หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

"สิ่งที่เข้มแข็งกว่ากองทัพทั้งหลายในโลกก็คือความคิดที่มาพร้อมกับกาลเวลา"

สุรชาติ บำรุงสุข

ปัญหา ข้อถกเถียงประการหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็คือ กระบวนการนี้สามารถสร้างได้จากบทบาทและอิทธิพลของปัจจัยภายนอกหรือภายใน

ว่า ที่จริง ข้อถกเถียงเช่นนี้อาจจะตอบไม่ได้โดยทันที เพราะในแต่ละกรณีหรือในแต่ละช่วงเวลา บทบาทของปัจจัยเช่นนี้ดำรงอิทธิพลต่อการก่อกำเนิดของระยะเปลี่ยนผ่านสู่ ประชาธิปไตยในลักษณะที่แตกต่างกัน

แน่นอนว่า สำหรับนักคิดในบางสำนักนั้น พวกเขาเชื่อว่าปัจจัยภายในเท่านั้นเป็นตัวชี้ขาด

แต่ ในความเป็นจริง เรามักจะพบว่า เราไม่อาจละเลยปัจจัยภายนอกต่อประเด็นเช่นนี้ได้เลย หรือในบางครั้งเราอาจจะพบบทบาทของปัจจัยทั้งสองดำรงอยู่คู่ขนานกันก็เป็นได้

แต่ หากเราแยกพิจารณาเฉพาะส่วนแล้ว บทบาทของปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการแทรกแซง การกดดัน หรือการช่วยเหลือจากรัฐภายนอก โดยเฉพาะจากรัฐมหาอำนาจภายนอกนั้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทาง การเมืองของประเทศเล็กๆ อย่างมาก และปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ผลกระทบดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นผลเชิงบวกเสมอไป ในทางตรงกันข้าม การแทรกแซงจากรัฐภายนอกอาจจะนำไปสู่การก่อตั้งระบอบอำนาจนิยมก็ได้ ใช่ว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยในทุกกรณี

ดังนั้น การศึกษากระบวนการสร้างประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงบทบาทและนโยบายของรัฐมหาอำนาจจากภายนอกที่เกี่ยวข้องด้วย

เพราะ หากรัฐมหาอำนาจมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการเสริมสร้างประชาธิปไตยแล้ว ก็จะเป็นการง่ายขึ้นสำหรับประเทศที่เป็นชาติพันธมิตรจะมีพัฒนาทางการเมือง ที่เดินไปสู่ทิศทางดังกล่าว

แต่หากรัฐมหาอำนาจนี้มีแนวโน้มที่จะสนับ สนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมแล้ว การเมืองของชาติพันธมิตรเล็กๆ ก็อาจถูกผลักดันให้เดินไปสู่เส้นทางดังกล่าวได้ไม่แตกต่างกัน อีกทั้งนโยบายของรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังมีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางการเมือง ของโลก

ซึ่งโดยความเป็นจริงก็คือ รัฐมหาอำนาจนี้อยู่ในฐานะของการเป็นผู้กำหนดโจทย์หรือประเด็นปัญหาในเวทีการ เมืองและความมั่นคงของโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐเหล่านี้ดำรงสถานะของการเป็นผู้กำหนดระเบียบการเมืองของโลกนั่นเอง

ตัว แบบจากปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดเจน เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2490 (หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2) สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจใหญ่ของโลกมีทัศนะต่อภัยคุกคามที่ชัดเจนว่า การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์คือปัญหาหลักด้านความมั่นคง

ดังนั้น การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่สามจึงจำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลที่เข้ม แข็ง ซึ่งกลุ่มอำนาจที่ถูกมองว่ามีความเข้มแข็ง และในขณะเดียวกันก็เป็นนักชาตินิยมด้วย นั้นคือ "กลุ่มทหาร"



คํา ตอบเช่นนี้ดูจะกลายเป็น "สูตรสำเร็จ" ทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา เพราะบรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐในโลกที่สามมักจะเป็นประเทศที่มีรัฐบาล ทหารเป็นผู้ปกครอง

อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความมั่นใจว่า รัฐบาลทหารมีความเข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลพลเรือนในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์

จน ทำให้เกิดพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในรูปแบบต่างๆ ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับกองทัพในประเทศเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมิใช่แต่เพียงการถ่ายโอนองค์กรและหลักนิยมทางทหารจาก สหรัฐไปสู่กองทัพของประเทศดังกล่าวเท่านั้น

หากแต่ยังเกิดกระบวนการถ่ายโอนอุดมการณ์ในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือในด้านการฝึกและศึกษาของทหาร (IMET)

ดัง จะเห็นได้ว่าบรรดานายทหารจากชาติพันธมิตรจะถูกคัดเลือกให้เข้ารับการศึกษาใน โรงเรียนในระดับต่างๆ ของกองทัพสหรัฐ และแน่นอนว่า เนื้อหาสำคัญก็คือการเชิดชูอุดมการณ์และค่านิยมของตะวันตก และขณะเดียวกัน ก็มุ่งสู่การต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นหลัก

ในสถานการณ์การต่อสู้ของยุค สงครามเย็น รัฐบาลวอชิงตันให้ความสนใจในการสร้างประชาธิปไตยน้อยกว่าการต่อสู้กับ คอมมิวนิสต์ ดังได้กล่าวแล้วว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ปัญหาหลักได้แก่ การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เป็นปัญหารองเท่านั้น

หากแต่ยังถูกมองว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นความอ่อนแอและไม่สามารถต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์

แต่ วันหนึ่งเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองของ รัฐมหาอำนาจ อย่างน้อยเราอาจจะต้องยกเครดิตให้กับคนอย่างประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ที่แม้จะดำรงตำแหน่งในช่วงสงครามเย็น แต่ด้วยการผลักดันนโยบายต่างประเทศในยุคหลังสงครามเวียดนามให้มีทิศทางที่ เป็นเสรีนิยมหรือเป็นการให้คุณค่ากับเรื่องของประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น ทำให้เกิดการปรับตัวไม่ใช่เฉพาะกับตัวนโยบายของสหรัฐเอง ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอประเด็นเรื่องของ "สิทธิมนุษยชน" ในนโยบายต่างประเทศเท่านั้น

หากแต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะในกรณีของรัฐบาลทหารในละตินอเมริกา



ผล ของการผลักดันให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐเป็นเสรีนิยม ทำให้บรรดารัฐบาลที่เป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐในโลกที่สามต้องปรับตัวตามไป ด้วย

จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า การเริ่มต้นทศวรรษของปี 1980 (พ.ศ.2523) เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยร่วมสมัย

ดัง จะเห็นได้ว่า หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งดูจะเป็นภูมิภาคที่เป็นเสมือนฐานที่มั่นที่เข้มแข็งของรัฐบาลทหารใน ยุโรปใต้ ตลอดรวมถึงในเอเชียเองก็เช่นกัน

รัฐบาลทหารในประเทศเหล่า นี้ถ้าไม่ถูกบังคับให้ต้องลงจากอำนาจ ก็ตัดสินใจเองที่จะถอนตัวออกจากการเมือง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมากจากอิทธิพลของปัจจัยภายนอกอย่างปฏิเสธไม่ได้

การ กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าปัจจัยภายในอันเกิดจากการต่อสู้ของประชาชนใน ประเทศเหล่านั้นไม่ได้ผล หรือไม่มีนัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะปัจจัยอีกส่วนก็คือ ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในประเทศเหล่านั้น ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารหมดความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว

แต่หากพิจารณา จากบริบทของปัจจัยภายนอกแล้ว การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาลทหาร และนำพาสังคมสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น

อย่างน้อยก็ทำให้ปัจจัยภายนอกไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง และในบางกรณีก็อาจกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะ เราอาจจะพบว่าในสถานการณ์ใหม่หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว ความจำเป็นที่รัฐบาลวอชิงตันต้องพึ่งพารัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สามเพื่อตอบ สนองต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตนก็เปลี่ยนแปลงไป



ในโลก ยุคหลังสงครามเย็น เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม การสนับสนุนรัฐบาลทหารให้ดำรงอยู่ในอำนาจจึงกลายเป็นปัญหาในตัวเอง เพราะไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับสังคมภายในที่ต้องการเห็นระยะ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความไม่คุ้มค่าที่รัฐบาลวอชิงตันจะต้องทำหน้าที่ "อุ้ม" รัฐบาลทหารในประเทศเหล่านี้ โดยไม่มีผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

แต่ ประเด็นสำคัญก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะให้ผลตอบแทนในทางการเมือง ได้มากกว่า เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประชาธิปไตยเช่นบทบาทที่เคยถูกวิจารณ์ในยุคสงครามเย็น

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เราเรียกกันว่าเป็น "กระแสโลกาภิวัตน์" ก็มีความชัดเจนว่า ประชาธิปไตยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเมืองโลก ประเทศที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมล้วนแต่ก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน

การ เปลี่ยนแปลงของการเมืองในตะวันออกกลางได้แสดงออกถึงบทบาทอย่างเด่นชัดของ สหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ประชาธิปไตย

ตัวอย่างของอียิปต์แสดงให้เห็นว่า บทบาทของสหรัฐมีส่วนอย่างสำคัญต่อการไม่อนุญาตให้กองทัพอียิปต์เข้ามามีส่วน โดยตรงต่อการล้อมปราบผู้ชุมนุม ซึ่งถือได้ว่าบทบาทเช่นนี้เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อการทำให้การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์ประสบความสำเร็จ

ในกรณีของลิเบีย ก็เห็นได้ถึงบทบาทของปัจจัยภายนอกอย่างนาโต้ ความสำเร็จของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีกาดาฟี โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้กำลังเข้ายึดเมืองต่างๆ จนถึงการบุกเข้ายึดเมืองหลวง ล้วนแต่มาจากการสนับสนุนของกลุ่มนาโต้ โดยเฉพาะในอีกด้านหนึ่งก็คือ การโจมตีทางอากาศของชาติตะวันตกที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการตรึงกำลังของฝ่าย รัฐบาลในสถานการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น

ตัวแบบจากตะวันออกกลางบ่งบอกโดย ตรงถึงอิทธิพลของปัจจัยภายนอกที่ทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมถูกโค่นลง พร้อมๆ กับการนำพาระบอบการเมืองเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

เรื่องราวเช่นนี้ไม่ได้แตกต่างกับกรณีการจัดตั้งรัฐบาลเสรีนิยมในฟิลิปปินส์หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์คอส

ดัง จะเห็นได้ว่า กลุ่มทหารในฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนทิศทางจากการเป็น "ผู้ค้ำประกัน" รัฐบาลมาร์คอส มาเป็น "ผู้กดดัน" รัฐบาลเสียเอง จนในที่สุด รัฐบาลดังกล่าวต้องยุติบทบาทลง

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า หลังจากระยะเปลี่ยนผ่านในฟิลิปปินส์แล้ว แม้จะมีข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับความพยายามในการก่อรัฐประหาร โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลของนางอาโรโย แต่รัฐประหารในกรุงมะนิลาก็เป็นเพียงข่าวลือ

และเราคงปฏิเสธไม่ได้ ว่า รัฐประหารถูกหยุดโดยสัญญาณเชิงลบจากภายนอก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ที่มองไม่เห็นว่าการยึดอำนาจในฟิลิปปินส์จะช่วยแก้ปัญหาอะไร นอกจากจะทำให้เสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาวมีความผันผวนมากขึ้น

แน่ นอนว่าตัวแบบในอดีตของการสร้างประชาธิปไตยในญี่ปุ่นและในเยอรมนีหลังจากการ สิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นผลจากการผลักดันของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แม้จะมีข้อโต้แย้งในอีกด้านหนึ่งว่า ในกระบวนการเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการสร้างระบบทุนนิยมใหม่คู่ขนานกันไป



หาก พิจารณาจากบริบทเช่นนี้จะเห็นได้ว่า บทบาทและนโยบายของสหรัฐในฐานะของปัจจัยภายนอกมีความสำคัญต่อความสำเร็จของ การสร้างประชาธิปไตยอยู่พอสมควร

อย่างน้อยถ้าไม่มี "ไฟเขียวจากวอชิงตัน" แล้ว แม้รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ก็อาจจะอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม เพราะหากขาดการสนับสนุนจากปัจจัยต่างประเทศแล้ว อย่างน้อยความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจก็อยู่ในภาวะที่สุ่ม เสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

กรณีของไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น รัฐบาลไทยและกองทัพไทยล้วนถูกแวดล้อมด้วยโลกาภิวัตน์ที่รัฐมหาอำนาจหมดความ จำเป็นต้องพึ่งพากองทัพในการเป็น "ผู้ค้ำประกัน" ความมั่นคงแล้ว

การยึดอำนาจที่ปราศจากการสนับสนุนของต่างชาติจึงกลายเป็น "ความโดดเดี่ยว" ในเวทีสากลเป็นอย่างยิ่ง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น