ร่วมกันเข้าใจวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลก
อัพเดทสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในสหภาพยุโรป (1)
อัพเดทสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรป ตอนที่ 2
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
มันมีหน้าตาเหมือนกับเป็น “วิกฤตการเงิน” แต่มันลึกกว่านั้น ในเดือนกันยายน-ตุลาคมปีที่แล้ว โลกเข้าสู่วิกฤตร้ายแรง อย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ยุค ๒๔๗๕ วิกฤตนี้พัฒนาไปภายในโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีที่รัฐต่างๆ นำมาใช้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเฉพาะในเรื่องการลดการควบคุมตลาดโดยรัฐ และการเปิดโอกาสให้มีการพนันหุ้นและราคาสินค้าข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม ต้นเหตุของวิกฤตนี้มาจากปัญหาอัตรากำไรระยะยาวในระบบทุนนิยมโลก ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 60 เพราะการฟื้นตัวของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 80 และ 90 ผ่านการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงาน (เช่นในสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีเรแกน) เป็นการฟื้นในระดับหนึ่งเท่านั้น มันไม่แก้ปัญหาเท่าไร
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูก ในขณะที่มีการกดค่าแรงต่อไป (หนี้ sub-prime) มีการซื้อขายหนี้คนจนและกอบโกยกำไรโดยธนาคาร แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก เกิดวิกฤตที่เราเห็น ก่อนหน้านี้มีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน
สมัยนี้ประเทศที่ใหญ่ที่สุด 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD คาดว่าในปีค.ศ. 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นสองหลักในปีต่อไป คนงานสหรัฐ 6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชะลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38% จีนก็มีปัญหา มันไม่ใช่เรื่องเล่น
ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ ในช่วงท้ายปีที่แล้วและต้นปีนี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ คือการใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมหรือตลาดเสรีโดยสิ้น เชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก นักสังคมนิยม นักสหภาพแรงงาน และผู้ที่คัดค้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ต้องเรียกร้องให้รัฐยึดสถาบันการเงินโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้นายทุน และนำสถาบันดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องชีวิตของกรรมาชีพและคนจน รัฐต้องสร้างงานและยึดบริษัทที่จะปิดหรือเลิกจ้างคน เพื่อปกป้องการทำงาน
การปกป้องการทำงานสำคัญที่สุดเพราะเป็นการปกป้องรายได้คนส่วนใหญ่ และนอกจากนี้เป็นวิธีเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ การตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา การตัดค่าแรง การลดคนงาน หรือการขึ้นภาษีให้คนธรรมดา จะมีผลตรงข้ามคือทำให้เศรษฐกิจหดตัวอีกหลายเท่า เพราะกำลังซื้อจะลดลง การอุ้มบริษัทใหญ่และธนาคารไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้
ทุนนิยมโลกาภิวัตน์
การกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละรัฐบาลมีข้อจำกัดเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาย ในประเทศ ในขณะที่มันเป็นวิกฤตสากลทั่วโลก ประเด็นสำคัญอันหนึ่งของวิกฤตปัจจุบันคือระบบเศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล สหรัฐ อังกฤษ และประเทศเล็กๆในยุโรป พึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศมากขึ้น เงินนี้มาจากธนาคารซึ่งนำกำไรการส่งออกของประเทศจีน ญี่ปุ่น และ เยอรมัน มาปล่อยกู้อีกที กำไรส่วนนี้มาจากการส่งสินค้าไปสู่สหรัฐและอังกฤษแต่เป็นสินค้าที่ซื้อมา ด้วยเงินกู้แต่แรก มันเป็นวงจรอุบาทว์ซึ่งช่วยให้นายธนาคารกอบโกยจากฟองสบู่ที่ห่างเหินจากความ เป็นจริง และมันแสดงให้เห็นว่าทุกส่วนของโลกเชื่อมกัน ลงเหวด้วยกัน
ไทยไม่มีวันรอดพ้นได้ เพราะไทยอาศัยการส่งออกสู่ประเทศที่มีวิกฤต และการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่การเพ้อฝัน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ยุคอยุธยา และการส่งเสริมให้คนจน “ประหยัด” เป็นการกดหัวคนจนให้จนลงไปอีก โดยไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
การกู้เงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์
มีหลายคนวิจารณ์การกู้เงินของรัฐบาลอำมาตย์ ประเด็นที่เราควรเข้าใจคือ การกู้เงิน การเพิ่มหนี้ หรือการใช้งบประมาณรัฐไม่ผิดในตัวมันเอง การที่รัฐบาลไทยรักไทยมีเงินกู้ให้หมู่บ้าน หรือเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐผ่านการกู้เงิน เพื่อนโยบายประชานิยมต่างๆ ไม่ผิด เพราะทำไปเพื่อประโยชน์คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ อย่าลืมว่าในยุคนั้นพวกอำมาตย์วิจารณ์ว่าเป็นการ “ขาดวินัยทางการคลัง” เราต้องไม่ใช้ชุดความคิดนี้ของอำมาตย์ เพราะพวกเขาไม่ชอบการกู้และจ่ายเงินโดยรัฐเพื่อคนจน แต่ถ้าเพื่อทหาร ธนาคารหรือบริษัทใหญ่ เขาชอบ
ดังนั้นในการวิจารณ์การกู้เงินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราต้องถามว่ากู้มาเพื่ออะไร? เพื่อดูแลประชาชนหรืออุ้มธนาคารและบริษัท? กู้แล้วจะปกป้องงานไหม? หรือปกป้องคนรวย? และใครจะจ่ายหนี้จากการกู้เงิน? ถ้าการจ่ายหนี้มาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ภาษีบุหรี่และสุรา ก็เท่ากับคนจนจ่าย แต่ถ้ามาจากการขึ้นภาษีรายได้ มรดก ที่ดินและทรัพย์สินกับคนรวย รวมถึงพระราชวัง ก็เท่ากับให้คนรวยที่มีความสามารถสูงเป็นคนจ่าย ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีความเป็นธรรมมากที่สุด นอกจากนี้การจ่ายหนี้ควรมาจากการตัดงบประมาณทหารและพิธีต่างๆ เพื่อเพิ่มงบประมาณสวัสดิการ สาธารณสุขและการศึกษา
ข้อถกเถียงเรื่องทางออกในการแก้วิกฤตในหมู่ชนชั้นปกครองโลก
รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก กำลังพยายามจะแก้ไขปัญหาหลังจากที่เกิดวิกฤตในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่มีการร่วมมือกัน และมีข้อขัดแย้งกัน เช่น รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐกู้เงินมาเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศส เยอรมันและประเทศอื่นๆใน อียู นิ่งเฉยและหวังว่าจะส่งออกสู่สหรัฐมากขึ้น รัฐบาลจีนและญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็ยังก็มีการพึ่งพาการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอยู่ดี บางประเทศเช่นอังกฤษมีความหวังว่าการลดค่าเงินจะทำให้สินค้าส่งออกถูกลง ประเด็นคือแต่ละรัฐบาลใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ของตนเอง หรือประเทศตนเองเท่านั้น ซึ่งแปลว่ารัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถร่วมมือกันประสานนโยบายการเงินเพื่อให้ความสมดุลกลับคืนสู่ระบบ เศรษฐกิจโลก เราเลยเห็นการถกเถียงกันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในการประชุม G20
ตอนนี้ภายในอังกฤษและสหรัฐ ฝ่ายขวาเสรีนิยมสุดขั้ว ได้ความมั่นใจกลับมาบ้าง พวกนี้กลัวว่าถ้ารัฐกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจมาก จะติดหนี้จนท่วมหัว เขาเลยเสนอให้เปิดศึกกับประชาชนและสหภาพแรงงาน เพื่อกดค่าแรงและสวัสดิการ แต่ข้อเสนอนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัว ประชาชนเดือดร้อน และการฟื้นช้าลง อาจใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี
ความไร้สติของระบบเศรษฐกิจเห็นได้ชัดจากการที่ไม่มีใครสามารถตอบ ได้ว่านโยบายของรัฐบาลจะใช้ได้ผลหรือไม่ แม้แต่นายทุนใหญ่ของธนาคารยังไม่ทราบเลยว่าลูกค้าของตัวเองจะสามารถจ่าย หนี้สินคืนได้ในปริมาณเท่าใด ดังนั้นธนาคารก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะจ่ายหนี้สินคืนให้รัฐบาลได้เมื่อไหร่ เมื่อนายทุนธนาคารสงสัยว่าจะมีปัญหาในอนาคตเขาจะพยายามปกปิดข้อมูลในบัญชี ต่างๆ เพราะกลัวว่าจะกู้เงินจากที่อื่นไม่ได้ถ้าใครๆ รู้ว่าธนาคารของตนมีปัญหา นี่คือสาเหตุที่การประเมินระดับการขาดทุนในสหรัฐมีหลายตัวเลขตั้งแต่ 4 แสนล้านดอลล่าถึง 1.6 พันล้านดอลล่า ถ้าตัวเลขหลังจริงก็จะต้องมีธนาคารสหรัฐที่ล้มละลายในอนาคต ซึ่งจะเป็นการขยายปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจ คนที่ปกป้องระบบทุนนิยมมักจะปลอบใจตัวเองว่าในวิกฤตเศรษฐกิจที่แล้วมานั้น ในที่สุดก็จะมีการฟื้นตัว แต่ปัญหาคือมันอาจจะใช้เวลานาน ในยุค ค.ศ.1930 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต้องผ่านสงครามโลกและวิกฤตกว่า 10 ปี
รากฐานปัญหาคือการลดลงของอัตรากำไร
ในหนังสือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” คารล์ มาร์คซ์ กับ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ อธิบายว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดโรคระบาดที่เหลวไหลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คือ การผลิตล้นเกินท่ามกลางความอดอยาก ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักพยายามหาสาเหตุเฉพาะหน้าเสมอสำหรับวิกฤต เช่นการโทษธนาคารว่าปล่อยกู้โดยไม่ระมัดระวัง หรือการโทษคนจนว่ากู้เงินเกินกำลังจ่ายของตนเอง ฯลฯ นักวิชาการคนส่วนใหญ่มักมองข้ามสาเหตุพื้นฐานของวัฏจักรวิกฤตทุนเสมอ มีแต่ลัทธิมาร์คซ์เท่านั้นที่อธิบายว่าทำไมเกิดวิกฤตได้
คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายในหนังสือ ว่าด้วยทุน ว่า ระบบทุนนิยมมีความขัดแย้งภายในของมันเองในเชิงวิภาษวิธี โดยจะเห็นได้ว่ากลไกการแข่งขันในตลาดระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการผลิตทั้งปวงและการหมุนเวียนของทุน มีผลทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงพูดได้ง่ายๆ ว่า “อุปสรรคที่แท้จริงของระบบการผลิตทุนนิยมคือตัวทุนเอง”
วิกฤตของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นจากสิ่งที่มาร์คซ์เรียกว่า “กฏแห่งแนวโน้มในการลดลงของอัตรากำไร” มาร์คซ์ อธิบายว่า อัตรากำไร เป็นสิ่งที่นายทุนทุกคนจะต้องใช้ในการวัดว่าการลงทุนแต่ละครั้งจะคุ้มค่า หรือไม่ ถ้าคุ้ม(อัตรากำไรสูง) ก็จะเกิดการลงทุน แต่ถ้าไม่คุ้ม(อัตรากำไรต่ำจนเกือบจะไม่ได้ต้นทุนคืน) ก็จะไม่มีการลงทุน การลดลงของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในระบบทุนนิยมจะมีการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ ผ่านกลไกตลาด ซึ่งบังคับให้นายทุนทุกคนต้องขยายการผลิตและลงทุนในการซื้อเครื่องจักรที่มี ประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดเวลา ถ้านายทุนคนไหนไม่ลงทุนแบบนี้จะล้มละลายเพราะสินค้าจะล้าสมัย คุณภาพต่ำ ราคาสูง และผลิตในระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาคือเครื่องจักรมันแพงขึ้นเรื่อยๆ
สัดส่วนระหว่าง “ทุนคงที่” (ทุนซื้อเครื่องจักร) กับ “ทุนเปลี่ยนแปลง” (ทุนที่ใช้จ้างคนงาน) จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เพราะกำไรมาจากการจ้างคนให้ทำงาน กำไรไม่ได้มาจากการซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือที่ ช่วยการทำงานของกรรมาชีพเท่านั้น
เมื่ออัตรากำไรลดลง นายทุนจะลังเลใจในการลงทุน การผลิตจะชะลอตัว อาจมีการถอนทุนจากตลาดหุ้นหรือบริษัท ซึ่งมีผลทำให้คนงานส่วนหนึ่งถูกพักงานหรือลอยแพ คนงานเหล่านั้นจะขาดรายได้ซึ่งทำให้เขาซื้อสินค้าน้อยลง สินค้าที่ผลิตในโรงงานอื่นๆ จึงล้นตลาดเพราะขายไม่ออก วิกฤตก็เลยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
ในหลายกรณี แทนที่นายทุนจะลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เขาจะเลือกลงทุนในการซื้อที่ดินสร้างอาคาร ปล่อยกู้ ค้าขายหนี้สิน หรือในการเล่นการพนันในตลาดหุ้น (ปั่นหุ้น) เพราะกิจกรรมเหล่านี้ ในระยะแรก จะให้อัตรากำไรมหาศาล แต่ในที่สุดเกิดปัญหาฟองสบู่
การผลิตล้นตลาด นอกจากจะมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในรูปแบบที่พูดถึงข้างบนแล้ว ยังมาจากการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ เพื่อทุ่มเทสินค้าเอาชนะคู่แข่งในตลาดในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะนายทุนทุกคนมีความหวังที่จะผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อแย่งตลาดจากนายทุน หรือกลุ่มทุนอื่นๆ แต่สินค้าที่นายทุนทั้งหมดผลิตเพื่อแย่งชิงตลาดกันจะไม่มีวันขายได้หมด สาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้เกิดปัญหานี้คือการที่กรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามูลค่าที่เขาผลิตเอง
ในอดีตการรื้อฟื้นอัตรากำไรเกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทล้มละลาย บริษัทอื่นจึงสามารถซื้อเครื่องจักรในบริษัทล้มละลายในราคาถูก แต่ในปัจจุบันถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ล้มละลายแม้แต่คู่แข่งก็จะได้รับผลกระทบใน ด้านลบ เพราะทุกบริษัทเชื่อมโยงกัน ดังนั้นแม้แต่รัฐบาลฝ่ายขวาก็ยอมไม่ได้ที่จะให้บริษัทเหล่านี้เจ๊งไป มันเป็นการปกป้องไม่ให้เศรษฐกิจทั้งหมดลงสู่เหวแต่ในขณะเดียวกันมันทำให้ รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นยากขึ้น
เราต้องเข้าใจว่าความสามารถของรัฐบาลใดๆ ในการปกป้องกลุ่มทุนของตนเองขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองในเวทีโลกอีกด้วย รัฐบาลสหรัฐมีปัญหาตรงนี้มาก ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐภายใต้รัฐบาล บุช และพวก นีโอคอน ที่จะสร้าง “ศตวรรษใหม่แห่งอเมริกา” ประสบความล้มเหลวเพราะสหรัฐมีปัญหามากในสงครามกับอิรักและอัฟานิสถาน นักการเมืองฝ่ายขวาในสหรัฐจึงมองว่าประธานาธิบดี โอบาม่า จะต้องประนีประนอมกับอิหร่าน รัสเซีย เวเนซูเอล่า และคิวบา แต่ในด้านตรงข้ามวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันหมายความว่านายทุนสหรัฐต้องพึ่งรัฐ ที่มีภาพของความเข้มแข็งมากขึ้น นี่คือสาเหตุที่สหรัฐเพิ่มจำนวนทหารในอัฟกานิสถาน ขยายสงครามสู่ปากีสถานและรักษากำลังทหารไว้ในอิรักเพื่อ “ฝึก” กองทัพอิรัก ในขณะเดียวกันมหาอำนาจอื่นๆ พยายามจะฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของสหรัฐ เช่น จีน ขยายอิทธิพลในอัฟริกาและรัสเซียฟื้นอิทธิพลของตัวเองในอดีตรัฐโซเวียตรอบรัส เซีย การที่วิกฤตเศรษฐกิจทำลายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในทุกภูมิภาค ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอในเอเชียใต้ เอเชียกลาง ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง หรือในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟริกา
สรุปปัญหาในสังคมไทย
เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลใช้นโยบายที่กระตุ้นกำลังซื้อและปกป้อง อาชีพการทำงานของคนธรรมดา และเราต้องย้ำว่าประชาชนไม่ควรจะผู้แบกภาระในการกอบกู้สถานการณ์ เหมือนกับที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๔๐
นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนี้ น้อยเกินไป ไม่มีความชัดเจนและไม่ตรงจุดที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพลเมืองส่วนใหญ่ ที่ร้ายกว่านั้นคือรัฐบาลพยายามจะตัดงบประมาณสาธารณสุข และเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับคนจนในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้าบุหรี่ ฯ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลนี้ไม่จริงใจในการกระตุ้นกำลังซื้อและการปกป้องคนจนแต่ อย่างใด
ที่สำคัญคือเราจะต้องผนวกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปกป้องรายได้และ อาชีพของคนจน ไปกับข้อเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เราจะต้องเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและวิกฤตโลกว่าเป็นปัญหาของระบบทุนนิยมทั้งระบบ ที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และเราจะต้องไม่หลงคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ “นายจ้างฉวยโอกาสไล่คนงานออกเท่านั้น” ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น การขอให้รัฐบาลใช้โครงการฝึกฝีมือให้กับคนตกงานจะไม่มีประโยชน์เพราะเขาหา งานทำไม่ได้อยู่แล้ว รัฐบาลจะต้องนำภาษีที่มาจากประชาชน มาใช้เพื่อปกป้องงานของเรา โดยการนำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นของรัฐและการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ที่สำคัญประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบภาษีไปใช้ระบบภาษีอัตราก้าวหน้า
(ที่มา)
http://www.varinthorn.com/WordPress/?p=501
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น