1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 373 ประจำวัน จันทร์ ที่ 20 สิงหาคม 2555
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ เป็นวันครบรอบ 1
ปีแห่งการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ซึ่งจากการประเมินของพรรคเพื่อไทย ถือว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
เช่น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ยืนยันว่า รัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผลงานมากกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถึง 5 เท่า
และนายกรัฐมนตรีก็ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
นโยบายที่หาเสียงไว้ก็ทำได้จริงถึงร้อยละ 90 ในขณะที่ฝ่ายต่อต้าน เช่น
กลุ่มเอเอสทีวี ตีความว่าผลงานของรัฐบาลติดลบ มีเพียงนายกรณ์ จาติกวณิช
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้คะแนนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เต็มสิบ
เพราะอธิบายว่า ไม่ได้คาดหมายอะไรจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลย เพราะถือว่า
นายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถ ทำอะไรขึ้นมาก็ถือว่าเกินความคาดหมายทั้งนั้น
ประเด็นสำคัญคือ ในฐานะของฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดง ควรที่จะประเมินรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไร
ก่อนอื่นเมื่อย้อนหลังกลับไปเวลาที่
น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีก่อน
ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยจำใจต้องยอมรับ เพราะทางเลือกหลักของชนชั้นนำ คือ
พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยนั้น พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ประชาชนส่วนข้างมากในประเทศไทยให้ความนิยมกับพรรคเพื่อไทย
และเห็นชอบกับคุณยิ่งลักษณ์ที่เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
มากยิ่งกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่มีกรณีนองเลือดติดตัว
ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องหาทางแก้ไขในขณะนั้น
มีหลายประเด็นทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยปัญหาการเมืองที่สำคัญ ก็คือ
ปัญหาประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ความไม่เป็นธรรม
และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายอำมาตย์ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
พ.ศ.2549 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพยายามแก้ไขเยียวยา
ในท่ามกลางที่กลไกรัฐแทบทั้งหมด คือ ศาล กองทัพ ระบบราชการ
ยังอยู่ในอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ทั้งสิ้น
และยังมีกลไกของฝ่ายขบวนการเสื้อเหลือง และพรรคประชาธิปัตย์
ที่ยังคอยเหนี่ยวรั้งทำลาย
ฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเพียงแต่เสียงประชาชนจำนวนมาก
และขบวนการคนเสื้อแดงเท่านั้น
ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนสำคัญให้รัฐบาลก้าวไปข้างหน้า
เมื่อเข้าบริหารประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ
ที่จะลงมือทำในปีแรก เช่น การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ฟื้นฟูประชาธิปไตย
เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง การแก้ปัญหายาเสพติด
การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้
การเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มสวัสดิการต่างๆ
เป็นต้น แต่ยังไม่ทันที่จะทำอะไร รัฐบาลก็เผชิญปัญหาเฉพาะหน้าทันที นั่นคือ
การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางและเขตกรุงเทพฯที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่
พ.ศ.2485 เป็นต้นมา ซึ่งการแก้ปัญหาก็ยังไม่ราบรื่นนัก
ถือว่ารัฐบาลมือใหม่ประสบความสำเร็จเพียงปานกลาง
ในทางยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ได้สร้างมิติใหม่ทางการเมืองทีเดียว โดยการเปลี่ยนธรรมเนียมการปฏิบัติ
ใช้วิธีการสร้างภาพให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศที่ทำงานเฉพาะด้านบริหาร
ไม่เที่ยวจ้อหรือ”ดีแต่พูด”เกินความจำเป็น
ไม่มีการตอบโต้หรือปะทะทางการเมืองกับใคร
ฝ่ายต่อต้านและศัตรูจะวิจารณ์ในลักษณะไหนก็วางเฉย
ไม่เป็นคนดำเนินนโยบายการเมือง เรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง
ให้รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ นายยงยุทธ
วิชัยดิษฐ์ เป็นผู้ดำเนินการ ผลจากการดำเนินการเช่นนี้
ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย
เพราะนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถรักษาภาพลักษณ์อันดีไว้ได้ ไม่ค่อยแปดเปื้อน
และยังได้รับความนิยมค่อนข้างสูง รัฐบาลก็ยังดูมีเสถียรภาพ
ราวกับว่าจะสามารถอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี
นอกจากนี้
ที่สำเร็จคือการสร้างภาพให้นายกรัฐมนตรีหญิงเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ
เพราะในขณะเมื่อเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า
น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สวยได้ในทุกสถานการณ์
ควบคู่กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่สร้างความขัดแย้งกับใคร
ไม่เผชิญหน้ากับกัมพูชา
และเดินหน้าประเทศไทยไปสู่การเป็นเอกภาพกับภาคีอาเซียน
สร้างความเป็นมิตรอันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน
ถือได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์
และไม่คล้อยตามอุดมการณ์ชาตินิยมขวาจัด
สำหรับเรื่องอื่น ที่ผ่านมาในรอบปี ต้องถือว่า
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลทำได้ดีพอสมควร เช่น
เรื่องการขยายหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ต่อยอดจากโครงการ 30
บาทรักษาทุกโรค เรื่องขยายกองทุนภาคประชาชน และลดภาระหนี้
แต่ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เช่น เรื่องโครงการรับจำนำข้าว
เรื่องลดภาษีเงินได้ให้กับชนชั้นกลางผู้มีเงินเดือนในภาวะที่รัฐบาลมี
โครงการใช้เงินจำนวนมาก
เรื่องนโยบายรถคันแรกที่กลายเป็นการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่
โดยไม่มีแผนการด้านการจราจรรองรับ เป็นต้น
ส่วนในเรื่องการผ่อนคลายความขัดแย้งทางการเมือง
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ดำเนินการได้บรรลุผลพอประมาณ
โดยเฉพาะการสร้างฉากอันประนีประนอม
ที่ทำให้นายกยิ่งลักษณ์ไม่มีภาพที่ขัดแย้งกับฝ่ายอำมาตย์ เข้าหาองคมนตรี
สามัคคีและไม่แตะต้องผู้มีบทบาทในกองทัพ ซึ่งการดำเนินนโยบายลักษณะนี้
ส่วนหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามลดความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำ
แต่เรื่องที่ยังดำเนินการไม่บรรลุผลก็คือ
การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
เพราะรัฐบาลพยายามจะปล่อยให้เป็นการดำเนินการของฝ่ายรัฐสภา
โดยใช้กระบวนการเสนอกฎหมายสร้างความปรองดอง
และเสนอเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ และขบวนการเสื้อเหลือง
โดยอ้างกันว่า พรรคเพื่อไทยมีวาระซ่อนเร้นในการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร และในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เข้ามาแทรกแซงขั้นตอนนิติบัญญัติ
โดยสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม
จนกลายเป็นกรณีอันสะเทือนเลื่อนลั่น
ควบคู่กันนั้น คือ ความล้มเหลวในเรื่องนโยบายสิทธิมนุษยชน
แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ดำเนินการใดในทางละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง
แต่ก็ยังช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมน้อยไปและช้าไป
จนดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนคน
เสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า
เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี ก็ยังมีประชาชนคนเสื้อแดงที่ต้องติดอยู่ในคุก
หรือยังถูกดำเนินคดีอีกมากกว่า 30 คน ในจำนวนนี้คือ
คดีหมิ่นพระเดชานุภาพตามมาตรา 112 คดีก่อการร้าย เผาศาลากลาง
และละเมิดภาวะฉุกเฉินที่ประกาศโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือ
ปล่อยให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมของศาลตามยถากรรม
แถมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเองก็ยอมจำนนต่อศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีนี้จึงกลายเป็นช่องว่างใหญ่ระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับประชาชนคนเสื้อ
แดง ดังที่มีประชาคนเสื้อแดงคนหนึ่งสะท้อนปัญหาว่า
“การต่อสู้อันยาวนานดูเหมือนว่า
จะไม่มีวันจบ ก่อนเลือกตั้งก็อยากเห็นความก้าวหน้าของบ้านเมือง
ก็เลือกคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อชนะเลือกตั้งมาแล้ว
ก็ต้องการเห็นการรื้อฟื้นบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
แต่กลับกลายเป็นว่าต้องไปเยี่ยมนักโทษการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัวจับคนบริสุทธิ์ติดคุก
รัฐบาลก็ไม่ทำอะไรเลยในการช่วยเหลือขจัดปัญหา คนสั่งฆ่าประชาชนก็ยังลอยนวล
อยากเห็นความยุติธรรม แต่กลับเห็นตุลาการภิวัฒน์แทน หนทางข้างหน้ามดมน
วีรชนประชาธิปไตยต้องตายเปล่ากระนั้นหรือ”
มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า
อนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในมือของพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่อยู่ที่ประชาชนคนเสื้อแดง ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจปัญหา
และตื่นตัวพร้อมจะสร้างประชาธิปไตย ในปีที่สองนี้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยคงต้องพิสูจน์ตนเอง
ถ้ายังประนีประนอมยอมจำนนต่ออำมาตย์ และไม่อยู่ข้างฝ่ายประชาชน
อนาคตข้างหน้าก็คงจะต้องประเมินกันใหม่เช่นกัน
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42305
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น