หน้าเว็บ

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เหลียวหลังมองโศกนาฏกรรม ณ ราชประสงค์

เหลียวหลังมองโศกนาฏกรรม ณ ราชประสงค์

 

THAILAND-POLITICS-PROTEST

โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์


เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นับว่าเป็นวันครบรอบโศกนาฏรรมการสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดงครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ในวันนั้นได้กลายมาเป็นจุดด่างของประวัติศาสตร์การเมืองของไทย รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้สั่งการให้มีการสลายชุนนุม และดังที่ปรากฏ ฝ่ายรักษาความมั่นคงของรัฐได้ใช้ความรุนแรงในการยุติการชุมนุมในครั้งนั้น นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุมเกือบ 100 คน (ในจำนวนนี้ มีสัดส่วนการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่น้อยมาก) แต่จนบัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยมานานพอสมควร การค้นหาผู้กระทำผิดและนำมาลงโทษยังไม่คืบหน้า รัฐบาลในยุคปัจจุบันภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการปรองดองกับกลุ่มอำนาจเก่า มากกว่าที่จะดำเนินการเรื่องการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ขณะเดียวกันได้มีความเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ ในเรื่องนิรโทษกรรม ทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองตั้งข้อสงสัยว่า นิรโทษกรรมที่พูดถึงนี้ จะเป็นเพียงแค่ยุทธวิธีหนึ่งในการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับเมืองไทย โดยไม่ต้องรับโทษหรือไม่
 
จากเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สังคมไทยมีความแตกแยกและแบ่งขั้วมากขึ้น ความขัดแย้งยังครุ่กรุ่นอยู่ตลอดเวลาระหว่างกลุ่มที่ต้องการรักษาสถานะเดิม ไว้ กับกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงและผลักดันให้ไทย มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ความปรารถนาที่จะให้มีการปรองดองเกิดจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กังวลต่อความ อยู่รอดทางการเมืองเท่านั้น ประเทศไทยในยุคปัจจุบันจึงอยู่ในโหมดของความปรองดอง คำว่า “ความปรองดอง” ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายหลายๆ เรื่องของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ความปรองดองที่พูดถึงนี้ ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะกลบรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางการเมือง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐและความรุนแรงในการกำจัดศัตรูทางการ เมือง รวมถึงปัญหาของการปิดพื้นที่ทางการเมืองและการสกัดกั้นไม่ให้ประชาธิปไตย เบ่งบาน ซึ่งสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และกลุ่มอำนาจเก่า
 
ผมมีความเห็นว่า การปรองดองนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ที่ต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมเมื่อ 2 ปีก่อนจะได้ไม่รับความยุติธรรมกลับคืนมา กระบวนการคืนความยุติธรรมเป็นกระบวนการที่มีความยากลำบากและมีความละเอียด อ่อนมาก แต่ผมก็ยังเชื่อว่า การปรองดองและการมองไปข้างหน้าถึงอนาคตของประเทศ จะเกิดไม่ได้หากเราไม่ย้อนมองกลับไปในอดีตที่ขมขืน การคืนความยุติธรรมนั้นทำได้ 2 ทาง ประการแรก รัฐบาลจะต้องมีความจริงใจในการค้นหา “ความจริง” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำถามอยู่มากมายที่ยังไม่อาจหาคำตอบได้ อาทิ ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังการให้มีการสลายผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น และใครได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กระบวนการค้นหาความจริงนี้ จะต้องเป็นกระบวนการที่ไม่อาจ “ผ่อนปรน” ได้ หมายความว่า ความจริงต้องเป็นความจริง จะเป็นอย่างอื่นหรือถูกบิดพริ้วไปไม่ได้ และจะต้องมีการนำความจริงเหล่านี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน
 
แต่การเปิดเผยความจริงบางอย่างเป็นเรื่องอันตรายและไม่อาจทำได้ในทางปฏิบัติ การเปิดเผยความจริงนี้อาจสร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อระบบโครงสร้างอำนาจของ ไทยที่เป็นมาหลายทศวรรษ คำถามจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความพร้อมแค่ไหนในการเปิดเผยความจริงเหล่านี้ รัฐบาลพร้อมไหมที่จะเอาสถานะทางอำนาจของตัวเองเข้าเป็นเครื่องเดิมพันกับการ ค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ผมเชื่อว่า มันคงจะไม่เกิดขึ้น หากกองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งให้มีการสลายผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง รัฐบาลชุดนี้กล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับทหารไหม แต่หากทุกฝ่ายสามารถก้าวข้ามกระบวนการที่ยากลำบากนี้ ขั้นตอนต่อไปคือการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในส่วนนี้ผมเห็นว่า อาจมีการ “ผ่อนปรน” ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ทหารชั้นผู้น้อยได้รับคำสั่งให้ใช้ความรุนแรงในการสลายการ ชุมนุม กระบวนการผ่อนปรนนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ของการต้องถูกลงโทษทางกฏหมาย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทางการ
 
อย่างไรก็ตาม ดังที่ผมได้กล่าวข้างต้น การค้นหาความจริงเป็นขั้นตอนที่ลำบากที่สุด รัฐบาลชุดนี้แสดงท่าทีว่าไม่ประสงค์ที่จะ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” เพียงเพราะต้องการปกป้องสถานะทางการเมืองของตนไว้ ในที่สุด ความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ความยุติธรรมจะต้องสูญหายไปเพียงเพราะว่า ความยุติธรรมนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับบุคคลที่อยู่ในอำนาจ ดังนั้น กระบวนการปรองดองที่เป็นอยู่จะไม่ได้ช่วยคลี่คลายให้สถานการณ์ทางการเมืองดี ขึ้นตราบใดที่การมองย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นในการคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง
 
ความพยายามปรองดองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มอำนาจเก่าทำให้เราสามารถตีความได้ ว่า มีความพยายามของรัฐบาลชุดนี้ในการปกป้องผลประโยชน์ของคุณทักษิณ ในที่สุด พรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดงจนสามารถได้รับชัยชนะ การเลือกตั้งแบบขาดลอยเมื่อปีที่แล้ว กลับไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของคนเสื้อแดงอย่างแท้จริง กระแสความไม่พอใจในกลุ่มคนเสื้อแดงต่อพรรคเพื่อไทยเริ่มก่อตัวขึ้น สมาชิกเสื้อแดงหลายคนมองว่า รัฐบาลเพื่อไทยได้กลายเป็น “อำมาตย์” ไปแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้น เกมการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นเพียงแค่การแบ่งปันอำนาจระหว่างชนชั้นผู้นำ (ที่มีพรรคเพื่อไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย) มากกว่าการกระจายอำนาจไปสู่ชนชั้นกลางและล่าง ดังที่ผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยได้ตั้งความหวังไว้ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลได้พยายามสร้างช่องทางการหารือกับตัวแทนของสถาบันและอำนาจเก่า เช่น การที่นายกยิ่งลักษณ์เดินทางไปรถน้ำดำหัวพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ เมื่อปลายเดือนเมษายน ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจและไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อแดง หรือการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีจุดยืนที่เด่นชัดเกี่ยวกับความไม่ต้องการให้มี การแก้ไขมาตรา 112 และพร้อมที่จะปกป้องสถาบันจากกลุ่มที่ไม่หวังดี (ในความเป็นจริง การดำเนินการจับกุมกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่ามีความความพยายามดูหมิ่นสถาบัน หรือแม้แต่กระทั่งความพยายาม “ล้มเจ้า” ยังคงดำเนินอยู่ในยุคที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล) การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์สะท้อนให้เห็น ถึงความต้องการในการปรองดอง ที่มองข้ามความถูกต้องหรือความปรารถนาที่จะแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้าของ วิกฤตการเมืองที่แท้จริง
 
ดังนั้น เมื่อไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงความกระดี้กระด้าของรัฐบาลชุดนี้ในการประนีประนอมกับอดีตศัตรูทางการ เมือง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเป็นกำลังสำคัญใน การเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยอาจจะสามารถสร้างมิตรใหม่จากอดีตศัตรู แต่พรรคเพื่อไทยอาจกำลังทำให้มิตรในปัจจุบันกลายเป็นศัตรูได้ในอนาคต ผมมองว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก (โดยเฉพาะหากรัฐบาลชุดนี้ยังคงเล่นเกมการเมืองเช่นนี้) ที่กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจะออกมาต่อต้านและโจมตีรัฐบาลเพื่อไทย จริงๆ แล้ว เหตุการณ์การเสียชีวิตของอากงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ได้จุดกระแสของการต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยอยู่บ้าง โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อนักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีของอากงที่ในที่สุดต้องจบชีวิตในเรือนจำ ฉะนั้น จากสถานการณ์ของการต่อสู้ร่วมกันระหว่างคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจไม่ได้มาจากกลุ่มที่เป็นศัตรูทาง การเมือง (ที่กำลังอยู่ในบรรยากาศของความปรองดอง) แต่อาจมาจากกลุ่มคนเสื้อแดงนั่นเอง
 
และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางออกควรจะเป็นอย่างไร ประการแรกผมมองว่า การปรับตัวน่าจะเริ่มจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนนโยบายให้ สอดคล้องกับความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ พรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาอยู่ในอำนาจได้ พวกเขาก็สามารถที่จะปฏิเสธพรรคเพื่อไทยได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า การตอบสนองต่อความต้องการของเสียงส่วนใหญ่นี้คือการหันกลับไปมองถึง เหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และต้องใช้ความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจเก่าในการคืนความยุติธรรม ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในครั้งนั้น ดังที่ผมกล่าวไว้แล้ว ภารกิจนี้มีความยากลำบากมาก แต่หากรัฐบาลต้องการเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง
 
ประการที่สองอยู่ที่การปรับตัวของกลุ่มอำนาจเก่า (ที่รวมเอากองทัพ สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงกลุ่มคลั่งเจ้า กลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสี) ต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองและสังคมไทยในช่วยหลายปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่กระแสของการพัฒนาประชาธิปไตยกำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในภูมิภาค ไม่ว่าในอินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในพม่าซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การครอบงำของกองทัพมาช้านาน หากมองในเชิงเปรียบเทียบ ประเทศไทยดูเหมือนจะเดินถอยหลังด้วยซ้ำ กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดชะงักเป็นช่วงๆ และต้องสะดุดลงด้วยการแทรกแซงทางการเมืองหลายครั้งจากกองทัพ การก่อรัฐประการครั้งล่าสุดถือเป็นการเปิดทางให้กลุ่มคนที่ไม่เคยมีความสนใจ ในการเมืองมาก่อนได้เข้ามามีส่วนรับรู้ มองภาพที่ชัดขึ้น หรือที่เรียกในวาทกรรมใหม่ว่าเป็นปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” กลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถใช้กลยุทธเก่าๆ ในการครอบงำความคิดของคนในสังคมได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในการใช้สถาบันเป็นเครื่องหล่อหลอมความเชื่อที่ตรงข้ามกับหลักการ ประชาธิปไตย กลุ่มอำนาจเก่าจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองอย่างเร่งด่วน หากยังต้องการที่จะคงพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองไว้อยู่บ้าง
 
ที่สุด การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงน่าจะขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ (ในกลุ่มคนเสื้อแดง) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการต่อสู้ต่อความอยุติธรรมและความเป็น “อประชาธิปไตย” ของสังคมไทย ทั้งนี้ ความเข้าใจที่มีต่อคนเสื้อแดงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จริงอยู่ที่ว่า คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งยังมีความจงรักภักดีต่อคุณทักษิณ แต่ก็มีคนเสื้อแดงอีกไม่น้อยมีต้องการเรียกร้องขอความยุติธรรมทางสังคมและ ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยที่พวกเขาเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีความชื่นชมใดๆ ต่อคุณทักษิณเลยด้วยซ้ำ ความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่เหมารวมเอาว่า คนเสื้อแดงคือสาวกของคุณทักษิณเท่านั้นจึงเป็นการมองภาพที่บิดเบือน หรือแม้แต่เป็นการหลอกตัวเอง หลอกตัวเองในแง่ที่ว่า สังคมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและคนทั่วไปยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ ประชาธิปไตย การมองว่าคนเสื้อแดงถูกหลอกใช้โดยคุณทักษิณนั้นจึงเป็นการอธิบายสถานการณ์ ทางการเมืองแบบเข้าข้างตัวเอง ก็เท่านั้นครับ

(ที่มา) 
http://www.voicetv.co.th/blog/1033.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น