หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

วีรกรรมศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว "ศาลป่วน !! สืบพยานต่างประเทศ โมฆะ "

วีรกรรมศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ "ศาลป่วน !! สืบพยานต่างประเทศ โมฆะ "


 
โดย โอภาส บุญล้อม
สำนักข่าวเนชั่น @opas_nna

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ม. 41 ที่บัญญัติให้ "บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาจากการสืบพยานในต่างประเทศเป็นพยานที่รับฟังได้ตามกฎหมาย" ว่า เป็นการ "ขัดต่อรัฐธรรมนูญ"

ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาเพราะเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ หรือรับทราบและไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรมเนื่องจากการพิจารณาคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ตลอดจนไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความ อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40(2) (3) (4) และ (7)

นำมาซึ่งความปั่นป่วนให้กับบรรดาศาลยุติธรรมทั่วประเทศที่ทำคดีอาญาทั้งศาลใหญ่ ศาลเล็ก ที่รับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบพยานในต่างประเทศมานานเป็นเวลาหลายสิบปี

" เฉพาะที่ศาลอาญาแค่ตอนที่ผมมาเป็นอธิบดีฯ ผมเองได้เซ็นอนุมัติให้มีการสืบพยานในต่างประเทศตามที่มีการร้องขอมาจากคู่ความในคดี ประมาณ 10 คดีแล้ว" ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เริ่มอธิบาย



จากนั้นเขาเล่าต่อว่า การสืบพยานในต่างประเทศในคดีอาญานั้น ศาลใช้มานานมากแล้ว ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาในปี 2535 ด้วยซ้ำ โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า ถ้าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งเรื่องหรือแต่บางส่วนโดยทางอาศัยหรือโดยร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ในเมืองต่างประเทศ เมื่อไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้สำหรับเรื่องนั้นแล้ว ให้ศาลปฏิบัติตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้กับคดีอาญา

" ในคดีอาญา ทั้งศาลแขวง ศาลจังหวัด ก็ใช้วิธีการสืบพยานในต่างประเทศตามที่คู่ความร้องขอเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อรวมศาลทั้งประเทศ มีคดีจำนวนมากแน่นอนที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 216 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งพยานปากที่มีการสืบพยานในต่างประเทศ ส่วนมากเป็นพยานปากสำคัญในคดีทั้งนั้น มิเช่นนั้นคู่ความคงไม่มีการร้องขอให้ส่งเรื่องไปสืบพยานปากนั้นถึงในต่างประเทศ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การสืบพยานในต่างประเทศขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้คำเบิกความของพยานปากที่เบิกความในต่างประเทศเป็นโมฆะ ส่งผลกระทบต่อคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งในส่วนของศาลอาญา ผมก็คงต้องเรียกประชุมองค์คณะผู้พิพากษาและผู้บริหารศาล หารือกันในเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในทางคดีต่อไป "

อย่างไรก็ตามในความเห็นของเขา ในอนาคตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเกิดมีคดีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า พยานหลักฐานและเอกสารในคดีอาญาที่ได้มาจากการสืบพยานในต่างประเทศรับฟังไม่ได้และขอให้ทางศาลยุติธรรมส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่อีกครั้ง ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเดิมก็ได้เพราะมติของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวชนะกันเพียง 5 ต่อ 4 เท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนคนไป

สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 41 ขัดรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ร้องคัดค้านว่าการที่อัยการไปสืบพยานในต่างประเทศคือ พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก หรือนายเกียรติกร แก้วเพชรศรี ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตหรือยูเออีนั้น ศาลอาญาไม่สามารถนำคำเบิกความของพยานปากนี้มาเป็นหลักฐานในทางคดีได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"ในส่วนของคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างนี้ หาก พ.ต.ท. สุวิชัย เบิกความไปแล้ว คำเบิกความของพยานปากนี้ก็คงใช้ไม่ได้ ดังนั้นทางศาลก็คงต้องถามทางอัยการซึ่งเป็นโจทก์ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เพราะอัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้มีการสืบพยานคือ พ.ต.ท.สุวิชัย ในต่างประเทศ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำไม่ได้ อัยการก็ต้องเป็นผู้หาทางออกในเรื่องนี้ว่าจะมีการสืบพยานโจทก์ปากอื่นอีกหรือไม่ หรือจะสืบพยานจำเลยต่อไปเลย "

สำหรับคดีหายตัวอย่างลึกลับของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจ ชาวซาอุฯ ถือว่ากระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบียมากที่สุดเนื่องจากนายอัลรูไวลี่ มีศักดิ์เป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย โดยนายอัลรูไวลี่ หายตัวไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2533 ขณะขับรถออกจากบ้านเพื่อไปทำงานซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลานานถึงยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ส่วนสาเหตุที่นายอัลรูไวลี่ ถูกอุ้มหายไป เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับการมีส่วนล่วงรู้ถึงปมเหตุการสังหาร 3 เจ้าหน้าที่สถานฑูตซาอุฯ

แต่เมื่อยามนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การสืบพยานในต่างประเทศในคดีทำไม่ได้เสียแล้ว ก็ต้องจับตาดูว่าคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น