หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คุกไทยมีไว้ขังคนคิดต่าง

คุกไทยมีไว้ขังคนคิดต่าง













เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทำลายหน่ออ่อนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงของประชาชน 


โดย พจนา วลัย

นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการแต่งตั้ง สมคบคิดกับทหารผู้ก่อการ ก่อให้เกิดขบวนการประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และความขัดแย้งทางความคิดอุดมการณ์อย่างรุนแรง ที่รัฐถึงกับต้องใช้กฎหมายควบคุมความคิดและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ได้แก่ ก.ม.อาญามาตรา 112 หรือ ก.ม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น อันเป็นการเซ็นเซอร์การ คิด พูด เขียน และนำเสนอต่อสื่อสาธารณะ จนถึงการจับกุมคุมขัง ลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ดังกรณีที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ขบวนการประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหาร ผู้รักความเป็นธรรม คือ กรณีนายอำพล(ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) หรือ
“อากง” ที่ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ข้อหาส่งข้อความทางโทรศัพท์ไปยังเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สี่ข้อความที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้อากงอายุ 61 ปีแล้ว ต้องจำคุกจนถึงอายุ 81 ปี ทั้งอากงไม่ใช่คนเสื้อแดง เป็นคนสามัญธรรมดา ดูแลภรรยา ลูก 3 คน หลาน 4 คน สุขภาพทรุดโทรมลง เคยป่วยเป็นมะเร็งช่องปาก อีกทั้งการพิจารณาคดี ตัดสินพิพากษาของระบบศาลไทยก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาอย่างมากเพราะด้วย ความไร้มาตรฐาน ละเมิดสิทธิในการประกันตัว

การเสียชีวิตของอากงในขณะติดคุกจึงเป็นผลพวงของการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ ต่อเขาอย่างไร้มนุษยธรรม ไร้หลักมนุษยชนมาโดยตลอด อันเป็นการบั่นทอนร่างกายและจิตใจของอากง ส่งผลสะเทือนต่อนักโทษคนอื่นๆ และต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งเป็นผลพวงของการที่รัฐเมินเฉยข้อเรียกร้อง
“ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน” ที่ขบวนการฯ เรียกร้องมาตั้งแต่หลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินและราชประสงค์ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ต้องการย้ำ ณ ที่นี้ คือ ปัญหาความไม่ยุติธรรมมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่บีบคั้นให้คนไม่ผิดกลายเป็น คนผิด และรัฐไทยจึงควรรับผิดชอบต่อผู้ถูกกระทำทั้งหลาย


คุกไทยนอกจากจะมีไว้ขังคนจน ยังมีไว้ขังคนคิดเห็นต่าง


คุกไทยเลวร้ายยิ่งกว่าโรงงานนรก เพราะผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดของสังคมอยู่ในสภาพที่เลวยิ่งกว่าความผิดของตัว เอง ผู้เขียนต้องการเป็นปากเสียงให้แก่เหยื่อของเผด็จการที่นำกฎหมายหมิ่นพระบรม เดชานุภาพมาใช้เป็นเครื่องมือปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนที่คัดค้านการทำรัฐประหาร ดังเห็นได้จากจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นมากมายเป็นร้อยๆ คดี พร้อมกับบทลงโทษที่หนัก ตัวอย่างกรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจำคุกมาแล้วร่วม 3 ปี ก่อนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี  กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักรณรงค์สิทธิแรงงานติดคุกฟรี ไม่ได้รับการประกันตัวใดๆ และคดียังไม่ถูกตัดสิน หรือกรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนอื่นๆ  คนเหล่านี้คือคนที่คิดต่างแต่มีชีวิตอยู่เยี่ยงอาชญากรฆ่าคน สภาพเช่นนี้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย  คือ


1. วาทกรรมของผู้มีอำนาจรัฐมักพูดว่า
"ถ้าไม่อยากติดคุก ก็อย่าทำผิดสิ"  เป็นทัศนะที่ผิดเพราะคนที่พูดแบบนี้จะไม่มีวัน "ปฏิรูป" "แก้ไข" กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและระบบสังคม คนแบบนี้จะเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมาย แต่จะไม่ยอมให้ประชาชนเข้าไปแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับเป็นการสร้างรัฐแบบอำนาจนิยม ฟาสซิสต์ นาซี

2. คนไม่ผิดแต่ถูกทำให้ผิด กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเพียงผู้ต้องหา แต่ถูกล่ามโซ่ก่อนตัดสินคดี ต้องแต่งชุดนักโทษ อันเป็นการละเมิดมาตรฐานยุติธรรมพื้นฐาน เพราะเขาควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนการตัดสินคดี การที่ผู้ต้องหาต้องเข้าไปในห้องศาลในสภาพเช่นนั้น แทนที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของตนเองและปราศจากโซ่ เป็นการสร้างภาพในห้องศาลว่าคนนี้เป็น
“ผู้ร้าย” ซึ่งมักมีผลต่อการตัดสินคดีในอนาคต และสมยศอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนักโทษคดีหมิ่นฯ คนอื่นๆ

จากนั้นเมื่อถูกพิพากษาว่าทำผิดก็เข้าไปอยู่ในคุก พบกับสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าความผิดของตัวเอง ดังกรณี ดา ตอปิโด และนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่ถูกขังฟรีด้วยข้อหาก่อการร้าย ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายหมิ่นฯ  ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ ไม่มีทนาย ไม่ติดต่อญาติ ถูกซ้อมทรมาน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีเมื่อเจ็บป่วย อยู่กันอัดแน่นในห้องขัง พลิกตัวไม่ได้ อาหารด้อยคุณภาพ ต่อแถวยาว การขังแบบเหมารวม ผู้ต้องขังด้วยข้อหาลักเล็กขโมยน้อย มีโทษจำคุกไม่กี่ปี แต่ถูกนำไปขังรวมกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ถูกนักโทษด้วยกันกลั่นแกล้ง อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง คุกไทยจึงเป็นสภาพที่ก่อให้เกิดแรงกดดัน ความเครียด นำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือฆาตกรรมภายในคุก


เบื้องต้นนี้ต้องการบอกว่า การทำผิดของคนไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่ระบบสังคมก็เป็นปัจจัยที่บีบคั้นให้คนไม่ผิดกลายเป็นคนผิด เราจึงต้องเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างสังคมไทยที่มีลักษณะชนชั้น ใช้เส้นสาย เลือกปฏิบัติ กีดกันคนจนให้ด้อยโอกาส ปิดกั้น ทำลายผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จนถึงขั้นใช้ความรุนแรงกับประชาชน(ที่เรียกว่าอาชญากรรมโดยรัฐ)


กระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทำลายหน่ออ่อนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงของประชาชน  แต่ไปสร้างเสริมความมั่นคงของผู้มีอำนาจรัฐแทน ให้สามารถกดขี่ข่มเหงประชาชนคนยากจน คนด้อยโอกาสให้ไร้อำนาจต่อไป


สำหรับโครงสร้างสังคมแบบชนชั้นประกอบด้วยใครกันบ้างที่เกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมด  เริ่มต้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ ผู้นำรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกเลือกมาจากอำนาจของประชาชน เนื่องจากมีอำนาจบริหารที่สามารถออกกฎหมายปล่อยตัวนักโทษการเมืองชั่วคราว ได้ รวมไปจนถึงหาวิธีการนำอดีตผู้นำรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทหารที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหาร อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษได้  แต่กลับเพิกเฉย และเลือกที่จะหาหนทางช่วยเหลือเฉพาะกรณี เช่น กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


รัฐบาลคือองค์ประกอบหนึ่งของรัฐไทยที่กำลังตอกย้ำความขัดแย้งที่ยังดำรง อยู่ และค้ำยันโครงสร้างสังคมชนชั้นแห่งนี้ หากไม่รีบดำเนินการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะเป็นการสร้างความเจ็บช้ำให้แก่ขบวนการประชาธิปไตย และเพิ่มพูนผลพวงจากระบบยุติธรรมสองมาตรฐานให้บานปลายเรื้อรังต่อไปอีก

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/11/blog-post.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น