เสื้อแดงนอกเงาเพื่อไทย
โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยบุคคลในพรรคเพื่อไทยในห้วงเวลาหลายเดือนที่ ผ่านมาได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงมวลชนคนเสื้อแดงว่าคงจะต้องมีการปรับ เปลี่ยนท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างกันเสียที
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในความเคลื่อนไหวหลายประการที่คนเสื้อแดงเข้าไปมีส่วน อย่างสำคัญ ล้วนถูกมองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอจากพรรคเพื่อไทยแต่อย่าง ใด การผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันล่าลายชื่อสนับสนุนก็ไม่ปรากฏว่า ส.ส. เพื่อไทยคนใดได้มีความเห็นสนับสนุนอย่างจริงจัง และเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะ ถูกคว่ำอย่างไม่เป็นท่า
การค้นหาความจริงของเหตุการณ์เมษา/พฤษภาหฤโหดใน พ.ศ. 2553 ก็ไม่มีความคืบหน้ามากมายนักนอกจากการใช้วาทะในการหาคะแนนนิยมไปเรื่อยๆ ทั้งที่บัดนี้ก็อยู่ในสถานะที่จะทำให้กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงสามารถเกิด ขึ้นได้มากกว่าในยามเป็นฝ่ายค้าน ยิ่งกับกรณีของ “อากง” ก็มีแต่เห็นความเงียบชนิดเป่าสาก
แม้กระทั่งกับกรณีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบรรดาเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยต่างมุ่งจะปกป้องความ มั่นคงของรัฐบาลมากกว่าการจะต่อสู้เพื่อสถาปนาอำนาจสูงสุดของประชาชนในระบบ การเมืองให้บังเกิดขึ้น
คนเสื้อแดงทั้งหลายยังพึงพอใจกับท่าทีในแนวทางเช่นนี้ของพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในท่ามกลางคนเสื้อแดงก็มิได้มีความเป็นอันเหนึ่งอันเดียวกัน ไปในทุกด้าน มีหลากหลายกลุ่มในฐานะของขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีการจัดตั้งแบบแนวดิ่ง ประเด็นซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันอาจเป็นการต่อต้านอำนาจนอกระบบ ซึ่งมักจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อระดมไพร่พลในการแสดงพลังหรือกดดัน พลังการเมืองแบบอำมาตย์ อันทำให้ดูราวกับว่าเป็นประเด็นนำของการเคลื่อนไหว
แต่ในความเป็นจริงของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้มองเห็นได้ว่าในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสีนั้น บัดนี้ได้มีการรอมชอมกันในหมู่ชนชั้นนำบังเกิดขึ้นแม้ว่าความรอมชอมนี้อาจ ไม่ยังไม่เป็นเอกภาพมากนักเนื่องจากความใหญ่โตและสลับซับซ้อนของเครือข่าย แต่ก็สามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในบางลักษณะให้กันและกัน
ดังเช่นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้สามารถกระทำได้แต่ก็จะถูกจำกัดให้ อยู่ในขอบเขตเพียงบางประเด็นเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขในทุกประเด็นที่เป็นโครงสร้างของระบบการปกครอง ไม่เพียงแค่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงอีกหลายสถาบันที่ยังต้องดำรงอยู่อีกต่อไป ในขณะที่การล้มรัฐบาลด้วยการทำงานองค์กรอิสระก็จะไม่บังเกิดขึ้นเช่นกัน
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเมื่อทางคนในพรรคเพื่อไทยเองกลับออกมาเป็นผู้โจมตี ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เรื่องยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญอย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งที่เป็นข้อเสนอเพื่อจะนำไปสู่การสถาปนาอำนาจนำในทางการเมืองของรัฐสภา จากระบบเลือกตั้ง
ความคาดหวังว่าพรรคการเมืองนี้จะเป็นผู้ถือธงนำในการเปลี่ยนแปลงจึงห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก
(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2012/07/41642
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น