หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เราใช้อินเตอร์เน็ตล้มอำมาตย์ได้หรือไม่


โดย ลั่นทมขาว

ท่ามกลางการปฏิวัติล้มเผด็จการในอียิปต์หรือตูนีเซีย มีการคลั่งเห่อ ทวิตเตอร์ และเครื่องสื่อสารอื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ต และพูดกันในแวดวงสื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ใช้เพื่อล้มเผด็จการได้ จนมีการเสนอว่าการปฏิวัติในตะวันออกกลางเป็น “การปฏิวัติทวิตเตอร์” ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเสื้อแดงที่ประเทศไทยด้วย
   
แนวคิดหนึ่งในหมู่คนที่พูดเกินเหตุและเห่อ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ คือการเสนอว่า “การต่อสู้แบบเก่า” ที่อาศัยการจัดตั้งคนในองค์กรทางการเมืองจริงๆ และอาศัยการฝึกฝนการต่อสู้ และการนัดหยุดงาน “ล้าสมัยไปแล้ว” เพราะการใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ทำให้คนลุกฮือเองในรูปแบบอนาธิปไตยได้ โดยไม่มีองค์กร และการนำ แต่พวกนี้จะลืมไปว่าแม้แต่คนที่เสนอให้ทำอะไรในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็เป็นผู้นำ
   
แน่นอนในบรรยากาศของการเซ็นเซอร์สื่อทางเลือกเกือบทุกชนิดและปิดสถานีวิทยุ ชุมชน เครื่องมืออินเตอร์เน็ต เช่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ สไกพ์ หรือการตั้งเวปไซท์ กลายเป็นพื้นที่สำคัญของคนเสื้อแดงที่จะสื่อสารกัน นี่คือสาเหตุที่ฝ่ายกระทรวง ICT (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)ของรัฐบาลอำมาตย์พยายามไล่ปิดหรือ ปิดกั้นเวปต่างๆ และไล่จับคนที่วิจารณ์อำมาตย์ โดยใช้กฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ และกฏหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือ และนี่คือสาเหตุที่คนเสื้อแดงจำนวนมากพยายามทะลวงและหลบการปิดกั้นต่างๆ จนประชาชนจำนวนมากเริ่มมีทักษะพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น
   

แต่เราต้องมาวิเคราะห์พิจารณาว่า เครื่องมือทางอินเตอร์เน็ตใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน และใช้อย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเปลี่ยนสังคม
   
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๑ เปิดเผยว่าจากจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 59.97 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.99 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 28.2 และมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 10.96 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.2 ตรงนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าสถานภาพที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ครอบคลุม ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าถึงได้ และคนเหล่านั้นอาจส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นได้
   
สำหรับการปฏิวัติในตะวันออกกลาง เช่นในอียิปต์ เราต้องพิจารณาว่าในช่วงที่มีการลุกฮือที่นำไปสู่การล้มมูบารัก เผด็จการอียิปต์สั่งปิดอินเตอร์เน็ตทั้งหมดและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ประชาชนก็สามารถรวมตัวกันและสื่อสารได้ ทั้งนี้เพราะมีการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายต่างๆ มาก่อนหน้านั้นหลายปี และมีการลุกฮือนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในปีก่อนๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการ “ซ้อมรบ” และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทหารอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกจากตำแหน่ง เมื่อมีการนัดหยุดงานลามไปทั่วประเทศ เพราะเขากลัวพลังเศรษฐกิจของการนัดหยุดงาน และกลัวว่าทหารเกณฑ์ระดับล่างจะเริ่มกบฏต่อผู้บังคับบัญชา
   
บ่อยครั้งการสื่อสารระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในการปฏิวัติอียิปต์ เกิดขึ้นปากต่อปาก ตาต่อตา ในจตุรัสทาห์เรีย หรือในมัสยิด หรือในสถานที่ทำงาน และในปีก่อนๆ เวลามีการพยายามปลุกระดมให้คนออกมาไล่รัฐบาลทาง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ก็มีคนมาน้อย เพราะคนยังกลัวอยู่และสถานการณ์ยังไม่สุกงอม
   
นักวิชาการบางคนเตือนเราให้ระวัง “การสร้างภาพการเคลื่อนไหว” ทางอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เกิดในโลกจริง Jodi Dean (ในวารสาร Cultural Politics ปี 2005) เขียนว่าการ “กดคลิก” หรือการกด “ชอบ” หรือการลงชื่อในแถลงการณ์หรือจดหมายเปิดผนึกผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรู้สึกดีที่ “ได้ร่วมเคลื่อนไหว” แต่มันไม่ใช่การเคลื่อนไหวจริงที่มีพลัง ส่วน Slavoj Žižek (สลาโวช ซีเซค) นักมาร์คซิสต์ชาวสโลวีเนีย ที่ชอบท้าทายความคิดคนอื่นๆ เพื่อกระตุ้นความคิด พูดว่าการเคลื่อนไหวผ่านอินเตอร์เน็ตกลายเป็นการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” มันเป็นกระบวนการที่ลดระดับการเมืองและการเคลื่อนไหวในโลกจริง เพราะเปิดทางให้เราหลอกตัวเองว่าเราทำอะไร ในขณะที่เราอาจขี้เกียจออกมาทำอะไรในโลกจริง
   
Malcolm Gladwell นักเขียนชาวคานาดา ในบทความว่า “ทำไมการปฏิวัติจะไม่ถูกทวิตเตอร์” (New Yorker 2010)เสนอว่า “เพื่อน” หรือเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต ระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเจอหน้ากันหรือคุยกันโดยตรง เป็นเครือข่ายที่อ่อนแอมาก แต่ในมุมกลับ ถ้าคนที่รู้จักกันมาก่อน เคยสู้บนท้องถนนหรือในที่ทำงานร่วมกัน และเป็นสมาชิกองค์กรร่วมกันมากก่อน ใช้เครื่องมืออย่าง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เขาสามารถประสานการต่อสู้ได้ด้วยประสิทธิภาพจริง เพราะเครือข่ายสายสัมพันธ์ของเขาจะเข้มแข็งและเป็นจริง
   
ในกรณี “นักรบไซเบอร์” ไทย มีโรคระบาดแห่งการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่นอกประเทศไทย หรือในหมู่คนภายในประเทศที่ไม่สามารถหรือไม่ยอมออกมาเคลื่อนไหว คนเหล่านี้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันในการ “เล่นเน็ต” หรือคุยกันเป็นกลุ่มทางสไกพ์หรือแคมฟร้อค แต่สาระการคุยกันมีน้อยเหลือเกิน เพราะเนื้อหาหลักจะเป็นการผลิตซ้ำข่าวลือ เช่นเรื่องรัฐประหาร หรือเรื่องส่วนตัวของอำมาตย์เป็นต้น และที่แย่กว่านั้นมีการป้ายร้ายผู้เคลื่อนไหวจริงด้วยข่าวเท็จ โดยเฉพาะแกนนำนปช.ในประเทศไทย ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้เสนอว่าเราไม่ควรวิจารณ์เสื้อแดงกันเอง เราต้องวิจารณ์แนวทางเสมอ แต่ต้องวิจารณ์บนพื้นฐานความจริงและในลักษณะที่จะนำไปสู่การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการต่อสู้
   
นักรบไซเบอร์ประเภท “งอมืองอเท้า” มักจะไม่รู้เรื่องว่าในพื้นที่และ ชุมชนต่างๆ ของไทยมีการจัดตั้งเสื้อแดงและเคลื่อนไหวกันอย่างไร เพราะเขามักจะไม่ไปร่วมงานเคลื่อนไหวในโลกจริง ไม่ว่าจะที่ไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศ เขาจะหดหู่กับความเป็นไปได้ที่จะล้มอำมาตย์ เขามักจะพูดว่า “สหภาพแรงงานไทยนัดหยุดงานไม่ได้” ทั้งๆ ที่ขบวนการแรงงานไทยในโลกจริงมีประวัติการนัดหยุดงานและการต่อสู้มานาน เขาจะเสนอว่า “ไทยเป็นกรณีพิเศษไม่เหมือนอียิปต์หรือประเทศอื่นในตะวันออกกลาง” ทั้งๆ ที่เผด็จการซิเรียยิงประชาชนตายเกือบ 500 คน และเผด็จการอียิปต์ฆ่าและทรมานฝ่ายตรงข้ามมากว่า 30 ปี สรุปแล้วนักรบไซเบอร์ประเภทนี้นั่งฟังแต่รายการวิทยุของ อ.ชูพงษ์กับคนอื่นที่มีมุมมองคล้ายๆ กัน ฟังเพื่อให้ตนรู้สึกดี แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติการอะไรเลย เหมือนกินยาชา และได้แต่แก้ตัวว่าการพูดทางอินเตอร์เน็ตให้คน “ตาสว่าง” จะ “ล้มระบอบ” ได้ แต่การล้มระบอบต้องอาศัยมวลชนจำนวนมากที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนและนัดหยุดงาน ในสถานที่ทำงาน และต้องอาศัยมวลชนที่มีตัวตนและคุยต่อหน้าต่อตากัน โดยเฉพาะมวลชนที่จะคุยกับทหารระดับล่าง ผ่านการล้อมรถถังและชวนให้ทหารเหล่านั้นกบฏต่อผู้บังคับบัญชา
   
ในโลกสมัยใหม่แห่งอินเตอร์เน็ต บ่อยครั้งจะมีการตั้งคำถามว่า “ทำไมยัง ต้องไปขายหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายที่เป็นกระดาษ อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ เลี้ยวซ้าย ? ทำไมไม่เอามาขึ้นอินเตอร์เน็ตหรือสร้างเวปไซท์ให้คนอ่านเอง?" คำตอบคือ เวลาเรามีหนังสือพิมพ์กระดาษที่นำมาขายในการชุมนุมหรือในสถานที่ทำงาน มันเป็นโอกาสที่เราจะคุยกับคนอื่นต่อหน้าต่อตา เป็นโอกาสที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยน และเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนมจริง เพื่อจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งที่จัดการประชุมได้ ไม่ใช่องค์กรในโลกไซเบอร์ที่อาจมีสมาชิกจริงหรือไม่จริงก็ได้
   
ผู้ที่ต่อสู้ในโลกจริง ด้วยการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายในโลกจริง สามารถใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ และเครื่องมืออื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาการต่อสู้ได้ ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกปิดกั้น แต่ผู้ที่มองว่าเราสามารถใช้ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือสไกพ์ แทนการเคลื่อนไหวในโลกจริงได้จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

[การเขียนบทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Jonny Jones (2011) “Social Media and Social Movements” International Socialism Journal 130]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น