ประชามติหรือคือทางออก
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
โลกวันนี้วันสุข ฉบับ ๓๙๑ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๕
แม้
ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เป็นที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้นั้น
ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และมีผู้ที่ต่อต้านไม่ยอมรับจำนวนมาก
โดยเฉพาะในข้อโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า เมื่อใดก็ตาม
ที่ฝ่ายพลังประชาธิปไตยจะพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ก็กลายเป็นเรื่องยากทุกครั้ง
ความไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ถูกโจมตีมีหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่อง การขยายอำนาจตุลาการมากเกินไป จนครอบงำองค์กรอิสระทั้งหมด การให้สิทธิตุลาการในการยุบพรรคการเมืองและลงโทษกรรมการพรรคการเมืองที่ไม่ ได้ทำความผิด การกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกลากตั้งครึ่งสภา ที่มีอำนาจเท่าเทียมวุฒิสมาชิกเลือกตั้ง การมีบทเฉพาะกาลต่ออายุตุลาการ และการมีมาตรา ๓๐๙ รับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตลอดกาล แต่กลุ่มพลังที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ กลับเห็นว่า มาตราเหล่านี้เป็นความถูกต้อง จึงคัดค้านการแก้ไขเสมอ
แม้
กระทั่งครั้งล่าสุด
ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑
เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง
ฉบับ และรัฐสภาได้พิจารณาผ่านวาระที่สองมาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕
ที่ผ่านมา เหลือเพียงการผ่านวาระที่สาม แต่ในที่สุด การลงมติต้องค้างเติ่ง
เพราะในวันที่ ๑ มิถุนายน
ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้อำนาจสั่งระงับการลงมติวาระที่ ๓ โดยอ้างว่า
ศาลได้รับคำร้องที่ว่า การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา
อาจเป็น”การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข
และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม
วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา ๖๘ แม้ว่า ต่อมา
ศาลจะมีวินิจฉัยว่า การพิจารณาของรัฐสภา ไม่เป็นไปตามข้อหานั้น
แต่ศาลก็แนะนำให้มีการลงประชามติเสียก่อน
พรรคร่วมรัฐบาลจึงถอยและยังไม่ได้มีการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ ๓
ใน
กรณีนี้ แม้ว่านักวิชาการด้านกฏหมายหลายคน ก็ได้ชี้แจงกันว่า
ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินเลย และแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ
พรรคร่วมรัฐบาลควรที่จะเดินหน้าผ่านวาระที่ ๓
เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ชะลอเวลา
โดยการตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา
๒๙๑ ที่มี โภคิน พลกุล เป็นประธาน และในที่สุด พอถึงเดือนธันวาคมนี้
ก็เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแก้ปัญหาด้วยการชะลอเวลาต่อไป
โดยการเสนอให้มีการทำประชามติ ตามมาตรา ๑๖๕ ที่ระบุว่า
“กรณีใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า กิจการในเรื่องใด
อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน
นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร
และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้มีการออกเสียงประชามติได้”
เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอ้างในการเสนอทำประชามติก็คือ
เพื่อให้เป็นการดำเนินตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเสนอ
และเพื่อไม่ให้ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยอีกต่อไป
จน
ถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดประเด็นว่า
คณะรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ จะผลักดันให้มีการลงประชามติในประเด็นลักษณะใด
ซึ่งคงจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดต่อมา
แต่
ไม่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอให้ลงประชามติในลักษณะใด
กลุ่มฝ่ายต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังคัดค้านด้วยข้อหาเดิมเสมอ คือ
การกล่าวหาว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นไปเพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ก็ได้ทำจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการเร่งแก้ไขธรรมนูญของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเสนอให้ประชาชนล้มประชามติ ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงขึ้นอยู่กับรัฐบาล
แต่ต้องไม่แก้ในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือต้องไม่แก้ในส่วนที่ทำให้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นผิด มิฉะนั้น
ฝ่ายพันธมิตรก็จะทำการเคลื่อนไหว
ได้
มีการกล่าวหาล่วงหน้าว่า
คณะร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้มีการตั้งขึ้นมาต้องมีธงว่า จะต้องแก้มาตรา
๓๐๙ เพื่อยกเลิกผลพวงที่เกิดจากการดำเนินการของ คตส.
(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ)
ซึ่งจะส่งผลให้คดีความที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หมดสิ้นไป
มีการหยิบเอาเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวมาทำการรณรงค์
โดยไม่พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญในข้ออื่นเลย ซึ่งก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า
กลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ กลับไม่สนับสนุนของเสนอของนิติราษฎร์
ที่จะให้มีการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร โดยนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
มาพิจารณาในกฎหมายปกติ
ข้อ
คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายขวา และพรรคประชาธิปัตย์
จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกยิ่งนัก ยิ่งกว่านั้น
ถ้าพิจารณาในด้านของอำนาจตุลาการ ต้องถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ให้ผลประโยชน์และอำนาจล้นฟ้ากับฝ่ายตุลาการ
การต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง
เพราะค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อำนาจตุลาการจะไม่ได้อำนาจพิเศษเช่นนี้อีก
ดัง
นั้น ฝ่ายประชาชนก็คงจะต้องยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐
และผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นจริง
และจะต้องเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ
ที่มุ่งไปสู่การยกเลิกอำนาจทางการเมืองของตุลาการ เลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง
และควรที่จะไปถึงขั้นการแก้หมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อยกเลิกองคมนตรี
นี่เป็นเพียงขั้นต่ำ ที่จะนำสังคมไทยไปสู่การสถาปนาประชาธิปไตยอันแท้จริง
ส่วน
เรื่องการปรองดองสมานฉันท์
จะต้องเป็นการปรองดองภายใต้หลักการประชาธิปไตยอันถูกต้อง
ไม่ใช่เป็นการปรองดองแบบกราบกรานอำมาตย์
และจำนนต่ออภิสิทธิ์ชนเสียงข้างน้อย ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่มีหลักประกัน
และสิทธิของประชาชนต้องได้รับความเคารพ
มิฉะนั้นแล้ว การปรองดองก็ปราศจากความหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น