หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นิธิชี้ต้องกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำปรับตัวอยู่ร่วมประชาคมโลก

นิธิชี้ต้องกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำปรับตัวอยู่ร่วมประชาคมโลก

 




(18 มิ.ย.55) นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก: การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการอยู่ร่วม โลกเดียวกับคนอื่น จินตนาการสู่อนาคต" ในการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับโลกข้างนอก คนไทยมักมองในเชิงการแข่งขัน เช่น เมื่อจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มักมองว่าเราจะแข่งขันกับประเทศสมาชิกได้อย่างไร ทั้งที่ส่วนตัวมองว่า AEC เกิดขึ้นเพื่อให้เราร่วมมือกันเพื่อให้เป็นตลาดที่ใหญ่โตพอที่คนอื่นจะเข้ามาลงทุนต่อ ซึ่งวิธีการมองโลกในลักษณะการแข่งขันดังกล่าวเข้าใจว่าน่าจะมากับวัฒนธรรมอเมริกัน ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับคนในประเทศ เรามักนึกถึงความเป็นธรรม

นิธิกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดและมีมานานพอสมควรในไทย คือ ความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง รัฐ ทุนและสังคม ที่ขาดความสมดุลต่อกัน โดยอำนาจบางกลุ่ม เช่น รัฐ หรือทุน มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรสูง จนสังคมไม่สามารถถ่วงดุลและตรวจสอบได้ โดยทรัพยากรในที่นี้มีความหมายกว้าง กินความถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและสังคม 

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเห็นได้จากคำพิพากษาที่ปรับชาวสวนชาวไร่ที่บุกเบิกที่ ซึ่งอ้างว่าไม่ใช่ที่ของเขา ด้วยข้อหาทำให้โลกร้อน เป็นแสนเป็นล้านบาท ท่ามกลางรถยนต์-โรงงานที่ปล่อยควันพิษ แต่ไม่มีใครโดนปรับ ทำให้คนที่จนที่สุดในสังคมกลับเป็นผู้รับผิดชอบโลกร้อนในสังคมเรา รวมถึงตัวเลขแสดงความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจจำนวนมาก แม้แต่งบประมาณบริการของรัฐ เช่น การศึกษา กลุ่ม 20% บนสุดเข้าถึงมากกว่า 10% ขณะที่กลุ่มล่างสุด เข้าถึงน้อยกว่า 10% 

นิธิ กล่าวว่า การจะเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเสียใหม่ ต้องทำให้อำนาจของการบริหารจัดการกระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและประนีประนอมกันเอง โดยการกระจายการบริหารจัดการในเชิงการปกครองให้ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น จะเป็นกุญแจแรกในการจัดการทรัพยากรด้านอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา คือ อำนาจที่กระจายไปตกกับชนชั้นนำจำนวนน้อยในท้องถิ่น จึงต้องออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นใหม่ ให้มีสถาบัน-องค์กรอื่นเข้ามาต่อรองอำนาจได้ รวมถึงต้องให้พลังทางการเงินกับท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อจัดการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นเอง 

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41122

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น