หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ม.เที่ยงคืนออกแถลงการณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ จี้แก้ รธน.2550

ม.เที่ยงคืนออกแถลงการณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ จี้แก้ รธน.2550

 



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จี้แก้ รธน.2550 แนะปรับโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ชี้หลักการสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบเลือกตั้ง

9 ธ.ค. 55 – มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2555 ข้อเสนอกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ …


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2555
ข้อเสนอกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

ปมปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มิใช่เพียงที่มาอันสืบเนื่องจากการรัฐประหารเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการกำหนดโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับ ระบอบประชาธิปไตย การกล่าวอ้างว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นส่วน หนึ่งของความพยายามปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับที่ทั้งไม่ชอบธรรม/ไม่สอดคล้องกับ ประชาธิปไตยเอาไว้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว 3 ประการ ดังต่อไปนี้


ประการแรก ปมปัญหา 

การแก้ไขเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่จำกัดขอบเขตเอาไว้ เฉพาะเพียงความขัดแย้ง “ทางการเมือง/เฉพาะหน้า/ระหว่างสี” เท่านั้น เพราะจะทำให้การพิจารณา รัฐธรรมนูญวางอยู่บนปมขัดแย้งทางการเมืองและอาจนำไปสู่การต่อต้านโดยฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่าย และอาจจะได้รัฐธรรมนูญที่ ไม่ช่วยในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม อื่นๆ ในบริบทของสังคมไทยและสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร

ในด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาอย่างสำคัญทั้งในแง่ของความชอบธรรมของการ กำเนิดขึ้น และทั้งในด้านโครงสร้างขององค์กรและสถาบันต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายประการที่เป็นปัจจัยสำคัญ ของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน การรวมศูนย์อำนาจรัฐ วัฒนธรรมแห่งชาติที่เป็นรากฐานของความไม่เสมอภาคทางสังคม ฯลฯ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงควรเป็นกรอบกติกาในการต่อรองระหว่างคนกลุ่มต่างๆ และการค้ำประกันตลอดจนการวางขอบเขตแห่งสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการกำหนดโครงสร้างสถาบันการเมืองเท่านั้น  ทั้งนี้ จะต้องพิจารณารัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการวางกฎเกณฑ์ที่บุคคลและ กลุ่มสังคมแต่ละฝ่ายสามารถต่อรองและแข่งขันกันได้อย่างกว้างขวางและเป็นธรรม ที่สุด

ประการที่สอง ประเด็นในการพิจารณาแก้ไข 

ประเด็นแรก โครงสร้างสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยมีหลักการสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบเลือกตั้ง แต่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองจากประชาชนและ องค์กรอิสระ ทั้งนี้ องค์กรอิสระจะต้องปรับโครงสร้างให้มีความเชื่อมโยงและมีความรับผิดชอบ (accountability) ต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะ คนบางกลุ่ม

ประเด็นที่สอง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน ต้องยอมรับสิทธิในการปกครองของท้องถิ่นและชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ โดยต้องยอมรับสิทธิของชุมชนและอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งอำนาจในการจัดการทรัพยากร และการเลือกตั้งองค์กรทางการเมืองการปกครองในทุกระดับ  ซึ่งย่อมหมายถึงการยกเลิกระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้เหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

ประเด็นที่สาม สร้างความเท่าเทียมและลดความเลื่อมล้ำในสังคม ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มต่างๆ เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน  และมีผลกระทบอย่างมากต่อคนตัวเล็กๆ ในสังคม  ซึ่งนับวันจะสร้างความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการรับรองสิทธิในปัจจัยและความจำเป็นพื้นฐานของบุคคล  การใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ โดยเร็ว และการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐและภาคเอกชนที่เอื้อต่อการ กำกับตรวจสอบ และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ประเด็นที่สี่ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับการปกป้องโดยกระบวนการยุติธรรม ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิจากการถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างฉ้อฉล รวมทั้งต้องสร้างกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐอย่างเข้ม งวด

ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนต่อสถาบันการเมืองจะ ต้องถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน  ปราศจากกฎหมายเฉพาะที่ส่งผลต่อการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างชอบ ธรรม

ประการที่สาม กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่สามารถจะกระทำได้ทั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมา แต่ทั้งนี้ควรเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของปวงชนเข้าไปใน กระบวนการดังกล่าวนี้ด้วย

อนึ่ง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งรวมถึงการโต้แย้ง ต่อรอง อย่างเปิดกว้างและเสรี จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าไปได้ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางคนหรือ บางกลุ่มเท่านั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายใช้เหตุผล สติปัญญา และการตระหนักถึงอนาคตของสังคมไทยเป็นสำคัญ  ไม่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของบุคคลหรือกลุ่มสังคมใดๆ แล้วสร้างเป็นข้ออ้างต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือฝ่ายที่ต้องการหยุดกระบวนการ แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
10 ธันวาคม 2555
http://61.47.2.69/~midnight/midnightuniv/ 
 
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44144

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น