หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

นิธิ-วรเจตน์ : มากกว่าแก้ กม. ต้องแก้โครงสร้าง-วัฒนธรรมวงการตุลากา

นิธิ-วรเจตน์ : มากกว่าแก้ กม. ต้องแก้โครงสร้าง-วัฒนธรรมวงการตุลากา

 

 
 
นิธิ-วรเจตน์ ศาลในฐานะกลไกฯ
'วรเจตน์' เสนอมากกว่าแก้กฎหมาย ต้องแก้โครงสร้าง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ผู้พิพากษาตุลาการ 'นิธิ' เสนอปฏิรูปความเชื่อสังคมไทยเรื่องผู้เชี่ยวชาญ

(17 มี.ค.56) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนา หัวข้อ ศาล ในฐานะกลไกของระบอบ... ? ร่วมเสวนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติราษฎร์ ดำเนินรายการโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์


วรเจตน์ : มากกว่าแก้กฎหมาย ต้องแก้โครงสร้าง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ผู้พิพากษาตุลาการ

การมาร่วมงานในวันนี้ น่าจะเป็นการจัดงานที่พูดถึงเรื่องศาลและระบบยุติธรรมในเมืองไทยที่ชัดเจน ที่สุด ไฮไลท์ของงานอยู่ที่รายการท้ายสุด คือ จดหมายเปิดผนึกจากอดีตรองประธานศาลฎีกา เรื่องนี้สำคัญมากๆ และจะอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในอนาคต

เรื่องศาลกับกลไกใน "ระบอบ..." ผู้พิพากษาอาจมานั่งฟังทัศนะของนักวิชาการว่าวิจารณ์อย่างไร ขอเรียนว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในทางกลับกันถ้าผู้พิพากษาศาลต่างๆ จะวิจารณ์นักวิชาการ ผมก็ยินดี มันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย

เป้าหมายเราในวันนี้ไปอยู่ที่ผู้พิพากษาที่มีอุดมการณ์ขัดกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ปัญหา สำคัญอันหนึ่ง ก่อนหน้านี้เราพูดถึงปัญหาการใช้ การตีความกฎหมาย มาตรา 112 คำถามอันหนึ่งที่ผุดมา คือ ทำไมจึงเกิดแนวตีความแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 19 กันยา 2549 อะไรผลักดันให้ศาลมีบทบาททางการเมืองอย่างมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การจะตอบคำถาม ไม่อาจมองศาลแบบสถิตหยุดนิ่งในปัจจุบัน แต่ต้องมองย้อนไปทั้งระบบรวมถึงการศึกษานิติศาสตร์ ได้คำตอบแล้วยังต้องทำต่อว่าทำอย่างไรจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์เช่นนี้


เวลาใครเป็นจำเลย ศาลเป็นคนกลางในการตัดสินคดี ต้องมีการยุติของคดี จำเลยอาจหลั่งน้ำตาได้ในการฟังคำพิพากษาของศาล แต่ต้องหลั่งน้ำตาโดยจำนนในเหตุผลที่ศาลให้ ไม่ใช่หลั่งน้ำตาเพราะความคับแค้นในความอยุติธรรม

บทบาทของศาลหลัง 19 กันยา 2549 เราพบคำพิพากษา-วินิจฉัย จำนวนหนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในวงวิชาการ สภาพแบบนี้ย้อนกลับไปดูจะพบว่า ไทยทำรัฐประหารหลายหน แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่ กระบวนการยุติธรรมไปผูกโยงกับรัฐประหารด้วย เพราะโลกเปลี่ยนแปลง การใช้กำลังทหารอย่างเดียวไม่อาจบรรลุผลให้คนยอมรับ องค์กรที่ทรงพลานุภาพอีกองค์กรจึงต้องรับภารกิจอันนี้มา ศาลอาจไม่เต็มใจรับภารกิจอันนี้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการตัดสินคดี เมื่อคณะรัฐประหารสิ้นอำนาจแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารได้ แต่ศาลก็ยังใช้

มันไม่ใช่ปัญหาในระดับปกติธรรมดา แต่เป็นปัญหาระดับอุดมการณ์ ทัศนะ ดำรงอยู่ในวงการกฎหมาย วิชาชีพกฎหมาย ในหมู่ผู้พิพากษา ตุลาการ


ย้อน ไปช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลายท่านอาจไม่ได้คิดว่าเปลี่ยนอะไรบ้าง เปลี่ยนฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนฝ่ายบริหาร แต่ไม่ได้เปลี่ยนตุลาการเลย รับโครงสร้างเดิมเข้าสู่ระบอบใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เพราะบทบาทของศาลไทยเมื่อก่อนอยู่ในข้อพิพาทของเอกชนกับเอกชน ไม่ได้สนใจสำหรับสาธารณะ ถึงมีการวิจารณ์ก็น้อยมาก ไม่เคยมีการตรวจสอบการทำงานของศาลอย่างจริงจัง เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากในวงการกฎหมาย คนเกรงว่าจะเป็นการดูหมิ่นศาลถ้าวิจารณ์ ศาลก็มีข้ออ้างสำคัญว่าตัดสินในพระปรมาภิไธย ซึ่งไม่ถูกต้อง


การไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของศาลนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือ วัฒนธรรมที่ฝังรากในผู้พิพากษาไทย ใครเคยอ่านคำฟ้อง คำร้องของศาล จะพบคำลงท้ายว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” หมายความว่า เป็นคำที่รับต่อมา การให้ความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่แล้วแต่จะโปรด การเรียกขานศาลในอดีต มีการเรียกใต้เท้า แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมี การไม่เปลี่ยนรากฐานแบบนี้ มันส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อคนในวงการตุลาการ เสนอให้เปลี่ยนเป็น "จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาพิพากษาไปตามกฎหมายและความยุติธรรม"

ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมความคิดนี้ฝังอยู่ เวลาศาลสร้างบัลลังก์ของศาล เวลาท่านยื่นเอกสาร คนตัวเล็กต้องเอื้อมจนสุดแขน ทั้งที่ความจริง ระบอบประชาธิปไตย ศาลเป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจอื่นใดเลย แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ไม่เป็นที่ตระหนักในหมู่ผู้พิพากษา เห็นได้จากการอบรมบ่มเพาะในวิชาชีพ ยกตัวอย่าง ทุกวันที่ 7 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงพระบิดาแห่งกฎหมายไทย จะมีการวางพวงมาลาที่รูปปั้นของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ รุ่นพี่ก็จะบอกรุ่นน้องให้ไปร่วมงานนี้ ไม่อย่างนั้นอาจจะสอบตก ผมไม่เคยร่วมงานนี้ และไม่เคยสอบตก ที่พูดเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการปลูกฝังความคิดแบบนี้ในหมู่นักศึกษา สมัยก่อนคนสอนกฎหมายก็เป็นผู้พิพากษาเท่านั้น เขาก็รับเอาทัศนะ วิธีคิด แบบตุลาการมาสอนในวงวิชาการ ถูกจำกัดกรอบอยู่ในวิธีคิด แบบศาลเป็นใหญ่ วันนี้เวลาจะวิจารณ์ศาล ผู้พิพากษา อาจารย์ผู้ใหญ่บางคนจึงมองอย่างไม่เข้าใจ ทำไมไม่มีครู เป็นคนเนรคุณ

เวลาเราพูดเรื่องนี้ว่า ศาลตัดสินคดีแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ตีความแบบนี้ คำพิพากษามีเหตุมีผล แต่จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแนวทางในการใช้กฎหมายของผู้พิพากษา ตราบเท่าที่อุดมการณ์ที่ใช้กฎหมายยังดำรงอยู่

ข้อเรียกร้องแก้มาตรา 112 รวมถึงยกเลิกก็ตาม เป็นข้อเรียกร้องที่เพียงแต่บรรเทาปัญหา  เพราะหากตัวอุดมการณ์การตีความกฎหมายไม่เปลี่ยน เขาก็จะพยายามตีความเพื่อรับใช้ระบอบที่แปลกปลอมไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย จนได้


มันไม่ใช่แค่เปลี่ยนกฎหมาย ได้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนโครงสร้างของศาล แต่ต้องมากไปกว่านั้น ต้องสะท้อน ทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยฝังลงในสำนึกของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทุกคน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพที่เกิดขึ้นได้

ยกตัวอย่าง การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหามาตรา 112 ถ้าไปอ่านคำที่ศาลปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ว่า คดีโทษสูง คดีสะเทือนใจประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว สิทธิในรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐในการใช้และตีความกฎหมายทั้งปวง แต่ตัวบทแบบนี้มันเป็นหมัน เป็นตัวบทที่ตาย ตราบเท่าที่อุดมการณ์ที่ใช้และกำกับการตีความของผู้พิพากษา ยังไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยและนิติรัฐ

ถามว่าเปลี่ยนอย่างไร เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมาก หลังปี 2540 คงทราบว่า มีการเอาหน่วยธุรการที่แต่เดิมขึ้นกับฝ่ายบริหารไปไว้กับตุลาการ ตัวประธานศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด ยังทรงอำนาจการบริหารหน่วยธุรการด้วย เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของราชการ ระบบถ่วงดุลอำนาจที่เคยวางไว้ว่าฝ่ายธุรการอยู่กับบริหาร ศาลทำหน้าที่แค่ตัดสินคดีไป เปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่เสียหายมากนัก ถ้าอำนาจศาลเชื่อมโยงหลักการประชาธิปไตย แต่เมื่อไม่เชื่อมศาลจึงมีอำนาจสูงมาก

ช่วงหนึ่งมีการปรับเงินเดือนผู้พิพากษาใหม่ มันสะท้อนรูปการจิตสำนึกแบบใหม่ ผู้พิพากษาตุลาการยกระดับขึ้นกลายป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ด้วยเงินเดือนที่แตกต่างกับข้าราชการอื่นๆ แล้วใครอยากจะเปลี่ยน การมุ่งหวังให้เกิดการปลี่ยนแปลงจากภายในจึงเป็นเรื่องยาก เปลี่ยนจากภายนอกก็ไม่ง่าย เมื่อสิ่งเหล่านี้ก่อร่างสร้างตัวเป็นระบบกฎหมายแล้ว ท่านเหนื่อย จะเจอแรงต้าน หาว่าแทรกแซงอำนาจตุลาการ แต่การปรับเปลี่ยนนี้จำเป็นอย่างยิ่ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ตัวอุดมการณ์เปลี่ยนด้วย แต่ก็ทำเชิงโครงสร้างอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำในการอบรมบ่มเพาะด้วย แต่การฝ่าเรื่องนี้ไม่ง่าย

หลายคนบอกว่าปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหาในเชิงอุดมการณ์อย่างเดียว เป็นเรื่องความรู้ความสามารถของผู้พิพากษาตุลาการบางท่านด้วย อาจเป็นความคิดว่า ชนชั้นผู้พิพากษาเป็นชนชั้นบริสุทธิ์ ไม่ควรถูกตรวจสอบโดยประชาชนธรรมดาที่ไม่เชี่ยวชาญกฎหมาย สะท้อนให้เห็นจากอดีตผู้พิพากษา ซึ่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เคยกล่าวในที่สัมมนาว่า ผู้พิพากษาเกือบจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ

เราจะออกจากโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร การพยายามแก้กฎหมาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่มันไม่พอ ผมคิดว่าการเปลี่ยนความคิด วัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในวงการตุลาการเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ถ้าท่านเปลี่ยนตรงนี้ได้ แม้ตัวบทกฎหมายเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ผู้พิพากษามีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย เคารพหลักนิติรัฐ เขาสามารถตีความกฎหมยได้ ใช้ศิลปะในการตีความกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมได้ แม้ตัวกฎหมายจากรัฐสภายังบกพร่องอยู่ แต่ถ้าอุดมการณ์เป็นแบบนี้ เขาก็จะใช้และตีความไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย


ในศาลก็สะกดให้คนกลัว ไม่กล้าวิจารณ์ ระเบียบวิธีปฏิบัติ การออกแบบศาล ไม่ใช่วัตถุประสงค์รักษาความสงบในศาลซึ่งจำเป็น แต่เป็นการสะกดไว้ ไม่ให้หือกับอำนาจตุลาการ สิ่งเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ศาล รัฐธรรมนูญเคยตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ในเดือน ธ.ค.ที่มีการยึดสนามบิน ไม่นานนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าที่ตัดสินแบบนั้นเพราะเกรงว่าบ้านเมืองจะเกิดความ วุ่นวาย ถามว่าท่านไม่ต้องสนใจใช่ไหมว่ากฎหมายเขียนอย่างไร จำเลยทำผิดต้องตรงตามกฎหมายหรือไม่ ดูแค่นั้นใช่ไหม แบบนี้หรือที่เรียกว่าให้ความยุติธรรมกับคนที่เป็นคู่ความในคดี


บางคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมายอมรับว่า การทำงานของศาลมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น นำข้อกฎหมายขึ้นก่อนข้อเท็จจริง แต่นั่นไม่สำคัญ ที่สำคัญมากคือ เวลามีการตัดสินคดี มีฝ่ายธุรการร่างคำพิพากษามา และร่างมาหลายๆ แนว เมื่อร่างแล้วเอาเข้าที่ประชุม แล้วผู้พิพากษาตุลาการจะเลือก มีที่ไหนที่ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วใช้ลักษณะแบบนี้ ทำแบบนี้เท่ากับคุณจะออกซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ เพราะเตรียมคำวินิจฉัยหลายแนวทางแล้ว ทั้งที่จริงต้องประชุมปรึกษากัน มีตุลาการรับผิดชอบทำสำนวนให้องค์คณะพิจารณาดีเบตกัน

ปัญหาที่เราเห็นในระบบศาลไทย มันจึงมากไปกว่าที่สะท้อนให้เห็นผ่านผลคำพิพากษาบางคดี ที่มากไปกว่านั้นคือ ผู้พิพากษา อุดมการณ์ที่กำกับการใช้และตีความกฎหมายของผู้พิพากษา ต้องแก้ตรงนี้และปรับเปลี่ยนโครงสร้างตุลาการ เมื่อไรที่ศาลรู้สึกยึดโยงประชาชน เมื่อนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในองค์กร เปลี่ยนวิธีปฏิบัติในองค์กร คนรุ่นใหม่ๆ ก็จะซึมซาบวิธีแบบใหม่ มีความคิดรับใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตย นิติรัฐ ปัญหาก็จะหมดไป

ต่อกรณีที่นิธิเสนอให้โรงเรียนกฎหมายปฏิรูปตนเองด้วยว่า จากสถานการณ์ที่พบเห็นอยู่ ตอบได้เลยว่า เขาไม่พร้อมปฏิรูปตัวเอง ผมคิดว่าคนประกอบวิชาชีพกฎหมาย เขาตัดสินไป บางทีอาจไม่รู้สึกเลยว่าขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือไม่ นี่เป็นเรื่องยากมาก วันนี้เรากำลังส่งเสียงไปยังผู้พิพากษาตุลาการทุกคนว่า ท่านเป็นผู้พิพากษาตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ถ้าศรัทธาระบอบการปกครองอื่น ไม่สามารถใช้กฎหมายปัจจุบันไปตัดสินคดีได้ ต้องออกจากระบอบประชาธิปไตยนิติรัฐ

หลังๆ พูดเรื่องปัญหาอุดมการณ์มากเป็นพิเศษ ขอเล่าเรื่องให้ฟังว่า ประวัติศาสตร์เยอรมัน เปลี่ยนระบอบการปกครองในปี 1918 จากระบอบกษัตริย์เป็นประธานาธิบดี เกิดรัฐธรรมนูญ 1919 ต่อมาปี 1923 เกิดกบฏ คนหนึ่งที่เป็นผู้นำยึดอำนาจ ชื่อว่า อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ โดยความพยายามทำรัฐประหารนั้นล้มเหลว เขาถูกจับ แล้วนำตัวขึ้นศาล พูดกันตามมาตรฐานทั่วไป ตามกฎหมาย ฮิตเลอร์ต้องถูกลงโทษอย่างน้อยสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต เพราะได้กระทำอาชญากรรมที่รุนแรงที่สุดคือ ล้มล้างอำนาจรัฐ แต่ในการพิพากษา ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีมาจากระบอบเดิม เขาเป็นพวกกษัตริย์นิยม รับไม่ได้ที่เยอรมันเปลี่ยนระบอบ ผู้พิพากษาปล่อยฮิตเลอร์ โดยแถลงคดีในศาลยืดยาวมากๆ โหมความรักชาติมาพูด สุดท้ายเขาตัดสินว่า ที่ฮิตเลอร์ทำไปทั้งหมด เป็นการ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” แล้วฮิตเลอร์ถูกลงโทษสถานเบา นำตัวไปกักกัน ไม่กี่เดือนก็พ้นโทษ ยังผลให้อีกหลายปีต่อมาขึ้นครองอำนาจได้ ผู้พิพากษาที่ตัดสินได้ถูกโปรโมตเป็นท่านผู้นำในการเมืองเยอรมัน

จะเห็นว่า กฎหมายเปลี่ยนแล้ว แต่ผู้พิพากษากลับชอบอีกระบอบ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ


ในวงนิติศาสตร์ มีทฤษฎีหนึ่งว่า อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของกษัตริย์กับประชาชนร่วมกัน ยามใดเกิดรัฐประหาร อำนาจอธิปไตยจะกลับคืนสู่กษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวทันที ความคิดแบบนี้ครอบงำวงการกฎหมาย ทำให้อุดมการณ์ในการใช้และตีความกฎหมายเป็นอย่างที่เราเห็น เราไม่มีทางอื่น นอกจากต่อสู้ส่งเสียงให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์เหล่านี้ ไม่ทราบว่าต้องใช้เวลาอีกแค่ไหน การถอดรื้ออุดมการณ์แบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าต้องการให้ประเทศ เป็นประชาธิปไตย ให้ผู้พิพากษาเกาะเกี่ยวราษฎร และตัดสินคดีตามกรอบประชาธิปไตย เราไม่มีทางเลือกอื่น


นิธิ : ปฏิรูปความเชื่อสังคมไทยเรื่องผู้เชี่ยวชาญ


“ศาล ในฐานะกลไกของระบอบ... ?” เป็นหัวข้อสำคัญมาก เกินความรู้ความสามารถ แต่เราก็ต้องมาคุยกัน ในเมืองไทยมักเข้าใจว่าความยุติธรรมลอยมาจากฟ้า มีของมันอยู่แล้ว แล้วศาลเป็นคนไปเรียนรู้และหยิบความยุติธรรมมาตัดสินคนนู้นคนนี้ นี่เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ความยุติธรรมในโลกนี้ไม่ได้อยู่ลอยๆ แต่มันขึ้นกับว่าคุณตีความมันตามระบอบอะไร หลายคำพิพากษาที่เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจหรือขยะแขยง ถ้าย้อนกลับไปในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถือว่ามีเหตุมีผลเลย และยุติธรรม แต่หากเอามาใช้ในระบอบประชาธิปไตยจะมีปัญหาทันที

ขอนอกเรื่อง ตอนตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ อยากได้นักกฎหมายจำนวนมาก นักกฎหมายที่ไม่ใช่ช่างตัดผม ระบอบใหม่ต้องมีนักกฎหมายที่เข้าใจหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่แบบเก่าที่ถูกฝึกให้เป็นช่างตัดผมที่ชำนาญในรูปทรงของระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ แต่คณะราษฎรก็มีกำลังน้อย ไม่สามารถทำได้ แต่ก็มีการเชิญผู้พิพากษาฝรั่งเศสมาสอนที่นี่ด้วย สอนภาษาฝรั่งเศส มีถนัด คอมันตร์ ฟังแล้วแปลเป็นไทยเพื่อขายให้นักศึกษา เมอซิเออร์ เอกูต์ บรรยายกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้อธิบายมาตรา แต่อธิบายหลักการสำคัญ เมื่อประยุกต์ใช้กฎหมายแล้วแปลว่าอะไร


ยกตัวอย่างเช่น  วิธีอธิบายว่า ทำไมใช้กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ เอกูต์บอก ถ้าใช้กฎหมายย้อนหลังเมื่อไหร่ หลักเสรีภาพที่ประกันไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นศูนย์ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าเสรีภาพในวันนี้จะมีปัญหาในวันหน้าหรือไม่  คำอธิบายเรื่องนี้ทำได้หลายอย่าง แต่ถ้าต้องการฝึกนักกฎหมายที่อยู่ในกรอบความคิดประชาธิปไตย ต้องอธิบายให้ได้ว่ากระทบสิทธิเสรีภาพคนอย่างไร สุดท้าย เอกูต์ก็ไม่ถูกจ้างอีกต่อไป

ในแง่นี้ถ้าจะพูดประเด็นนี้ต้องไล่ถึงโรงเรียนกฎหมายในเวลานี้เลย  โรงเรียนกฎหมายพร้อมปฏิรูปตัวเองที่จะกลับมาฝึกและสร้างนักกฎหมาย ตั้งแต่ทนายความถึงผู้พิพากษาผที่เคารพและอ่านกฎหมายจากกรอบของประชาธิปไตย ไหม และเข้าใจชีวิตในโลกประชาธิปไตย

กลับเข้าเรื่อง ศาลในฐานะกลไกของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบห่าเหวอะไรก็ได้ อย่างที่เราเรียนหน้าที่พลเมือง มันเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย ต้องถามว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ต้องขีดเส้นใต้หลายเส้นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน  ศาลจึงไม่ได้ลอยอยู่เฉยๆ แต่เรามักคิดว่า ศาลเป็นผู้เชี่ยวชาญ ศาลต้องมาจากประชาชน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม หลายประเทศในโลก ศาลไม่ได้ปิดประตูห้องแล้วแต่งตั้งอธิบดีศาลกันอัตโนมัติ อย่างน้อยต้องให้สภารับรอง เราไม่ต้องการให้ผู้พิพากษาไปประจบนักการเมือง เล่นการเมือง ท่านต้องเป็นอิสระ แต่มันมีวิธีการในหลายประเทศที่จะให้ศาลอิงกับอำนาจประชาชน แต่พอแต่งตั้งแล้วเขาจะเป็นอิสระ เช่น ศาลสูงของสหรัฐฯ ต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภา แต่พอรับรองแล้วเป็นจนตาย นักการเมืองจะมาใช้อิทธิพลบังคับการวินิจฉัยของศาลสูงอเมริกันไม่ได้

ถ้าเราพยายามจะสร้างกลไกต่างๆ ที่จะทำให้ผู้พิพากษาอิสระในการทำงาน แต่ไม่ใช่หลุดลอยจากประชาชน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประชาชน จะสร้างกลไกการต่อรองกันระหว่างสภาและที่ประชุมผู้พิพากษาอย่างไรก็สร้างไป แต่ต้องอิงอำนาจประชาชน แต่เมืองไทยชอบคิดว่า ศาลคือนักตัดผมที่เก่งที่สุดด้านกฎหมาย เป็นที่ประชุมที่ตัดสินของผู้เชี่ยวชาญที่ลอยมาจากไหนไม่ทราบ อาศัยสถานะผู้เชี่ยวชาญ ตัดสินชีวิตคนได้ ความคิดเรื่องผู้พิพากษาเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงสุด เป็นความคิดที่มีเสน่ห์มาก เราถูกสอนให้ดูถูกรังเกียจนักการเมือง แล้วสร้างอะไรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วลอยมาจากไหนไม่ทราบ มาคุมคนที่เราเลือกเข้าไป รัฐธรรมนูญ 50 ชัดเจนว่าสร้างเทวดาหลายกลุ่มเข้ามาแทรกแซง ความคิดนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยพอสมควรไม่เฉพาะในกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

อัยการ เวลานี้ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟ้องร้องคดี องค์กรอิสระจำนวนมากก็เช่นกัน แม้แต่มหาเถรสมาคมก็เป็นคนแก่จำนวนหนึ่งที่เป็นพระมานาน แล้วก็คุมชีวิตของพระเป็นแสนรูป เราเชื่อว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยมีอำนาจ


อำนาจของผู้เชี่ยวชาญเป็นอำนาจที่น่ากลัวที่สุด เราจะจัดการอำนาจนอกระบบทั้งหลายในเมืองไทย อย่าเชื่อผู้เชี่ยวชาญ มันไม่มีหรอก มึงจะเชี่ยวชาญขนาดไหน มันชีวิตกู

นั่นคือเหตุที่ระบบศาลของเมืองไทยพัฒนาไปถึงระบบลูกขุนไม่ได้

ศาล อาจคุมกระบวนการพิจารณาคดี รู้กฎหมายอย่างดีที่จะปรับโทษหลังรู้ผิดรู้ถูก แต่จะผิดหรือถูก พูดแบบฝรั่งคือ พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ ดังนั้น เขาจึงใช้มนุษย์ขี้เหม็นด้วยกันฟังเรื่องมาให้ตลอด เช่น กรณีอากง ระบบลูกขุนจะให้คน 13 คนมานั่งฟังแล้วมาบอกว่าผิดหรือถูก ไม่จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ


การพัฒนาไปไม่ได้เพราะโดยวัฒนธรรมเราเชื่อผู้เชี่ยวชาญ ไม่เชื่อความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพียงแค่นี้ ก็ไม่เป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตยแล้ว เพราะโดยเริ่มต้นก็ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกันเพียงพอ

ถ้าเราไม่เลิกเชื่อผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง เป็นคนดี ไม่มีกิเลส นี่เป็นความคิดแบบเพลโต ซึ่งเชื่อว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือการเอาคนดีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “กษัตริย์นักปราชญ์” มาปกครอง ตัวอย่างผู้สมาทานแนวคิดนี้คนสำคัญคือ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่คิดว่าเพลโตเป็นนักประชาธิปไตย และปัจจุบันเป็นองคมนตรี ความคิดแบบนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา และนำสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

การที่เรามีระบบตุลาการ หน้าที่อีกอย่างของมันคือต้องถ่วงดุลกันเอง หลังรัฐประหาร 49 ถามว่าฝ่ายตุลาการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติไหม ถ่วง แต่ทางตรงกันข้าม นิติบัญญัติ บริหารไม่ได้เข้ามาถ่วงดุลตุลาการเลย 


ตัวอย่าง อย่างที่กล่าวไปว่า ผู้พิพากษาบางตำแหน่งควรได้รับการรับรองจากสภาที่มาจากประชาชน เป็นต้น

เวลา นี้เราให้อำนาจตุลาการ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ในทางกลับกันไม่มีการถ่วงดุล ตัวระบบสร้างไว้เลยแต่ต้นว่าจะให้ศาลไม่ถูกตรวจสอบจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้ง สิ้น อย่าว่าแต่ชาวบ้านธรรมดาอย่างเรา


ฉะนั้น ถ้าคิดว่าศาลในฐานะกลไกของระบบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญที่สุดของศาลคือ มันจะต้องเป็นผู้ประกันสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ในการทำหน้าที่ของตุลาการ คุณจะต้องมองกฎหมายทุกอัน คำพิพากษาทุกอันว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

เราจะเป็นประชาธิปไตยก็เพื่อจะได้มีสิทธิเสรีภาพ สามฝ่ายละเมิดเราไม่ได้

แต่เดิมมา ทางการพิพากษาคดีความต่างๆ เป็นบริการผูกขาดของผู้ปกครอง ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ผู้นำมักต้องป้องกันศัตรู และให้บริการด้านความยุติธรรม ดังนั้น 2475 ทำได้เพียงตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ปล่อยให้ตุลาการคิดว่าตัวเป็นส่วนหนึ่งของพระมหากษัตริย์ในการให้บริการพื้น ฐานแก่สังคม ไม่ได้คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของประชาชน และปกป้องเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญประกันไว้แล้ว ภาษาฝรั่งใช้คำว่า สิทธิที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ยกตัวอย่างในทางปฏิบัติ เช่น การที่ฝ่ายตุลาการไม่เคารพในเสรีภาพที่ประกันในรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 8 ตามที่ปิยบุตรเล่า มันก็ขัดกับหมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ถ้าถามผม มาตรา 8 ต้องยกเลิก ถ้ามันแปลว่าละเมิดอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง วิจารณ์ไม่ได้ เพราะสิทธิเสรีภาพสำคัญที่สุดในรัฐธรรมนูญ

หลัง 2475 เราแก้กฎหมายอาญาในระดับพื้นฐานไหม ไม่ได้แก้ แก้เป็นส่วนๆ แต่หลักพื้นฐานไม่ได้แก้ คณะราษฎรมีกำลังน้อยเกินไปที่จะสามารถยกร่างประมวลกฎหมายอาญาใหม่กันหมด ลองไปดูดีๆ จะเจออีกจมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงมาตรา 112

กรณีที่บอกว่า คำพิพากษาในพระปรมาภิไธย อย่างนี้ก็อย่างที่บอกว่า กษัตริย์ผูกขาดการให้บริการความยุติธรรม ผู้พิพากษาเข้าใจผิด ถ้าจะเข้าใจมันตามหลักประชาธิปไตย พระปรมาภิไธยคือตัวแทนประชาชน คือตัวแทนอำนาจประชาธิปไตย 


เราไม่สามารถตีความกฎหมายพ้นกรอบสิทธิเสรีภาพได้ ประชาชนหายไปจากการตีความกฎหมายไม่ได้

อีกประเด็นที่พูดกันเยอะ คือ เรื่องหมิ่นศาล ผมเข้าใจว่ามันแปลว่า ทำอะไรก็แล้วแต่ที่กระทบกระเทือนกระบวนการพิจารณาคดีที่อยู่ในศาล ถามว่าการนั่งไขว่ห้างนั้นกระทบกระบวนตรงไหน แต่ผู้พิพากษากลับไปคิดว่าเป็นการหมิ่นตัวเขา บางคนไปไกลหาว่า หมิ่นตัวเขาเท่ากับหมิ่นกษัตริย์ กระบวนการพิจารณาคดีที่ควรเคารพ เช่น โกหกไม่ได้ อันนี้คือหมิ่นศาล หมิ่นกระบวนการของศาล

แน่นอนไม่ใช่เฉพาะเวลาพิพากษาคดี คดีเสร็จแล้ว ทนายฝ่ายจำเลยออกมาบอกว่าผู้พิพากษากินเงินของโจทก์หรือของใครก็ตามโดยไม่ สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้ อย่างนี้หมิ่นศาลและหมิ่นประมาท

มีอีก หลายอย่างในไทยที่แตะต้องไม่ได้ แล้วก็ปล่อยให้ตีความกันตามใจชอบโดยไม่ย้อนมาคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน วลีที่ว่า “ประเพณีและศีลธรรมอันดีของประชาชน” เรามักได้ยินเสมอ แปลว่าอะไร คนหนุ่มสาวในไทยเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว กบฏกับพ่อแม่ ไม่ยอมให้จับคลุมถุงชน ทำไมไม่รู้สึกว่า คลุมถุงชน เป็นประเพณีอันดี ใครจะเป็นคนตัดสิน ไม่มีใครตัดสินได้ แต่ต้องมีหลักสิทธิเสรีภาพ อย่าลืมเป็นอันขาดเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก


กษัตริย์เป็นศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเปล่า ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ ถ้ามอง ร.5 ในมุมที่ไม่ค่อยดีนัก ทำได้ไหม? ยกเป็นตัวอย่างว่า คำว่าศีลธรรมอันดีของประชาชน มันปิดปากเราหลายเรื่อง พุทธ พระสงฆ์ เราพูดได้แค่ไหน

ประเด็นสุดท้าย มาตรา 112 โดยตัวกฎหมาย มีปัญหาอะไรพูดมามากแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น ความไม่อินังขังขอบ ไม่เห็นแก่ความเป็นธรรมในวงกว้าง

ในยามปกติ ปีหนึ่งมีคดีนี้ไม่เกิน 10 คดี หลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเกิดเหตุสังหารประชาชน ใน 53 ปีหนึ่งถูกฟ้องมา 200 กว่าคดี ในที่สุด ก็มาถึงศาล ในการทำงานของศาลมันต้องมีใครสักหน่วยงานหนึ่งในกลุ่มศาลที่สามารถตั้งข้อ สังเกตความผิดปกติอันนี้ได้ ว่า ทำไมจากไม่ถึงสิบ มาเป็น 200 กว่าคดี ในภาษิตโรมันบอกว่า คุณไปศาลด้วยมือสกปรกไม่ได้  แสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้มากเลยว่า คนเหล่านี้ถูกนำตัวขึ้นศาลด้วยมือสกปรก  หน่วยงานต้อง alert ได้ว่ามันมีอะไรผิดปกติ อาจต้องแจ้งสภาด้วย คณะอันหนึ่งที่น่าเสียดายมาก ผู้ตรวจการรัฐสภา กลายเป็นทำหน้าที่ซ้ำซ้อนศาลปกครอง โดยส่วนตัวอยากให้ผู้ตรวจการรัฐสภาทำหน้าที่ประเมินกฎหมายของรัฐสภาว่าส่งผล อย่างไรต่อประชาชน ทำให้ ส.ส.ได้เห็นปัญหาถึงกฎหมายที่ทำออกมา

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/03/45798 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น