กรณีให้การไทย-กัมพูชาเรื่องเขาพระวิหารที่ศาลโลก
โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
ปัญหาเริ่มจาก ในคำร้องที่กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลกในปี ค.ศ.1959/ พ.ศ.2502 กัมพูชาได้ขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดว่า
1. แผนที่ตอนเขาดงรักหรือแผนที่ภาคผนวก 1 (หรือแผนที่ 1: 200,000) นั้นได้ถูกจัดทำในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และว่าแผนที่นี้ตรงตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว และด้วยความตกลงและการปฏิบัติของฝ่ายไทยและกัมพูชาในเวลาต่อมา จึงทำให้ แผนที่นี้มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง
2. เส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยในเขตพิพาทกันในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ภาคผนวก 1
3. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนอันอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
4. ไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องถอนทหารที่ได้ส่งไปประจำ ณ ตัวปราสาทพระวิหาร
5. รัฐบาลไทยต้องส่งคืนโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ฝ่ายไทยได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทพระวิหาร
ปรากฎว่า ศาลปฏิเสธที่จะตัดสิน 2 ข้อแรก เพราะกัมพูชายื่นสองข้อนี้เข้าไปในภายหลัง โดยศาลบอกว่าตนจะจำกัดขอบเขตการพิจารณาไว้ที่เรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น” จะไม่พิจารณาเรื่องเส้นเขตแดน ฝ่ายไทยจึงถือว่าตนไม่จำเป็นต้องยอมรับเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 และยังสามารถยึดเส้นสันปันน้ำได้ต่อไป
แต่ศาลได้ตัดสินข้อ 3-4 ให้เป็นคุณแก่กัมพูชา คือ “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา”, ไทยมีภาระที่จะต้องถอนกำลังของตนออกจากบริเวณโดยรอบ (vicinity) ปราสาท, และต้องส่งโบราณวัตถุต่าง ๆ คืนไป
แต่ปัญหามิได้ยุติเพียงเท่านี้ เพราะแม้ว่าศาลจะไม่ได้ชี้ขาดสองข้อแรก แต่ศาลก็เห็นว่า
“จะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารได้ก็ต่อ เมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่าเส้นเขตแดนนั้นคือเส้นใด” ซึ่งศาลมีความเห็นว่า:
“ประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา"
ศาลมีความเห็นต่อไปว่า "เมื่อพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป การกระทำต่อ ๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน “
“ศาลมีความเห็นว่าการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 โดยคู่กรณี เป็นผลให้แผนที่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับความตกลงโดยสนธิสัญญาและกลายเป็น ส่วนหนึ่งของความตกลงนั้น“
(ประโยคนี้สำคัญ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า แผนที่เข้ามาเป็น integral part of the treaty คำว่า integral part นี่ชี้ว่าแผนที่เป็นส่วนสำคัญของสนธิสัญญา 1904 ทีไทยยึดถือ!!! หมายความต่อว่า มันผูกพันไทย)
ศาลยังกล่าวต่อว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปัน น้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่ง ได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท”
ข้อความที่ยกมาข้างต้นคือ “เหตุผล” หลักที่ทำให้ศาลตัดสินว่าพระวิหารอยู่ในเขตแดนของกัมพูชานั่นเอง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในปี 2505 ศาลมีความเห็นชัดเจนแล้วว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน
กัมพูชาเห็นว่านี่คือจุดแข็งของตน จึงใช้ประเด็นนี้ ยื่นขอให้ศาลตีความว่า ที่ศาลบอกว่าไทยมีภาระหน้าที่ต้องถอนทหารออกไปนั้น ขอให้ศาลอธิบายว่าจะต้องถอนออกไปแค่ไหน ใช้เส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเกณฑ์ใช่หรือไม่ เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่า ไทยต้องถอนกำลังทหารออกไปจากบริเวณปราสาทนั้น ศาลจะต้องมีความเห็นอยู่ในใจแล้วว่า ขอบเขตที่ไทยจะต้องถอนออกไปนั้นมีแค่ไหน ขอบเขตที่ว่านี้เป็นไปตามเส้นบนแผนที่ใช่หรือไม่
กัมพูชาเห็นว่า แม้ว่าการระบุในคำพิพากษาว่า เส้นเขตแดนในบริเวณพิพาทคือเส้นบนแผนที่ จะเป็นเพียง “เหตุผล” (ที่รองรับการตัดสินให้พระวิหารเป็นกัมพูชา) และเหตุผลนี้ ไม่ใช่คำพิพากษาที่มีผลบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม (operative clause) แต่เหตุผลนี้ไม่สามารถแยกออกจากคำพิพากษาได้
ฝ่ายไทยสู้คดีว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะรับตีความ ตามที่กัมพูชาร้องขอ เพราะคำร้องของกัมพูชา เป็นการเสนอให้ศาลตีความเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งในคำพิพากษา 2505 ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน
นอกจากนี้ ไทยโต้แย้งว่าหลังคำพิพากษา ไทยและกัมพูชาไม่มีความขัดแย้งในการตีความคำพิพากษา ว่าขอบเขตที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท (vicinity) นั้นแค่ไหน เพราะเมื่อรัฐบาลไทยได้ตั้งรั้วลวดหนามขึ้นมา กัมพูชาก็ไม่ได้โต้แย้งนับแต่นั้นมา ไทยได้แสดงหลักฐานที่แสดงว่ากัมพูชายอมรับการปฏิบัตินี้ เช่น คำพูดที่เจ้าสีหนุแถลงข่าวในหนังสือพิมพ์และกล่าวกับทูตสหรัฐฯ
แต่จากการแถลงเมื่อวานนี้ (15 เม.ย.) จะเห็นว่ากัมพูชาได้แสดงเอกสารหลักฐานหลายชิ้นว่าตนได้ทำการประท้วงคัดค้าน การตั้งรั้วของไทยตั้งแต่ปี 2505 หลายครั้ง และว่ารั้วลวดหนามนั้นเป็นการกระทำและตีความคำพิพากษาของไทยโดยลำพัง กัมพูชาไม่ได้ยอมรับด้วย
มาถึงจุดนี้ ก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้น้ำหนักแก่หลักฐานของฝ่ายใดมากกว่ากัน และในการแถลงวันที่ 17-19 ทั้งสองฝ่ายจะเสนอหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีก
000
เมื่อคดีพระวิหารกลับไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง
ความกลัวว่าไทยอาจเสียพื้นที่ทับซ้อนให้กัมพูชา ทำให้สื่อมวลชนเริ่มพูดว่า
ไทย-กัมพูชาควรหันมาพัฒนาพื้นที่ร่วมกันดีกว่า แต่อยากจะบอกว่า
โอกาสที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว
และได้ถูกทำลายโดยกลุ่มคลั่งชาติและรบ.อภิสิทธิ์ไปแล้วเช่นกัน
เรื่องนี้ได้ถูกบรรจุไว้ใน
“แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดก
โลก” ลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ และนายสก อัน ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551
ซึ่งมีสาระสำคัญคือa. ด้วยเจตนารมณ์แห่งไมตรีจิตและการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลก โดยในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัว ปราสาท...
b. ในระหว่างที่ยังไม่มีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ในพื้นที่รอบตัวตัวปราสาทพระวิหารทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือ แผนบริหารจัดการในพื้นที่ดักล่าวจะได้รับการจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างเจ้า หน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและของไทย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์ระดับสากล...ทั้งนี้ ให้บรรจุแผนการบริหารจัดการดังกล่าวไว้ในแผนบริหารจัดการฉบับสุดท้ายสำหรับ ตัวปราสาทและพื้นที่รอบ ๆ ตัวปราสาทซึ่งจะต้องเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2553 สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในสมัยที่ 34 ในปี 2553
c. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของราช อาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะ กรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ของทั้งสองประเทศ
ขอขยายความข้อ a เขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท. ก็คือ พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.นั่นเอง เท่ากับว่าในการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก กัมพูชายอมตัดพื้นที่นี้ออกไปตามที่ไทยต้องการ และยอมรับ “เป็นครั้งแรก” ว่ามันคือพื้นที่ที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ จนท.ไทยในขณะนั้น ประสบความสำเร็จสามารถกดดันให้กัมพูชายอมรับได้เป็นครั้งแรก ... แต่กลับถูกโจมตีว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ
แต่ที่น่าเศร้าคือ พวกคลั่งชาติกลับยืนกระต่ายขาเดียวว่า กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนด้วย ไม่ว่ารบ.สมัครจะอธิบายอย่างไร ก็ไม่ฟัง และทั้งๆ ที่กัมพูชาเผยแพร่เอกสารทางการที่ระบุว่าได้ตัดพื้นที่ออกไปแล้วก็ตาม พวกนี้ก็ไม่ต้องการยอมรับข้อเท็จจริงนี้
จึงขอตัดหน้าที่เกี่ยวข้องมาให้ดูดังนี้
กรุณาดูรูปแผนผังหรือแผนที่ที่แนบมาข้างล่างนี้ มีข้อความระบุชัดว่าส่วนที่ขอขึ้นทะเบียนคือ โซน 1 (ตัวปราสาท) และโซน 2 (เขตกันชนสีเขียว) เท่านั้น (ส่วนสีเหลือง อันเป็นพื้นที่ทับซ้อน ไม่ถูกเอ่ยถึง)
และมีเนื้อหาที่ชี้ว่า ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ของทรัพย์สินที่เสนอขอขึ้นทะเบียนมีขนาดลดลง และมีการแก้ไขเส้นรอบพื้นที่ที่ขอขึ้นทะเบียนดังนี้คือ พื้นที่ของตัวทรัพย์สินหรือปราสาทพระวิหารตาม “zone 1” มีเนื้อที่เหลือเพียง 11 เฮกแตร์เท่านั้น โดยลดลงจากขนาด 154.70 เฮกแตร์อันเป็นพื้นที่ยื่นไปในการประชุมครั้งที่ 31 ปี พ.ศ. 2550 ส่วนพื้นที่กันชน “zone 2” มีพื้นที่ลดลงเหลือ 644.113 เฮกแตร์ จากขนาดเดิม 2,642,50 เฮกแตร์
หมายเหตุ
1. กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนครั้งแรกปี 2007/2550 แต่รัฐบาลสุรยุทธ์คัดค้าน เพราะแผนที่ที่แนบไป ได้รวมพื้นที่ทับซ้อนไว้ในเขตกันชนด้วย (ย้ำว่า รัฐบาลสุรยุทธ์ค้านเฉพาะตัวแผนที่ ไม่ได้ค้านการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก) เมื่อไทยค้านแผนที่ คณะกรรมการมรดกโลก ก็ชะลอการขึ้นทะเบียน บอกให้สองประเทศไปเจรจากันก่อน ในทีสุด รัฐบาลสมัครก็เจรจาจนกัมพูชาก็ยอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ไทยจึงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนในปี 2551
2. ข้อความและรูปที่ยกมาประกอบ นำมาจาก The Office of the Council of Ministers, Cambodia, The Temple of Preah Vihear Inscribed on the World Heritage List (UNESCO) since 2008, Phnom Penh, 2010. ซึ่งปกติจะปรากฏในเว็บไซต์ของ The Office of the Council of Ministers ของกัมพูชา แต่วันนี้ ผู้เขียนหาไม่เจอ สงสัยว่ากัมพูชาจะเอาออกไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าเพราะเห็นว่าเขตกันชนที่ขอขึ้นทะเบียนนี้ อาจทำให้ตนเสียเปรียบในการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ เพราะตอนนี้ เขากำลังสู้เอาพื้นทีนี้มาเป็นของตนฝ่ายเดียว ไม่ต้องการแบ่งกับไทยอีกต่อไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น