Coup d'Etat 2.0 กระแสรัฐประหารรูปแบบใหม่ภายใต้การอ้างนิติรัฐ
โดยปิยบุตร แสงกนกกุล
รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ - รัฐประหารโดยศาล กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ตลอดเดือนที่ผ่านมา ศาลแสดงบทบาทมาก ตั้งแต่ อียิปต์, ปากีสถาน, ปารากวัย, "ราชอาณาจักร" ไทย เมื่อสักครู่อ่านจาก หนังสือพิมพ์ฝรั่ง เขาตั้งชื่อว่า รัฐประหารในลักษณะนี้เป็น "Coup d'Etat 2.0" ภายหลังจาก Coup d'Etat โดยทหาร ล้าสมัยและสังคมโลกไม่อาจยอมรับได้
Coup d'Etat โดยศาล กล่าวอ้างความชอบธรรมได้เสมอ เพราะกระทำในนาม "กฎหมาย" ทำให้อำนาจดิบเถื่อนกลายเป็นสิ่งชอบธรรมและดู Rational มากขึ้น
เมื่อนิติรัฐเบ่งบานไปทั่วโลก หากศาลในประเทศไหนวิปริต คิดก่อการ Coup d'Etat ก็จะกระทำลงไปได้สะดวกขึ้น โดยอ้างความจำเป็นของการมีศาลในการควบคุมตรวจสอบตาม "นิติรัฐ"
นานาอารยประเทศจะไม่เข้ามาแทรกแซง กดดัน วิพากษ์วิจารณ์ เพราะ เป็นเรื่องระบบรัฐธรรมนูญภายในของแต่ละประเทศ และไม่ได้ใช้กำลังทางกายภาพที่แสดงออกอย่างประจักษ์ชัดถึงความรุนแรง และอย่างน้อยที่สุด ดีๆชั่วๆ มันก็มาในนาม "กฎหมาย"
นี่เป็นอันตราย และเป็นศักยภาพล่าสุดของ "Coup d'Etat 2.0"
กับดักที่ทำให้ต้านรัฐประหารโดยศาลทำได้ยาก – ความเห็นต่างไม่มีผลทางกฎหมาย
อิทธิฤทธิ์ของ "Coup d'Etat 2.0" รัฐประหารโดยศาล อีกประการหนึ่ง คือ เขาจะผลักให้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาล บุคคลที่เห็นว่าการตัดสินของศาลเป็น "รัฐประหารโดยศาล" ไปว่า "นี่เป็นความเห็นแตกต่างกัน คุณไม่เห็นด้วยก็เป็นการใช้เสรีภาพ แต่สุดท้าย ศาลตัดสินแล้วต้องเคารพ ไม่งั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้"
วิธีการต่อต้านกับ "Coup d'Etat 2.0" รัฐประหารโดยศาล ที่ส่งผลพอฟัดพอเหวี่ยง และอาจต้านสำเร็จ มีเพียงประการเดียว คือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ต้องใช้อำนาจที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญ เข้าไปจัดการกับ "รัฐประหารโดยศาล" นั้น
เพราะ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
อาศัยอำนาจที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญเข้าไป "กำจัด" ผลิตผลที่ศาลผลิตขึ้น นี่เป็นการทำตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ เหมือนกับที่ศาลก็อ้างแบบนี้
การให้บุคคลภายนอกวิจารณ์พวกเขาก็จะไม่ส่งผลทางกฎหมาย เพราะ พวกเขาจะโยนไปว่า "นี่เป็นความเห็นต่าง"
การให้ประชาชนออกไปชุมนุม ก็ไม่ส่งผลทางกฎหมาย พวกเขาจะโยนไปว่า "นี่คือการคุกคามศาล"
การเข้าชื่อถอดถอนศาล ก็สำเร็จได้ยาก เพราะ ผู้มีอำนาจถอดถอน อาจเป็นกลไกเดียวกับพวกเขา
ดังนั้น มีอยู่เพียงประการเดียว คือ องค์กรผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ ใช้กลไกต่างๆที่รัฐธรรมนูญมอบให้ เข้าไป "จัดการ" รัฐประหารของศาลเสีย
นี่เป็นการใช้อำนาจปะทะอำนาจ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ ถ้าศาลไม่ใช้อำนาจออกนอกแถวมาก่อน ก็จะไม่มีการใช้อำนาจโต้กลับไป
พลังของตัวบทอยู่ที่การตีความ และการตีความอยู่ภายใต้การ “บีบ” ให้ผู้ตีความยับยั้งชั่งใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น