คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย” ในการสัมมนาเรื่อง จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปีประชาธิปไตย จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและสถาบันนโยบายศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ถ้าพูดเฉพาะเรื่องของคณะราษฎรอาจจะไม่เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงด้าน กฎหมายทั้งหมดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงจะพูดถึงคณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและเลยไปถึงช่วงห้าปีแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นสำคัญ
โดยประเด็นหลักๆ ที่จะพูด แบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรก คือ การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพื่อจัดวางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย และการปกครองของรัฐ 2.การพัฒนาทางด้านกฎหมายและการใช้กฎหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบการปกครอง แบบใหม่ 3.การสร้างอุดมการณ์ของระบอบรัฐธรรมนูญโดยประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว และผลกระทบที่มีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
เพื่อจัดวางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายและการปกครองของรัฐ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรให้กำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น แม้อาจมีการช่วงชิงความหมายของรัฐธรรมนูญ โดยมีนักกฎหมายในยุคหลังบางคนกล่าวว่า หลักศิลาจารึกมีสภาพเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ในทางกฎหมายแล้วจะนับเช่นนั้นไม่ได้ เราถือว่าคณะราษฎรให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม ชั่วคราว 2475 ซึ่งประกาศเมื่อ 27 มิ.ย. 2475
ในรัฐธรรมนูญ คณะราษฎรได้จัดวางหลักการใหญ่ๆ และเป็นโครงของรัฐไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 เรื่อง คือ 1.การกำหนดรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักร คือยังคงให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ และคงสภาพรัฐเดี่ยวต่อไป แง่นี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐไปจากเดิมเท่าไหร่ 2.การกำหนดให้ประชาชนหรือที่คณะราษฎรเรียกว่า ราษฎร เป็นเจ้าของอำนาจใหม่ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นการประกาศหลักประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการของ ร.7 และผู้คนแวดล้อมพระองค์ ซึ่งเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญของเจ้าพระยากัลยาณไมตรี ซึ่งไม่ได้ประกาศใช้ ที่กำหนดให้อำนาจสูงสุดตลอดราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ 3.หลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ หรือปัจจุบันรู้จักกันในนามนิติรัฐ คือให้บุคคลเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการปกครอง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า หลักนิติรัฐไม่ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่อยู่ในคำประกาศของคณะราษฎรที่ว่าด้วยหลัก 6 ประการ การประกาศหลักนิติรัฐลงในรัฐธรรมนูญมาปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 แต่วิธีคิดนี้มีอยู่แล้วในประกาศของคณะราษฎรและหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41216
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น