หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

“องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร?

“องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร?

 

โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

รัฐธรรมนูญได้มอบเอกสิทธ์และความคุ้มกันบางประการแก่ประมุขของรัฐในฐานะ ที่ประมุขของรัฐเป็นผู้แทนของรัฐ (Représentation de l’Etat) และเป็นสัญลักษณ์ของการประกันความต่อเนื่องของรัฐ (Continuité de l’Etat) เอกสิทธิ์เหล่านั้น ได้แก่ ความไม่ต้องรับผิด และความคุ้มกันไม่ถูกดำเนินคดีใด

ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบ” เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๙๕๘ มาตรา ๖๗ บัญญัติว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่...” หรือ รัฐธรรมนูญอิตาลี มาตรา มาตรา ๙๐ กำหนดให้ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังไม่อาจถูกดำเนินคดีใดๆได้ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประธานาธิบดีไม่สัมบูรณ์เด็ดขาด รัฐธรรมนูญอาจกำหนดข้อยกเว้นบางประการให้ประธานาธิบดีต้องรับผิดได้ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติ หน้าที่ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งรัฐธรรมนูญก็จะกำหนดกระบวนกล่าวหาและพิจารณาคดีแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป อาจใช้วิธีการทางการเมืองแท้ๆ คือ ให้ รัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง[1] หรือ วิธีการทางการเมืองและกฎหมายผสมกัน คือ ให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ริเริ่มกล่าวหา และศาลเป็นผู้พิจารณาคดี ซึ่งอาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญ[2] ศาลฎีกา[3] ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ[4]

จะเห็นได้ว่าเอกสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่ประธานาธิบดีนั้น คุ้มครองเฉพาะการกระทำของประธานาธิบดีในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ในกรณีที่ประธานาธิบดีกระทำความผิดโดยการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ประธานาธิบดีก็ยังคงต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถดำเนินคดีกับประธานาธิบดีได้ เพราะ ประธานาธิบดีได้รับความคุ้มกันในการไม่ถูกดำเนินคดีใดๆในระหว่างดำรงตำแหน่ง หากต้องการดำเนินคดี ก็ต้องรอให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งไปก่อน หรือในบางประเทศ อาจกำหนดเป็นกรณีพิเศษว่า ดำเนินคดีประธานาธิบดีในระหว่างดำรงตำแหน่งได้แต่ต้องให้รัฐสภาอนุญาตก่อน ว่าจะให้ดำเนินคดีหรือไม่[5]


ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์  เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขของรัฐจะแตกต่างไปจาก ประธานาธิบดี กษัตริย์มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่สัมบูรณ์เด็ดขาดกว่าประธานาธิบดี โดยผ่านสูตรที่เรียกกันว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” - The Person of the King is inviolable.

ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลทางกฎหมายในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่กษัตริย์ใน ๒ ประการ ประการแรก กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำใดๆของตนเลย แต่เป็นรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯที่เป็นคนรับผิดชอบ ประการที่สอง กษัตริย์ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ไม่มีผู้ใดฟ้องคดีแพ่ง ฟ้องคดีอาญา ฟ้องคดีปกครองหรือดำเนินการทางวินัยต่อกษัตริย์ได้ และไม่มีผู้ใดจะจับกุมกษัตริย์หรือคุมขังกษัตริย์ได้

ในกรณีที่การกระทำของกษัตริย์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะ รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น กษัตริย์ลงนามประกาศสงคราม แล้วต่อมาประเทศนั้นตกเป็นผู้แพ้สงคราม สมาชิกในรัฐบาลถูกดำเนินคดีฐานอาชญากรสงคราม แต่กษัตริย์ก็ไม่ต้องรับผิดและไม่ถูกดำเนินคดี เพราะ กษัตริย์ลงนามประกาศสงครามโดยมีคนลงนามรับสนองฯ และคนลงนามรับสนองฯนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที ถ้ากรณีการกระทำของกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นเรื่องในทางแพ่ง ให้ฟ้องต่อพระราชวังบ้าง ฟ้องต่อพระคลังข้างที่บ้าง ฟ้องต่อสำนักงานทรัพย์สินฯบ้าง แล้วแต่ว่าประเทศนั้นจะจัดการกองทรัพย์สินของกษัตริย์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกษัตริย์ ไว้ในรูปลักษณ์อย่างไร[6]

ในทางอาญา เช่น กษัตริย์เอาปืนไปยิงคนตาย หรือกษัตริย์ขับรถชนคนตาย ปัญหาจะทำอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ในทางตำรา ไม่มีตำราไหนเสนอทางออกไว้เลย A.V. Dicey อธิบายไว้ในตำรารัฐธรรมนูญของเขาว่า “กษัตริย์อาจเอาปืนระเบิดหัวขมองอัครมหาเสนาบดีได้โดยไม่ต้องไปศาล” แต่ Dicey บอกว่านี่เป็นตัวอย่างแบบสุดขั้ว สุดโต่ง หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงนั่นแสดงว่า วันสุดท้ายของราชบัลลังก์ใกล้มาถึงแล้ว[7]

ความข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” มีความเข้มข้นกว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการกระทำอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่” หากประธานาธิบดีกระทำความผิดอาญา และการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ เมื่อประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ก็จะถูกดำเนินคดีตามปกติ 

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางอาญาของ กษัตริย์ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแห่ง “ราชอาณาจักรไทย” ไม่ยอมลงนามให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะในธรรมนูญกรุงโรม มาตรา ๒๗ เขียนไว้ชัดเจนว่าถ้ากฎหมายภายในรัฐสมาชิก ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใดๆแก่ประมุขของรัฐ ให้ถือว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นหมดไปเมื่อเป็นกรณีดำเนินคดีอาญา ระหว่างประเทศ น่าแปลกใจว่า เหตุใดราชอาณาจักรไทยจึงอ้างเหตุผลนี้ในการไม่ลงนามให้สัตยาบัน ทั้งๆที่ราชอาณาจักรอื่นๆในโลกนี้ ก็ลงนามให้สัตยาบันกัน และในนามของหลัก The King can do wrong ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางที่กษัตริย์ไปกระทำความผิดอันเข้าข่ายฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศ ในนามส่วนตัว และการกระทำใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯเสมอ และเป็นผู้ลงนามรับสนองฯนั้นเองที่เป็นผู้กระทำโดยแท้จริงและเป็นผู้รับผิด ชอบ

ปัญหาต่อมา คือ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่กษัตริย์นั้นมีผลในช่วงเวลา ใด? คุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่เป็นกษัตริย์? หรือคุ้มครองกษัตริย์ตลอดชีวิต?

หากเป็นกรณีที่กษัตริย์เสียชีวิตไป เอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นก็ตกไปอยู่กับกษัตริย์องค์ต่อไปทันที เพราะ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นเป็นไปตามตำแหน่ง แต่ถ้ากษัตริย์สละราชสมบัติไป? จะฟ้องร้องต่อการกระทำของกษัตริย์ในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้หรือไม่? ต่อประเด็นปัญหานี้ มีความเห็นออกเป็นสองแนว แนวแรก เห็นว่า สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่กษัตริย์ เป็นการให้แก่ตำแหน่งกษัตริย์ มิใช่ให้แก่ นาย ก. ที่มาเป็นกษัตริย์ เมื่อสละราชสมบัติ ก็กลายเป็นบุคคลธรรมดา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆย่อมหมดไป แนวสอง เห็นว่า ไม่สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะ การกระทำในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้รับความคุ้มครองไปแล้วว่าไม่ต้องรับผิด ดังนั้น การกระทำของกษัตริย์จึงได้รับการคุ้มครองตลอดไป

ในกรณีที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนที่บุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องหรือกล่าวหาใดๆ หรืออาจฟ้องร้องหรือกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา เมื่อบุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาก็จะได้รับความคุ้มกัน ไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหา

ประเด็นนี้ เคยถูกหยิบยกขึ้นอภิปรายเมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ พันโท โพยม จุลานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี ได้อภิปรายว่า ข้าพเจ้า ใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไมได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้[8]

อนึ่ง รัฐธรรมนูญมอบเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่กษัตริย์เท่านั้น สมาชิกในครอบครัวของกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นราชินี บุตร ธิดา หลาน เหลน โหลน ตลอดจนบุคคลรายล้อมกษัตริย์ เช่น องคมนตรี ข้าราชบริพาร นางสนองพระโอษฐ์ ฯลฯ ไม่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเหมือนกษัตริย์

(อ่านต่อ)
http://blogazine.in.th/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/4058

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น