หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การแก้ไข′รัฐธรรมนูญ′ ศึกษาจาก 18 ฉบับ จาก พ.ศ.2475 ถึง 2555

การแก้ไข′รัฐธรรมนูญ′ ศึกษาจาก 18 ฉบับ จาก พ.ศ.2475 ถึง 2555


 

การแตะต้อง หรือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว

ความคิด ความเห็น ทรรศนะ รวมถึงโพลต่างๆ ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

  
จะทำให้เกิดความขัดแย้ง

จนอาจจะกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง


รัฐธรรมนูญแตะต้องไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องต้องห้ามและมีอันตรายจริงหรือ

ประเทศไทยเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475

มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ2475" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2475

มี 39 มาตรา ผู้ยกร่าง คือ "คณะกรรมการราษฎร" และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้

นั่นถือเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว

วันที่ 10 ธ.ค.2475 จึงมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรสยาม พ.ศ.2475"

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่างเสนอสภาผู้แทนฯให้ความเห็นชอบ และทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้

รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกนี้ มี 68 มาตรา อายุการบังคับใช้ 13 ปี 4 เดือนเศษ

มีการแก้ไข 3 ครั้ง จึงถูกยกเลิก เนื่อง จากล้าสมัย และประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489" เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2489

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้อยู่เพียง 1 ปี 6 เดือน ก็ถูกยกเลิกด้วยประกาศคณะรัฐประหาร

ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 8 พ.ย.2490

เปิดฉาก "โมเดล" ของการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ที่จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน

ผ่านยุค 2500 ลากยาวไปจนถึงรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

อันเป็นรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

และเป็นบ่อเกิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีความพยายามจะแก้ไข และยกร่างใหม่อยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญไทยนับจากฉบับ 27 มิ.ย. 2475 มาจนถึงฉบับ พ.ศ.2550 รวมแล้ว มีทั้งสิ้น 18 ฉบับ

ประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญ บอกข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า


 "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่แก้ไข ปรับเปลี่ยน แม้กระทั่งยกเลิกได้"
 

แม้กระทั่งการนำเอารัฐธรรมนูญเก่ามาปัดฝุ่นใช้ใหม่ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

หลังจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารในปี 2494

แล้วนำเอารัฐธรรมนูญปี 2475 หรือฉบับ 10 ธันวาฯ มาให้สภาผู้แทนฯแก้ไขเพิ่มเติม แล้วประกาศใช้ในปี 2495

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้ต่อมาอีก 6 ปี 7 เดือน จึงถูกฉีกทิ้งอีกครั้ง

โดยรัฐประหาร 20 ต.ค.2501 ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


จากนั้นเข้าสู่ยุคของการใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502"

เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเพียง 20 มาตรา

ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้อย่างสูง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 17

สั่งประหารชีวิตได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับนานถึง 9 ปี ไปยกเลิกในปี 2511

แล้วมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2511 โดยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

ใช้อยู่ 2 ปีเศษ จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี 2514 ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีก

แล้วนำธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2515 ที่มีเพียง 23 มาตรา และให้อำนาจพิเศษแก่ นายกฯเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์มาใช้

ความไม่พอใจของประชาชน ที่สะสมจากยุค 2490 สะสมจากยุครัฐธรรมนูญ 20 มาตรา กลายเป็นระเบิดที่ปะทุรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516

เข้าสู่ยุคที่ประชาชนตระหนักในพลังของตนเอง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ปรับ เปลี่ยนแก้ไขได้

และได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข และยกเลิกมาแล้วหลายยุคหลายสมัย

ในอดีตการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของอำนาจระดับสูง ที่เข้ามาฉีกทิ้ง ร่างใหม่ ฯลฯ

บัดนี้ประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริง จะเข้ามาแก้ไขและยกร่างบ้าง

กลายเป็นเรื่องวิกฤตที่อาจนำไปสู่ "วันสิ้นโลก" เลยทีเดียว


(ที่มา) 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355196740&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น