หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554





โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2554)

ผู้คนในโลกยุคปัจจุบันอาจไม่ค่อยเชื่อถือในเรื่อง "ความเป็นกลาง" กันแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังน่าสนใจว่า "ความคิด" หรือ "มายาคติ" เรื่อง "ความเป็นกลาง" นั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

จากมุมมองส่วนตัว ขออนุญาตตั้งสมมติฐานว่า "ความเป็นกลาง" แบบไทยๆ น่าจะเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกับ "การเล่นการเมือง" ผ่านท่าทีของการวางตัวอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ต่างๆ

ปัญหาของ "ความเป็นกลาง" แบบ "อยู่เหนือความขัดแย้ง" ก็คือ

หนึ่ง คุณจะวางตัว "เป็นกลาง" อยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งได้หรือไม่? หากคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งลงมือเข่นฆ่าล่าสังหารผู้คนที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองแตกต่างจากกลุ่มพวกของตน

สอง เรามักพบว่าคนที่ประกาศตนว่าอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ มิได้มีพฤติกรรมซึ่ง "ไม่ยุ่งเกี่ยว" กับความขัดแย้งหรือผลประโยชน์นั้นๆ เสมอไป

เพราะฐานะอันได้รับการกล่าวอ้าง (ทั้งโดยตนเองและผู้อื่น) ว่าเป็น "คนที่ดีกว่า" "มีคุณธรรมมากกว่า" หรือ "ดูคล้ายจะข้องแวะกับเรื่องราวทางโลกย์อันสกปรกโสมมน้อยกว่า"
ได้กลายเป็นฐานความชอบธรรมให้คนกลุ่มนี้สามารถลงมากำกับ/ควบคุม/จัดการความขัดแย้งต่างๆ และได้รับผลประโยชน์มากมายเป็นการตอบแทน

การฉีกรัฐธรรมนูญ การละเมิดหลักการพื้นฐานในการบริหารปกครองบ้านเมืองนานัปการ นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายนเป็นต้นมา

จนเกิดข้อครหาเรื่อง "2 มาตรฐาน"
ล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของ "คนดี" "คนกลาง" ที่อยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มนี้ทั้งนั้น

สาม เมื่อสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้พลเมืองของตนมีอุดมการณ์ทางด้านการเมือง-สังคม-วัฒนธรรม ได้เพียงแบบเดียว

เราก็เลยมี "คนกลาง" ซึ่งอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว ที่ยึดมั่นถือมั่นใน "ความเป็นชาติแบบหนึ่ง" "จุดยืนทางการเมืองแบบหนึ่ง" "หลักจริยธรรมคุณธรรมแบบหนึ่ง" (และสังกัดอยู่ใน "ขั้วความขัดแย้ง" ฝ่ายหนึ่ง)

มาคอยทำหน้าที่พิพากษาตัดสินปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จาก "โลกทรรศน์" และ "ชีวทรรศน์" เฉพาะตน

โดยไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจวิธีการมองโลกและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้อื่นฝ่ายอื่นแต่อย่างใด

ทั้งๆ ที่บ่อยครั้งปัญหาเหล่านั้นมักเป็นเรื่องราวในเชิง "คุณค่า" และ "ความคิดความเชื่อ" แบบ "สัมพัทธ์" มิใช่ "สัมบูรณ์"
ขอเพียงแค่กล่าวอ้างว่าข้าพเจ้าอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งและผลประโยชน์ทั้งปวง หรือข้าพเจ้ากำลังสวมเสื้อคลุม "ความเป็นกลาง" ที่ "ขาวสะอาด" ปราศจากมลทินเท่านั้น ก็เป็นอันจบกัน

คำถามก็คือ ถ้า "ความเป็นกลาง" หมายถึง การแสร้งวางตัวอยู่ "เหนือ" ความขัดแย้งและผลประโยชน์เช่นนี้

"ความเป็นกลาง" ดังกล่าวจะยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่? และมีความชอบธรรมแค่ไหน? ในสังคมไทยร่วมสมัย

และสื่อมวลชนเองยังต้อง "เป็นกลาง" อีกหรือ? หากต้องประพฤติตนเยี่ยง "รากษส" ที่จำแลงร่างเป็น "ฤๅษี" เช่นนั้น

คำถามต่อมาคือ ถ้าสื่อมวลชนต้องเลือกข้างกันจริงๆ แล้วสื่อจะเลือกยืนอยู่ข้างใคร

จะยืนหยัดสอพลอ "ประชาชน" เสียงข้างมาก

หรือสอพลอใครอื่น?



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น