คดีตากใบยังไม่จบ ศาลนัดพิพากษาอุทธรณ์ ไม่เพิกถอนคำสั่ง ‘ขาดอากาศหายใจ’
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคดีไต่สวนการตายของศาลจังหวัด สงขลา 8 มิถุนายน 2555
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน 2555 ศาลอาญา กรุงเทพมหานคร นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ ษ 43/2552 หมายเลขแดงที่ ษ 42/2552 กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย โดยมอบอำนาจให้นางแยน๊ะ สะแลแม เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา
คดีนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตใน ระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน โดยศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่
(อ่านต่อ)http://www.prachatai.com/journal/2012/06/40918
อาชญากรรมรัฐที่ตากใบ
ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗
กองกำลังติดอาวุธของรัฐไทยได้สลายการชุมนุมอย่างสันติของชาวบ้านที่ตากใบ
จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านที่มาประท้วงหน้า ส.น.ตำรวจในวันนั้นประกอบไปด้วย
ชาย หญิง และเด็ก
สาเหตุที่มาประท้วงก็เพื่อให้ตำรวจปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับในข้อหานำอาวุธ
ไปให้พวกที่กบฏต่อรัฐอำมาตย์
อาวุธดังกล่าวเดิมมาจากภาครัฐที่บังคับให้ชาวบ้านถือไว้
และเขามอบอาวุธให้คนอื่นเพราะถูกข่มขู่
ชาวบ้านกลัวว่าผู้ที่ถูกตำรวจจับจะหายตัวไปหรือถูกซ้อมตามเคย
จึงมาประท้วงเพื่อให้ปล่อยเพื่อนบ้าน
ในวันนั้นมีการใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงและใช้ก๊าซน้ำตาแล้ว
มีการยิงกระสุนปืนใส่ชาวบ้านจนตาย 6 คน บาดเจ็บอีกมากมาย
หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนของรัฐไทยเป็นเด็กอายุ 14 ขวบ
ในขณะที่ฝ่ายชาวบ้านไม่มีอาวุธแต่อย่างใด
หลังจากที่สลายการชุมนุมดังกล่าว
ทหารและตำรวจบังคับให้ชายทุกคนนอนลงกับพื้น ถูกถอดเสื้อ ถูกเตะตี
แล้วมีการมัดมือไว้ข้างหลัง
ต่อมาทหารก็โยนชายเหล่านั้นขึ้นรถทหารที่ไม่มีหลังคา
มีการบังคับให้นอนทับกันหลายชั้น ใครร้องเรียนประท้วงหรือไม่พอใจ
จะโดนทุบตีและเหยียบและถูกทหารปรามว่า
“เดี๋ยวจะรู้ว่านรกจริงเป็นอย่างไร”
ชายเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิดอะไรทั้งสิ้น แค่มาประท้วงตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่ารัฐไทยมองว่าเขาเป็น “เชลยศึก” ที่จะถูกลงโทษ ไม่ใช่ “ผู้ต้องหา” ที่มีสิทธิ
เชลยศึกดังกล่าวถูกนำไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางกลางแดดหลายชั่วโมง พอรถทหารคันแรกถึงค่ายอิงคยุทธิ์ปรากฏว่ามีคนตายที่นอนอยู่ข้างล่างหลายคน 6 ชั่วโมงหลังจากนั้นรถคันสุดท้ายมาถึงค่ายทหารและมีคนตายทั้งหมด 78 ศพ ในหกชั่วโมงที่ทหารทราบว่าการขนส่งมนุษย์แบบนี้มีปัญหา ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีขนคนแต่อย่างใด ดังนั้นเราต้องสรุปว่าเป็นการ “จงใจฆ่าประชาชน”
พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในยุคนั้น กล่าวต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ของสื่อมวลชนขณะที่เกิดเหตุการณ์ว่า “เราจะทำอย่างนี้อีกทุกครั้ง”
นอกจากแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมของรัฐครั้งนี้คือ ผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารและตำรวจระดับชาติ นอกจากนี้รัฐบาลทักษิณต้องรับผิดชอบกับการที่ทนาย สมชาย นีละไพจิตร ถูกตำรวจฆ่าก่อนหน้านั้นอีกด้วย
หลังเหตุการณ์ที่ตากใบนายกรัฐมนตรีทักษิณออกมาชมทหารและตำรวจ และรัฐบาลอ้างว่าคนที่เสียชีวิตไป ตายเพราะ "อุบัติเหตุ" สี่ปีหลังเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวศ โกหกกับนักข่าวโทรทัศน์ช่อง Al Jazeera ว่าคนตายที่ตากใบตายเพราะ “ล้มทับกันเอง”
อย่าลืม“กรือแซะ”
ในยุครัฐบาลทักษิณมีเหตุการณ์นองเลือดในภาคใต้อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือการนองเลือดที่ “กรือแซะ” ใน เดือนเมษายน ๒๕๔๗ ในกรณีนี้มีชายหนุ่มโพกผ้าศักดิ์สิทธิ์และเข้าโจมตีป้อมตำรวจด้วยดาบโบราณ การโจมตีป้อมตำรวจที่มีอาวุธทันสมัยครบมือด้วยดาบโบราณ มีลักษณะของการพลีชีพในเชิงสัญลักษณ์ เพราะชายหนุ่มเหล่านั้นคงทราบดีว่าต้องตายแน่ แต่บางคนที่ไม่ตายท่ามกลางเหตุการณ์และถูกจับคุม ก็โดนวิสามัญฆ่าตกรรมโดยรัฐ มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับผู้ต้องหามามัดมือและประหารชีวิตอย่าง เลือดเย็นที่ สะบ้าย้อย
นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่ กรือแซะ ชื่อ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี นายทหารคนนี้เคยแจ้งกับหนังสือพิมพ์ว่าในอดีต สมัย รบกับคอมมิวนิสต์ กองทัพบกจะเข้าไปในหมู่บ้านและยิงทิ้งใครที่สงสัยว่ากบฏต่อรัฐ แต่ตอนนี้ต้องแนบเนียนกว่านี้ ต้องไปขู่เมียแทน ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมอันเลวทรามในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารไทย
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าประชาธิปัตย์รักสงบมากกว่าไทยรักไทย ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีการเข่นฆ่าทรมาณประชาชน มีการปกป้องฆาตกรที่ฆ่าทนายสมชาย และประชาธิปัตย์พูดแต่เรื่องการ “ประสานงานการปกครองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ไม่ได้พูดถึงการแก้ไขรากฐานของปัญหาทางการเมืองเลย สาเหตุหนึ่งก็เพราะประชาธิปัตย์กับทหารมือเปื้อนเลือดทำงานด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น