หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สังคมใหม่ไม่เกิด ถ้าไม่จัดตั้งชนชั้นกรรมาชีพ

สังคมใหม่ไม่เกิด ถ้าไม่จัดตั้งชนชั้นกรรมาชีพ 


 
การที่กรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่นักสังคมนิยมเน้นการทำงานกับกรรมาชีพและมองว่า กรรมาชีพคือผู้ปลดแอกสังคม สาเหตุที่อาจสำคัญกว่านั้นคือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการทำงานสำคัญๆ ทุกอย่างในสังคม เพราะถ้ารวมตัวกันนัดหยุดงานหรือยึดสถานที่ทำงาน ก็จะคุมเศรษฐกิจในมือในขณะที่นายทุนและแม้แต่นายพลผู้บังคับบัญชาทหารทำอะไร ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนั้น

โดย ลั่นทมขาว 


ในยุคนี้เรามักได้ยินคนที่อวดเก่งพูดว่า “ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญน้อยลง” เหมือน กับว่าเขาค้นพบอะไรใหม่ แต่คำพูดนี้เป็นความฝันเก่าแก่ของพวกฝ่ายขวาที่อยากปกป้องระบบทุนนิยม หรืออดีตฝ่ายซ้ายที่ต้องการหันหลังให้กรรมาชีพเพื่อประนีประนอมกับชนชั้น ปกครอง เพราะมีคนออกมาเสนอแบบนี้เป็นระยะๆ มาเกือบห้าสิบปีแล้ว และที่สำคัญคือมันไม่จริง แม้แต่คนที่อ้างว่าตัวเองเป็นมาร์คซิสต์ เช่นซลาวอย ซีเซก ยังอ้างผิดๆ ว่าจำนวนคนที่เป็นกรรมาชีพในโลกลดลง และพวกอนาธิปไตยอย่าง โทนี่ เนกรี่, ไมเคิล ฮาร์ต หรือ จอห์น ฮอลลอเวย์ มองว่ากรรมาชีพถูกซื้อตัวไปเป็นคนงานข้าราชการในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็น “มวลชนหลากหลายที่ไร้โครงสร้างชัดเจน”
   
ตัวเลขจากธนาคารโลกและสหประชาชาติทำให้เราเห็นว่าจำนวนชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำ งานในโลกขยายตัวเรื่อยๆ และสูงเป็นประวัติศาสตร์ คือสองในสามของประชากรโลกเป็นผู้รับจ้างชนิดใดชนิดหนึ่ง และในไม่ช้าประชากรโลกส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมือง ข้อมูลนี้ไม่ควรทำให้เราแปลกใจเลยเพราะการผลิตและการบริการที่เกิดขึ้นคู่ ขนานกันในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ขยายตัวมาตลอด อาจมีวิกฤตเศรษฐกิจประมาณทุกสิบปี แต่ทุนนิยมไม่ได้กลับสู่สภาพเมื่อร้อยปีก่อนเลย
   
บางคนเข้าใจผิดว่าผู้ทำงานในภาคบริการเป็นคน “กลุ่มใหม่” ที่ไม่ใช่กรรมาชีพ แต่ภาคบริการหมายถึงกิจกรรมที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผลิตสินค้า จริงๆ แล้วสิ่งที่กรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมผลิต จะไม่กลายเป็นสินค้าเลย จะไม่มีกำไรให้นายทุน และจะไม่มีการหมุนเวียนของทุนถ้าไม่มีผู้ทำงานในภาคบริการ เพราะคนทำงานในภาคบริการประกอบไปด้วยคนที่เดินเรือ ทำงานในท่าเรือ ทำงานรถไฟ ทำงานร้านค้า ทำงานในธนาคาร ทำงานในภาคไอที และแม้แต่ครูบาอาจารย์กับแพทย์พยาบาล ก็เป็นสาขาการทำงานที่บริการการผลิต เพราะถ้าคนงานไม่มีการศึกษาและไม่มีการรักษาสุขภาพ ก็ทำงานไม่ได้ ดังนั้นกรรมาชีพในภาคบริการเป็นลูกจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่คนชั้นกลางหรือคนกลุ่มใหม่แต่อย่างใด
   
สาเหตุที่เรามักได้ยินคนพูดบ่อยๆ ถึงความสำคัญของคนชั้นกลางหรือความสำคัญของปัญญาชนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ อย่างที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลพูด ก็เพราะคนเหล่านั้นอาจดูถูกปัญญาและความสามารถของคนทำงาน แต่นักมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนีโอ กรัมชี่ ซึ่งมีประสบการณ์โดยตรงในการจัดตั้งกรรมาชีพ อธิบายว่านักสังคมนิยมต้องกระตุ้นให้เกิด “ปัญญาชนอินทรีย์” หรือปัญญาชนคนงานที่เป็นนักต่อสู้ในขบวนการแรงงาน เพื่อไปรบทางปัญญากับปัญญาชนของชนชั้นปกครอง
   

การเน้นคนชั้นกลางอาจเพราะเขาอยากให้กรรมาชีพขาด จิตสำนึกเรื่องชนชั้นตนเองด้วย ในเรื่องหลังนี้กรณีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะชนชั้นปกครองสหรัฐพยายามสอนให้ประชาชนคิดว่าตนเองเป็นคนชั้นกลางไปหมด แต่การสอนไม่ค่อยสำเร็จเพราะประมาณ 34% ของคนสหรัฐมองว่าตนเองเป็นกรรมาชีพ
   
ถ้าเราเข้าใจว่าทุนนิยมสมัยใหม่ซับซ้อนมากขึ้นและอาศัยเทคโนโลจีมากขึ้นทุก วัน เราจะเข้าใจว่าทำไมภาคบริการในทุนนิยมสมัยใหม่ขยายตัวเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรม และทั้งๆ ที่ปริมาณคนทำงานในอุตสาหกรรม หรือสัดส่วนคนงานอุตสาหกรรมอาจลดลง แต่นั้นก็แค่หมายความว่าคนงานจำนวนน้อยลงสามารถคุมการผลิตทั้งหมดในมือเมื่อ มีการนัดหยุดงาน พูดง่ายๆ คนงานแต่ละคนมีอำนาจมากขึ้นนั้นเอง และคนทำงานในภาคบริการก็นัดหยุดงานเสมอ เช่นคนงานรถไฟ หรือครูในสหรัฐหรือในยุโรปเป็นต้น
   
ตัวเลขจากธนาคารโลกเปิดเผยว่าประมาณหนึ่งในสามของประชาชนโลกทำงานในรูปแบบ “อาชีพหลากหลาย” คือในบางช่วงทำงานเกษตร และในช่วงอื่นทำงานนอกเกษตร เพราะถ้าไม่ทำงานแบบนั้นจะเอาตัวไม่รอด เราเห็นชัดในกรณีคนชนบทไทยด้วย นอกเวลาเกษตรเขาจะประกอบอาชีพในภาคบริการหรือภาคอื่นในพื้นที่ชนบท แต่อย่าเข้าใจผิดว่าคนเหล่านี้ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมและทุกปีกลับไปเก็บ เกี่ยวข้าว เพราะระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาชีพหลากหลายที่กล่าวถึงนี้เช่นการซ่อมรถหรือเครื่องจักร การขายของ หรือการผลิตสินค้า OTOP
   
ในไทยทุกวันนี้กลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุดคือลูกจ้างหรือกรรมาชีพ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยที่เป็นคนชั้นกลางน้อยๆ เพราะเป็นผู้ประกอบการเองกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง คนชั้นกลางใหม่ที่เข้ามาแทนที่จะเป็นผู้บริหารในธุรกิจใหญ่ และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งคนชั้นกลางใหม่ประเภทนี้มักจะเป็นเสื้อเหลืองที่ต่อต้านประชาธิปไตยและ สิทธิเสรีภาพ
   
การที่กรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่นักสังคมนิยมเน้นการทำงานกับกรรมาชีพและมองว่า กรรมาชีพคือผู้ปลดแอกสังคม สาเหตุที่อาจสำคัญกว่านั้นคือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการทำงานสำคัญๆ ทุกอย่างในสังคม เพราะถ้ารวมตัวกันนัดหยุดงานหรือยึดสถานที่ทำงาน ก็จะคุมเศรษฐกิจในมือในขณะที่นายทุนและแม้แต่นายพลผู้บังคับบัญชาทหารทำอะไร ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนั้น
   
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวการนัดหยุดงานใหญ่ที่เหมืองแร่ในประเทศอัฟริกาใต้ การนัดหยุดงานนี้มีความสำคัญสำหรับทุกฝ่าย ทั้งกรรมาชีพคนจนและนายทุนชนชั้นปกครอง เพราะมูลค่าส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นในอัฟริกาใต้มาจากการทำเหมืองแร่ แต่มูลค่านี้ตกอยู่ในมือนายทุนไม่กี่คน ทั้งนายทุนผิวขาวและนายทุนผิวดำ ดังนั้นการรวมตัวกันนัดหยุดงานของคนงานเหมืองแร่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และชนชั้นปกครองเกรงกลัวว่าการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มอย่างจริงจังครั้งนี้ จะนำไปสู่ข้อเรียกร้องอื่นๆ ของมวลชนผิวดำที่ยากจน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้กระจายทรัพยากรและลดความเหลื่อมล้ำ นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลวางแผนฆ่าผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง เพื่อหวังว่าคนงานที่เหลือจะเสียขวัญและกลับไปทำงาน แต่ปรากฏว่าการฆ่าคนงานแบบนั้นยิ่งสร้างความโกรธแค้นมากขึ้น และทำให้การนัดหยุดงานลามไปที่อื่น
   
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คนงานอิตาลี่ในเมืองตูรินและมิลานเป็นแสน ร่วมกันนัดหยุดงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม และเรียกร้องให้ปลดผู้นำฟาสซิสต์ออกจากอำนาจ และทั้งๆ ที่รัฐบาลฟาสซิสต์มีประวัติการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้าย และทั้งๆ ที่บางส่วนของอิตาลี่ถูกทหารนาซีจากเยอรมันยึดครอง แต่ทหารไม่สามารถบังคับให้คนงานกลับไปทำงานได้ และต้องยินยอมต่อข้อเรียกร้องหลายส่วน
   
ในการปฏิวัติอียิปต์ ทั้งๆ ที่มวลชนออกมาประท้วงเป็นแสนๆ อย่างต่อเนื่องที่จัตุรัสทาห์เรีย เรื่องชี้ขาดที่สามารถกดดันให้เผด็จการมูบารักออกจากตำแหน่งคือการนัดหยุด งานที่เริ่มเกิดขึ้นในระบบขนส่งและท่าเรือ รวมถึงคนงานสิ่งทอด้วย ข้อแตกต่างระหว่างจุดจบของการประท้วงบนท้องถนนของอียิปต์กับไทย มาจากพลังกรรมาชีพ สาเหตุที่ทหารไทยฆ่าคนเสื้อแดงได้แล้วลอยนวลอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะขบวนการเสื้อแดงไม่เอาจริงในการประสานงานกับสหภาพแรงงานและคนงาน อย่างไรก็ตาม แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็เข้าใจว่าต้องพยายามเอาใจกรรมาชีพไทยบ้าง ด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท ทั้งๆ ที่เราคงจะมองว่ามันยังไม่พอและไม่ทั่วถึง
   

ทุกวันนี้สิ่งที่ท้าทายชนชั้นปกครองและนโยบายปก ป้องความเหลื่อมล้ำของเขาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในจีน กรีซ หรือ อัฟริกาใต้ คือการรวมตัวกันของชนชั้นกรรมาชีพ และไทยไม่ใช่กรณีพิเศษอะไร

การที่กรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยและที่อื่นๆ ไม่ได้แปลว่าจะมีการจัดตั้งทางการเมืองโดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้าไม่จัดตั้งทางการเมืองก็จะไม่มีพลังเพื่อเปลี่ยนสังคม การจัดตั้งทางการเมืองของกรรมาชีพมีหลายมิติคือ อย่างน้อยต้องมีองค์กรในรูปแบบสหภาพแรงงาน เพื่อต่อรองกับนายทุนในเรื่องส่วนแบ่งของมูลค่าระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องมีการจัดตั้งในเรื่องความคิดทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะความคิดที่ทำให้วิเคราะห์สาเหตุลึกๆ ของความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการขาดเสรีภาพประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึงแนวความคิดสังคมนิยมนั้นเอง เพราะแนวคิดอื่นๆ มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็น “เรื่องธรรมชาติ” หรือ “คนมักยากจนเพราะขี้เกียจและไม่รู้จักพอเพียง” หรืออาจมีการเสนอว่า “ในสังคมไม่มีปัญหาเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” เป็นต้น


การรวมตัวกันในสหภาพแรงงานเกิดขึ้นได้เพราะในระบบทุนนิยมลูกจ้างทำงานรวม หมู่และต้องร่วมมือกันในระบบการผลิตหรือการบริการ ดังนั้นการแก้ปัญหาย่อมเป็นเรื่องของส่วนรวม ไม่เหมือนผู้ประกอบการเองขนาดเล็กที่ทำเพื่อตนเองอย่างเดียวได้ แต่การสร้างสหภาพแรงงานง่ายขึ้นถ้ามีสถานที่ทำงานขนาดใหญ่ และคนงานมีความมั่นใจจากการต่อสู้ในอดีต หรือจากการมีฝีมือในการทำงาน สถานภาพทางกฏหมายก็มีผลด้วย ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือเป็นลูกจ้างประเภทที่เขาห้ามไม่ให้มีสหภาพแรงงานก็จัดตั้งยากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจัดตั้งไม่ได้ ซึ่งจากโลกจริงเราก็เห็นการนัดหยุดงานของแรงงานพม่าในไทย หรือการรวมตัวกันประท้วงของครูหรือพยาบาลในรูปแบบคล้ายๆ สหภาพแรงงาน
   
ลักษณะความง่ายหรือยากในการจัดตั้งสหภาพแรงงานทำให้อัตราการตั้งสหภาพแรงงาน ในไทยต่ำ คือแค่ 3.5% ของคนงานทั่วประเทศ แต่เราต้องดูข้อมูลอื่นประกอบ ถ้าพิจารณาสถานที่ทำงานใหญ่ๆ เช่นโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก รัฐวิสาหกิจ โรงงานทอผ้า หรือแม้แต่ธนาคาร เราจะเห็นอัตราการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่สูงกว่ามาก และมีประวัติการนัดหยุดงานผ่านการจัดตั้งประสานงานกันในหลายรูปแบบ แต่คนที่ไม่สนใจเรื่องชนชั้นกรรมาชีพและไม่เคยลงพื้นที่ไปสัมผัส บ่อยครั้งมั่นใจในตัวเองเกินไปและคิดว่าตัวเองรู้ “ความจริง” ว่าในสังคมไทยไม่มีสหภาพแรงงาน หรือไม่มีชนชั้นกรรมาชีพ!!
   
ลักษณะการจัดตั้งในเรื่องความคิดทางการเมืองมีผลต่อพลังการต่อสู้ของ กรรมาชีพมาก เพราะถ้าแกนนำของสภาแรงงานหรือสหภาพแรงงาน เน้นแต่การประณีประนอมกับรัฐบาลและนายจ้าง ก็จะไม่นำการต่อสู้ ซึ่งในประเด็นนี้เราต้องพิจารณาปัญหาของผู้นำแรงงานระดับสูงด้วย เพราะบ่อยครั้งพวกนี้คอยเป็นอุปสรรค์ในการต่อสู้ของคนทำงาน ซึ่งอาจมาจากฐานะของเขา และแนวคิดทางการเมือง การเหมารวมว่าสหภาพแรงงานในประเทศพัฒนา “ไม่ยอมสู้เพราะเป็นแรงงานขุนนางข้าราชการ” ซึ่งไม่จริงก็มาจากการที่คนอย่าง ซลาวอย ซีเซก, โทนี่ เนกรี่, ไมเคิล ฮาร์ต หรือ จอห์น ฮอลลอเวย์ หรือแม้แต่พวกคนหนุ่มสาวในขบวนการ Occupy ไม่ยอมแยกแยะระหว่างผู้นำสหภาพกับคนงานรากหญ้าและไม่ยอมศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างผู้นำกับสมาชิกธรรมดา คนเสื้อแดงที่เหมารวมว่าสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ “เป็นเสื้อเหลืองหมด” ก็เช่นกัน เพราะจริงๆแล้วแกนนำสหภาพรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจเป็นเสื้อเหลือง แต่สมาชิกรากหญ้าคงจะไม่ใช่ อาจเป็นเสื้อแดงด้วยซ้ำ
   

การมีหรือไม่มีพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ที่ทำงานจัดตั้งคนงานด้วยความคิดสังคมนิยม มีความสำคัญมากในการส่งเสริมการต่อสู้ของแรงงาน แต่นักอนาธิปไตย ชอบหันหลังให้กับการสร้างพรรค ซึ่งยิ่งสร้างอุปสรรค์มากขึ้นในการต่อสู้ของแรงงาน
   
แต่มันมีอีกประเด็นที่ฝ่ายซ้ายที่เห็นด้วยกับการสร้างพรรค มักถกเถียงกัน คือในเรื่องปัญหาผู้นำแรงงาน ซีกหนึ่งมองว่าเราสามารถแก้ปัญหาด้วยการเลือกผู้นำก้าวหน้าให้เข้ามานำสหภาพ แรงงานแทนคนที่มีความคิดประณีประนอม แต่ตรงนี้ถึงแม้ว่าผู้นำก้าวหน้าอาจดีกว่าผู้นำล้าหลัง แต่ผู้นำก้าวหน้าก็ถูกกดดันให้ประณีประนอมด้วยสาเหตุที่มาจากฐานะทางสังคม ได้ เพราะผู้นำสหภาพแรงงานเต็มเวลา ที่ไม่ทำงานในรูปแบบเดียวกับสมาชิกรากหญ้า แปรตัวไปเป็นชนชั้นพิเศษลอยอยู่เหนือกรรมาชีพ เขาไม่ถูกกดดันเหมือนแรงงานรากหญ้าและมักกินเงินเดือนสูงกว่า เขาจะถูกระบบแรงงานสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับนายจ้าง ค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาเน้นการเจรจาและการรักษาองค์กรสหภาพกับสำนักงานของสหภาพ ดังนั้นเขาจะเริ่มไม่กล้านำการต่อสู้เต็มที่
   
วิธีแก้ไขปัญหานี้ จากมุมมอง เลี้ยวซ้ายคือการมีคณะกรรมการของคนงานรากหญ้า ที่เป็นผู้แทนคนธรรมดา และมาจากการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอให้เข้ามาควบคุมแนวทางการต่อสู้ของคนงาน แทนที่จะปล่อยให้ผู้นำเต็มเวลาผูกขาดการนำ ตัวอย่างของคณะกรรมการของคนงานรากหญ้าในไทยคือ “กลุ่มย่าน” ซึ่งมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือสามารถสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วโรงงานและข้าม ภาคการผลิตต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามแม้แต่กรรมการกลุ่มย่านก็อาจเริ่มมีลักษณะเหมือนผู้นำเต็มเวลา ถ้าคนงานส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพ
   
ในการสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ทั้งในแง่การเมือง และในแง่ของเศรษฐกิจ พลังในการเปลี่ยนสังคมต้องมาจากชนชั้นกรรมาชีพ จะหวังว่าสิทธิเสรีภาพจะมาจากสลิ่มชนชั้นกลาง ปัญญาชน หรือพรรคการเมืองของนายทุนแบบพรรคเพื่อไทยไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมต้องเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมการ ต่อสู้ของกรรมาชีพอย่างลึกซึ้ง


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/11/blog-post_7013.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น