หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: ‘อยากให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไร’ เสียงของความหวังจากพื้นที่แห่งความรุนแรง

รายงาน: ‘อยากให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไร’ เสียงของความหวังจากพื้นที่แห่งความรุนแรง

 

โดย มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ซูการไน รอแม, รอฮีมะห์ เหะหมัด,นูรไลลา โตะคุง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

“ต้องการให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไรในชีวิตประจำวัน” เป็นคำถามง่ายๆ ที่หวังจะให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความ รุนแรง ได้สะท้อนความต้องการออกมา ในขณะที่หลังจากการลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้ของไทยระหว่าง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออดิเนท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียเป็นพยานนั้น สื่อต่างๆมุ่งนำเสนออย่างเจาะลึกแต่ส่วนใหญ่ยังฉายภาพไปที่ตัวละครสองฝ่าย ที่มีอาวุธอยู่ในมือเท่านั้น

ต่อไปนี้เป็นเสียงจากคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่พยายามแสดงความคิดเห็นต่อ กระบวนการดังกล่าว ที่สำคัญคือข้อเสนอแนะและความต้องการให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในมุมมองของ ตัวเอง ได้แก่เสียงจากกลุ่มนักศึกษา คนทำงานและประชาชนต่อความหวังในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่มีมีมากกว่า 9 ปีแล้ว

สันติภาพต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

นายมูหามะบากรี อาบูดาโด๊ะ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้ทุก ฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของตนเองได้

“หากกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นประชาชนทุกฝ่ายไม่มีส่วนร่วม แต่เป็นกระบวนการที่มีเพียงฝ่ายรัฐหรือฝ่ายกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐเท่านั้น กระบวนการสันติภาพนั้นก็ไม่อาจเป็นสันติภาพที่แท้จริง” นายมูหามะบากรี กล่าว

ต้องยึดความต้องการสูงสุดของประชาชน

นายอัสมาดี บือเฮง นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีใจระดับหนึ่งที่เห็นวี่แววและช่องทางที่จะคลี่คลายปัญหาความรุนแรง ในพื้นที่ ไม่ว่าการเจรจาครั้งนี้จะเป็นการจัดฉากหลอกลวงประชาชนหรือไม่ แต่มันคือพัฒนาการของการแก้ปัญหา ซึ่งย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย

“หากเป็นการหลอกลวง มันก็ยิ่งตอกย้ำความคิดเดิมที่ว่ารัฐไทยไม่เคยจริงใจในการแก้ปัญหาปาตานี ส่วนดีคือ ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในวันนี้เริ่มปรากฏชัดขึ้น และเริ่มมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตัวกับอนาคตของตนมากขึ้น”

นายอัสมาดี กล่าวอีกว่า การเจรจาครั้งนี้จะเป็นของจริงหรือไม่ เป็นคำถามคาใจของประชาชนในพื้นที่ หากรัฐไทยหรือฝ่ายมาเลเซียไม่ออกมาอธิบาย ประชาชนในพื้นที่ก็อาจจะหมดหวังก็ได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตราย เพราะประชาชนก็อยากรู้คำตอบ แต่ใครที่จะให้คำตอบ หรือใครที่จะกดดันให้ตอบคำถามนี้

“ผมเห็นด้วยกับกิจกรรมของนักศึกษา ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ที่พยายามขับขับเคลื่อนงานสันติภาพ ยิ่งงานที่เกี่ยวสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติภาพในปาตานี แต่มันติดอยู่ที่รัฐไทยและขบวนการว่าจะมีความเป็นสุภาพบุรุษพอหรือไม่ที่จะ ให้เกียรติแก่ความต้องการสูงสุดของประชาชน” นายอัสมาดี กล่าว


ต้องถอนทหารออกและเร่งสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย

นายนูวาวี ยูนูฮ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอกประถมศึกษา ชั้นปี 5 กล่าวว่า การเซ็นสัญญากระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาหากเป็นของจริงตนสนับสนุนเต็มที่ แต่หากเป็นสันติภาพจอมปลอมตนก็ไม่สนับสนุน แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ตอบโจทย์กับประชาชนเลย

นายนูวาวี กล่าวว่า สิ่งแรกที่ตนจะเสนอสำหรับแนวทางการเจรจาแบบยั่งยืน คือ ภาครัฐต้องเอาทหารออกนอกพื้นที่ไป ถือเป็นการลดไฟในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าการจับมือลงนามนั้นเป็นของจริง แต่ยังมีทหารอยู่เต็มในพื้นที่

นายนูวาวี กล่าวว่า ต่อมาที่ต้องการคือความเป็นประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการสร้างสันติภาพจะต้องไม่เกิดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อยากให้ประชาชนในพื้นที่ได้แก้ปัญหาของตนเองโดยการลงประชามติเรื่องการ ปกครองในพื้นที่ เพราะคิดว่าเรื่องการปกครองมีผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต เมื่อการปกครองเข้มแข็งระบบอื่นๆก็จะเข็มแข็งไปด้วย

นายนูวาวี กล่าวอีกว่า อีกอย่างคือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบ จึงต้องการให้คนในพื้นที่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรเหล่านั้นด้วย ไม่อยากให้คนนอกพื้นที่มาแสวงหาผลกำไรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นางสาวนูรอัลวานีย์ สมาแอ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการเจราจาครั้งนี้หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมรับข้อเสนอของแต่ละฝ่าย เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนในพื้นที่ต่างก็เบื่อความรุนแรงเต็มที่แล้ว แต่การเจราจาของทั้งสองฝ่ายขอให้นึกถึงประชานในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่แค่หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว

“การเจราจาครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ถึงแม้ว่ามันยังไม่ชัดเจนว่าจะประสบผลสำเสร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยความหวังที่จะให้ในพื้นที่ 3 จังหวัดสงบสุขนั้นยังมีอยู่และเป็นสิ่งทุกฝ่ายปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง”

นูรอัลวานีย์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าการตั้งเป็นนครปัตตานีนั้นก็ดี เพราะทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายกระบวนการบีอาร์เอ็นจะได้ไม่ต้องสูญเสียไปมากกว่า นี้ในการสู้รบแย่งแช่งดินแดน ถือว่าเป็นถอยคนก้าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยทุกระดับในสังคม

นักศึกษามหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีคนหนึ่ง กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพต้องเป็นการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นโดยไม่จำกัดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ไม่เฉพาะแค่วงเสวนาทางวิชาการเท่านั้น เช่น ในร้านน้ำชา สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็สามารถเป็นพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพได้ เป็นต้น

นักศึกษาคนเดิม กล่าวอีกว่า การดึงคนให้ออกมาพูดคุยเรื่องสันติภาพนั้น จะต้องมาจากฐานความคิดที่เป็นองค์ความรู้ เนื่องจากคำนิยามหรือความเข้าใจคำว่าสันติภาพของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มอาจ แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้มาพูดคุยกันให้มาก เพื่อเป็นการแสวงหาจุดร่วมในกระบวนการสันติภาพ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงความคิดของทุกฝ่าย อย่างมีเสรีภาพที่แท้จริง

ต้องยุติความรุนแรงเป็นอันดับแรก

นางอันธิฌา แสงชัย อายุ 36 เจ้าของร้านหนังสือ Buku Pattani อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า อันดับแรกก่อนที่จะเกิดสันติภาพ ต้องยุติความรุนแรงก่อน ทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการจะต้องหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกันให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ยุติความรุนแรงได้

นางสาวดาราณี ทองศิริ เจ้าของร้านหนังสือ buku pattani อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสันติภาพเกิดขึ้น ดิฉันต้องการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งดิฉันคิดว่ากระบวนการสันติภาพเป็นมากกว่าแค่การเซ็นสัญญา การแก้ปัญหาจะต้องครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด

นางสาวดาราณี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหลังการลงนามดังกล่าวก็ยังไม่ได้ส่งผลดีอะไรในพื้นที่ ชาวบ้านเองก็ไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนเดิม อีกทั้งนักศึกษาเองก็ถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐในการทำกิจกรรม

นางสาวดาราณี กล่าวว่า การจัดงานวันสื่อทางเลือกในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการะบวนการสันติภาพ เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมาก และเมื่อสันติภาพเกิดขึ้นจริง การทำงานก็จะคล่อง เพราะความหวาดระแวงก็จะหมดไป เนื่องจากปัจจุบันทุกคนมีความหวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เอ็นจีโอ หรือคนในพื้นที่ ทำให้ทำงานลำบาก

นางสาวไซนะ นาแว อายุ 22 ปี จากองค์กร Pattani Forum กล่าวว่า ต้องยุติความรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะความรุนแรงได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลแก่ประชาชนและสังคมวงกว้าง และยังสร้างความขัดแย้งที่ไม่รู้จักจบด้วย

ต้องเร่งแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่

นางสาวนูรไอนี มะลี ครูอัตราจ้างโรงเรียนเรียนชุมชนบ้านปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาแล้วหลายรูปแบบมากแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ตนคิดว่าการพูดคุยเจราจาในครั้งนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะที่ผ่านมาแก้ปัญหาโดยรัฐเป็นฝ่ายเดียว โดยการปราบปรามและการเผชิญหน้ากันมากกว่าที่การพูดคุยกัน

“การเจราจาครั้งนี้ ดิฉันหวังว่าทั้งสองฝ่ายนั้นจะมีข้อเสนอดีๆให้แก่กัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่กันอย่างสงบซักที เพราะคนในพื้นที่มีความทุกข์กันมานานมากแล้ว”

นางสาวนูรไอนี กล่าวต่ออีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นครู ปัญหาแรกที่ควรเร่งแก้ไขโดยด่วน คือการศึกษาของเด็กในพื้นที่ เนื่องจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูถูกทำร้ายจนทำให้ต้องปิดโรงเรียนบ่อยครั้ง จนทำให้เด็กในพื้นที่ค่อยข้างจะเรียนช้าที่กว่าเด็กที่อื่น
“การเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะปลูกฝังให้เด็กได้เติบโตเป็นคนดีต่อไปใน อนาคต แต่ปัญหาคือครูขาดแคลน เนื่องจากครูที่เป็นต่างพื้นที่รู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดจนไม่กล้า ที่จะมาสอนเด็กในพื้นที่ แต่เชื่อว่าหลังจากการเจราจาจบสิ้นลง ความรุนแรงอาจจะเบาบางลงก็เป็นได้

เริ่มต้นด้วยนิรโทษกรรมและทบทวนคดีความมั่นคง

นายวีฟาอี มอลอ นักจัดรายการวิทยุจากสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน กล่าวว่า ขั้นแรกของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากมีการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง เพราะปัจจุบันมีทั้งคนที่ทำผิดจริงและคนบริสุทธิ์แต่ตกเป็นแพะรับบาป

นายวีฟาอี กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้ว ก็ควรที่จะนำคดีความมั่นคงทั้งหมดมาทบทวนใหม่ว่า มีความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ตั้งแต่การสืบสวน สอบสวน ไปจนถึงกระทั่งพิพากษาของศาล

นายวีฟาอี กล่าวต่ออีกว่า ตนคิดว่าเมื่อกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น การทำงานในพื้นที่ก็จะง่ายขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันถูกจำกัดทั้งสิทธิในการสื่อสารหรือถูกเพ่งเล็งจากภาค รัฐ เช่น นักจัดรายการวิทยุบางคนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นก็จะทำให้คนในพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

นายอับดุลเลาะห์ บินอิสมาแอล ชาวบ้านตำบลสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกมากสำหรับการลงนามพูดคุยสัยติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการบีอา ร์เอ็น เพราะคนที่อยู่ในมาเลที่เป็นลูกหลานคนปาตานีทำไมพวกเขาไม่มีปฏิกิริยาอะไร กับกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ มันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในรัฐกลันตันและรัฐเคดะห์จะให้ความสนใจมาก แต่ทำไมคนในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีปฏิกิริยาอะไร

“หลังการลงนามพูดคุยสันติภาพจนถึงวันนี้ สถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่หยุด และความรุนแรงบ่งบอกถึงอะไร มันยังเป็นข้อสงสัยอยู่ หรือคนที่สร้างสถานการณ์ความไม่สงบใช่ขบวนการบีอาร์เอ็นจริงหรือเปล่า” นายอับดุลเลาะห์ กล่าว

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่ต้องการให้แก้ไขคือความยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความยุติธรรมในพื้นที่แทบไม่มี เช่น มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548) ซึ่งเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยก็ต้องถูกควบคุมตัวไปถึง 30 วันแล้ว จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนให้เกิดความยุติธรรมทั้งคนมุสลิมและคน ไทยพุทธให้เท่าเทียมกัน

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมาคือต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คนฉลาด เพราะถ้าคนฉลาดก็จะส่งผลดีในเรื่องการปกครอง และการศึกษาของประชาชนด้วย บวกกับเมื่อมีความยุติธรรมจริงๆ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติภาพขึ้น

นายอับดุลเลาะห์ กล่าวต่อไปอีกว่า ต้องการให้เกิดเขตปกครองพิเศษทางด้านภาษาและวัฒนธรรมมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และต้องการที่จะให้คนในพื้นที่สามารถกำหนดชะตากรรมของ ตัวเอง

“ต้องการให้มีการลงประชามติว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไร ถ้าคนในพื้นที่ต้องการอย่างนั้น ผมเองก็ต้องการเฉกเช่นเดียวกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน” นายอับดุลเลาะห์ กล่าว

การเจรจาต้องทำในพื้นที่สาธารณะ

ชาวบ้านในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี คนหนึ่ง กล่าวว่า การเจรจายังไม่มีความชัดเจนว่า มีการเจรจาเรื่องอะไรบ้าง ใครได้ประโยชน์บ้าง และประโยชน์จะตกแก่คนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อย ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่ได้เปิดเผย ทั้งที่เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ควรจะต้องรู้

ชาวบ้านคนเดิม เสนอว่า การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ควรเป็นเรื่องที่เปิดเผย เช่น มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ การแก้ปัญหาต้องทำในระดับนโยบายและต้องชัดเจนทุกหน่วยงาน เพราะจะแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา

ชาวบ้านในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีคนหนึ่ง กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะยุติความรุนแรง เนื่องจากมีกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้แตกต่างกัน เช่น กลุ่มต่อสู้ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มที่ต้องการเอกราชจริงๆ แต่ที่ผ่านมาการเจรจาเป็นของกลุ่มผลประโยชน์ ทำให้การแก้ปัญหาไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะไม่เคยทำตามข้อตกลง

ชาวบ้านคนเดิม กล่าวอีกว่า ดังนั้นการเจรจาพูดคุยของคนสองคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุติความรุนแรง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นตัวแทนของใครหรือของกลุ่มไหน หากเป็นแค่การสร้างภาพจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ และหากการเจรจาเป็นไปตามข้อตกลงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะมีผลดีหรือผลเสียมากว่ากัน แล้วกลุ่มอื่นๆอีกต้องการอะไร

(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น