำมาตย์ต่อต้านประชาธิปไตย
และไม่เคารพการเลือกตั้งหรือเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ อาจไม่มีการเลือกตั้งเร็วๆ
นี้ด้วยซ้ำ
มีการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเพื่อไล่รัฐบาลเถื่อนของอภิสิทธิ์ที่ก่อตั้งในค่ายทหาร
เสื้อแดงจำนวนมากโดนทหารฆ่าอย่างเลือดเย็น ในที่สุดในปีต่อไปก็มีการยอมให้มีการเลือกตั้ง
ยอมให้ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายก แต่ก็ถูกล้มในที่สุด
ถ้าเราถูกบังคับให้มีนายก ม๗
และการเปลี่ยนกติกาเพื่อโกงการเลือกตั้งโดยอำมาตย์และประชาธิปัตย์
เราจะออกมาชุมนุมแบบเดิม หรือจะยกระดับการต่อสู้?
และถ้าจะยกระดับการต่อสู้มันหมายความว่าอะไรในรูปธรรม และใครจะนำการต่อสู้ดังกล่าว?
แต่แน่นอน ถ้าเราไม่ออกมาสู้เพราะเราเบื่อ น้อยใจ หรือหดหู่ ฝ่ายอำมาตย์ก็จะชนะ
ที่สำคัญคือใครตั้งรัฐบาล
ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐโดยอัตโนมัติ มันชัดเจนว่าอำมาตย์คุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ
ทหาร ศาล ข้าราชการชั้นสูง และสื่อมวลชนส่วนใหญ่
และพวกนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและแกนนำเอ็นจีโอด้วย
นอกจากนี้ตำรวจก็ไม่รู้จะรับคำสั่งจากใคร ตามลำพังก็ไม่เคยก้าวหน้าอะไร และไม่มีอำนาจมากมาย
ตอนนี้ก็แค่กล้าๆ กลัวๆ ส่วน ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ นักการเมืองเพื่อไทย และแกนนำ นปช.
ก็ไม่อยากแตกหักกับพวกอำมาตย์ที่คุมอำนาจรัฐ
เป้าหมายของเขาคือเพียงอยากกลับเข้าสู่สมาคมอำมาตย์เท่านั้น
เพื่อนๆ เสื้อแดง เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตย
ท่านคิดหรือว่าเราจะมีประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่กำจัดอำมาตย์แบบถอนรากถอนโคน?
ท่านยังฝันต่อไปหรือว่าพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณหรือแกนนำ นปช.
จะสู้อย่างจริงจังในรูปธรรม? ทักษิณเคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือ?
ในความเป็นจริงเขาสนใจประชาธิปไตยแค่ในกรณีที่ตนเองชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพพอที่จะยกเลิก
112 หรือละเว้นการก่ออาชญากรรมกับคนมาเลย์มุสลิมในภาคใต้
คนแบบนี้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดได้อย่างไร?
หรือท่านยังฝันอยู่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลจะเกิดประชาธิปไตยแท้?
หรือท่านยังฝันอยู่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองให้เรา?
ลองพิจารณาให้ดี ความฝันแบบนี้
ที่กล่าวถึงข้างบน ทั้งหมดเป็นความฝันประเภทที่เราฝากให้ผู้ใหญ่มาแก้ไขปัญหาให้เรา
และสร้างประชาธิปไตยให้เรา มันเป็นความฝันของทาส
เราจะรอการล้มรัฐบาลกี่รอบ
การก่อตั้งเผด็จการกี่รอบ เราถึงจะเข้าใจว่าเราเองต้องนำตนเองร่วมกับคนอื่น
เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจากล่างสู่บน?
ถ้าเราเข้าใจว่าการสร้างประชาธิปไตยในไทย
คงต้องอาศัยการโค่นโครงสร้างอำมาตย์ เช่นการปลดผบ. ทหาร ลดงบประมาณทหาร ตัดอำนาจทหาร
ปลดศาลตุลาการ ยุบองค์กรที่โกหกว่า “อิสระ” ปลด สว.แต่งตั้ง และยึดสื่อมวลชนมาเป็นของประชาชน
เราก็คงหลอกตัวเองว่า “เป็นเรื่องง่าย” ไม่ได้ แน่นอนมันไม่ง่าย มันจะใช้เวลา
แต่มันจำเป็นถ้าเราจะร่วมกันเป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พวกเราในองค์กรเลี้ยวซ้ายพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ว่าการต่อสู้กับอำมาตย์ต้องอาศัยการจัดตั้งมวลชน
อย่างเป็นระบบ อิสระจาก นปช. และเพื่อไทย ต้องพัฒนากลุ่มคนก้าวหน้าจากเครือข่ายหลวมๆ
ให้การเป็นองค์กรจัดตั้งให้ได้ ต้องมีนโยบายและเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน
ต้องมีคณะทำงานที่เป็นแกนนำ ต้องเชื่อมกับหลายส่วนของสังคม
มีงานรณรงค์ในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องปากท้องและการเมืองภาพรวม ต้องมีและขยายสมาชิก
มีผู้ปฏิบัตงานที่ผ่านการฝึกฝน ในงานภาคปฏิบัติการ และงานทางความคิด โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว
และต้องมีสื่อของเราเอง
เราไม่ได้ “ขอให้มิตรสหายมาขึ้นอยู่กับเรา”
เราขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเป็นระบบในลักษณะเท่าเทียมกัน
ที่สำคัญยิ่งคือ เราต้องสนใจ “อำนาจ”
เราต้องรวบรวม “พลัง” เพื่อเผชิญหน้ากับอำนาจและพลังของฝ่ายอำมาตย์แบบมืออาชีพ เพราะ
“อำนาจ” และ “พลัง” ของฝ่ายเราหาได้ในหมู่คนทำงานกรรมาชีพ โดยเฉพาะเมื่อนัดหยุดงาน
และต้องสมทบกับพลังมวลชนของเกษตรกรรายย่อย
ความจริงนี้ ไม่ได้งอกมาจากสมองใคร
มันมาจากบทเรียนในการล้มอำมาตย์หรือต่อสู้กับอำมาตย์ในตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา
ยุโรป และจากไทยเองในอดีต ที่สำคัญคือมันทำได้ ถ้าเราอยากทำจริง
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น