ลิเกสยาม
“อากงSMS”คือตัวอย่างล่าสุดของสองมาตรฐานในระบบยุติธรรมไทย ในขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ประกันตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่อากงไม่ได้ประกันตัวในคดีเดียวกันจนเสียชีวิตในคุก เมื่อเทียบกับผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมที่ร่ำรวยอย่าง“กำนันเป๊าะ”ซึ่งหลบหนีหลัง ได้รับประกันตัว ก็ยิ่งชัดเจนว่าคุกไทยมีไว้ขังคนจน
คณะกรรมการนอนหลับทับสิทธิมนุษยชน
ความล้าหลังของระบบยุติธรรมไทยโด่งดังในต่างประเทศทั้งจากการรายงานข่าว ของสำนักข่าวต่างชาติและจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดมานานแล้ว อาทิ ข่าวคดีเพชรซาอุ ข่าวอาชญากรข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทย ข่าวคดีนายราเกซ สักเสนา ภาพยนตร์ที่นำเสนอว่าผู้ต้องหาโดนหลอกให้รับสารภาพผิด[1] กรณีอากงเสียชีวิตในคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นที่สนใจของหนังสือ พิมพ์ต่างชาติแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างไฟแนนเชียลไทม์ โดยรวมแล้วระบบยุติธรรมไทยวิวัฒนาการช้ากว่าบริการรถไฟของรฟท.หลายร้อยปี แม้ว่ารถไฟของรฟท.หวานเย็นเชื่องช้าแต่รถไฟชั้น 1 และชั้น 3 ก็ถึงปลายทางพร้อมกัน ส่วนระบบยุติธรรมไทยยังล้าหลังเท่ายุคกาลิเลโอเมื่อ 380 ปีที่แล้ว ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติแถลงการณ์เรียกร้องความยุติธรรมให้อากง แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยนอนหลับทับสิทธิอยู่ที่ไหนไม่ปรากฎ
โครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯเองก็มีปัญหา คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิฯมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิฯจำนวน 7 คน ด้วยมติที่มีการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แล้วเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้น ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมาก โดยวิธีลงคะแนนลับ [2]
กระบวนการสรรหาดังกล่าวแสดงว่าคณะกรรมการสิทธิฯอยู่ภายใต้อำนาจศาล ทั้งๆที่ตามหลักการประชาธิปไตยแล้วคณะกรรมการสิทธิฯต้องคานอำนาจศาลเพื่อ สร้างความก้าวหน้าให้ระบบยุติธรรม ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯจึงเหมือนหน่วยราชการที่ซ้ำซ้อนกับศาล สถานะองค์กรอิสระของสำนักงานดังกล่าวเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกหรือเรียกได้ ว่าเป็นองค์กรอิสระแบบไทยๆ โครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯคล้ายคลึงกับคณะลิเกที่มีพล็อตสะท้อนสังคมเจ้าขุน มูลนายในอดีต คณะกรรมการสิทธิฯเปรียบได้ดั่งฉากหนึ่งใน“ลิเกสยาม”
จริยธรรมในลิเกสยาม
องค์ประกอบสำคัญของ“ลิเกสยาม”คือการอ้างอิงจริยธรรม รัฐบาลสุรยุทธ์ปรับโครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯและบัญญัติประมวลจริยธรรม กรรมการสิทธิฯและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯเพื่อให้ดูเหมือน ว่าคณะกรรมการสิทธิฯมีประมวลจริยธรรมทัดเทียมกับองค์กรอิสระในประเทศที่ พัฒนาแล้ว[3] แต่สาระสำคัญทีสุดของประมวลจริยธรรมคือความศักดิ์สิทธิ์ของประมวลจริยธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของประมวลจริยธรรมเหมือนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายตรงที่ ว่ามาจากการบังคับใช้ การอ้างอิงจริยธรรมโดยไม่บังคับใช้ไม่สามารถทำให้ประมวลจริยธรรม ศักดิ์สิทธิ์ ความเงียบของคณะกรรมการสิทธิฯต่อความเลือดเย็นในคดีอากงและคดีอื่นๆอีกมาก มายทำให้ประมวลจริยธรรมเป็นเพียงสคริปต์ลิเกสยาม
ส่วนบทความ“อากงปลงไม่ตก”ของโฆษกศาลยุติธรรมอ้างอิงจริยธรรมอย่างลึกซึ้ง กว่าประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการสิทธิฯ[4] ถ้ากระบวนการยุติธรรมใช้การ"ปลง”เป็นบรรทัดฐานแทนการ“พิสูจน์”หลักฐาน ก็จะแปลว่าผู้พิพากษาคือนักบวชในชุดครุย และจะแปลว่าระบบยุติธรรมไทยในปัจจุบันคล้ายคลึงกับระบบยุติธรรมของคริสตจักร เมื่อ 380 ปีที่แล้วที่ปฏิเสธการพิสูจน์หลักฐานและพิพากษาให้กาลิเลโอโดนกักบริเวณจน ตาย
ในความเป็นจริงไทยไม่ใช่รัฐศาสนา แม้ไทยมีการถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา(เช่น พิธีกรรมวันพืชมงคล พีธีกรรมวันมาฆบูชา)ด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเหมือนซาอุดิอาระเบียซึ่ง เป็นรัฐศาสนาที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่รัฐธรรมนูญไทยไม่กำหนดให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติและพลเมืองไทยนับถือ หลายศาสนา ดังนั้นการอ้างอิงหลักปฎิบัติของศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เป็นบรรทัดฐานของระบบ ยุติธรรมราวกับว่าไทยเป็นรัฐศาสนาแบบซาอุดิอาระเบียจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับ สถานะของประเทศในปัจจุบัน
สายลมปฎิรูป
ข่าวอากงเสียชีวิตในคุกทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบยุติธรรม กล่าวคือ การปฎิรูปม.112 การปฎิรูปด้านสิทธิผู้ต้องหาและนักโทษซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในการรับบริการ สาธารณสุข ดิฉันเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งหมด ขอเสนอเพิ่มเติมว่าน่าจะลดอำนาจศาลในการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ และน่าจะช่วยกันตามหาคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่รู้ว่าป่านนี้คณะกรรมการสิทธิฯดำดินหายสาบสูญไปจากศตวรรษที่ 21 แล้วหรือยัง?
ดิฉันหวังว่าสายลมปฎิรูปจะไม่แผ่วเบาจนไปไม่พ้นลิเกสยาม
(ที่มา)
http://prachatai.com/journal/2012/05/40466
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น